xs
xsm
sm
md
lg

มติ สปท.ผ่านรายงานปฏิรูปการคุ้มครองเหยื่อ “อำนวย” แนะให้ผู้หญิงสอบคดีทางเพศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ประชุมพิจารณารายงาน กมธ.ปฏิรูปกฎหมาย เรื่องการคุ้มครองเหยื่อ “กฤษณะ” เผยพบเยียวยาแต่เงิน ขาดการดูแลด้านจิตใจ ต้องหาวิธีจัดทำระบบร่วมรัฐกับเอกชน ให้ผู้เสียหายได้รับหลักประกันจะไม่ถูกกระทำผิดซ้ำ หนุนปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ด้าน “อำนวย” แนะให้สตรีสอบสวนคดีล่วงละเมิดทางเพศ “วันชัย” ขอออกกฎให้ชัด ก่อนที่ประชุมเห็นชอบ 154 เสียง งดออกเสียง 1 ให้ส่ง ครม.ต่อ

วันนี้ (27 ธ.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 09.30 น. การประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มี ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท.เป็นประธานการประชุมพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เรื่องการปฏิรูประบบการคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำความผิดทางอาญา (เหยื่อหรือผู้เสียหาย)

โดย พล.ท.กฤษณะ บวรรัตนารักษ์ ประธานอนุกรรมาธิการปฏิรูปการเพิ่มประสิทธิภาพในการอำนวยความยุติธรรมเพื่อประชาชน รายงานว่า การปฏิรูประบบการคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำความผิดทางอาญา (เหยื่อหรือผู้เสียหาย) เป็นหนึ่งในแผนการปฏิรูปประเทศที่คณะอนุกรรมาธิการฯ ได้พิจารณาศึกษาพบว่าการเยียวยาความเสียหายตามกฎหมายของประเทศไทยค่อนข้างแคบ โดยจะเยียวยาด้านการเงินเป็นหลักแต่ขาดการดูแลด้านจิตใจ การดูแลระหว่างดำเนินคดีจึงเป็นช่องว่างและจำเป็นต้องหาวิธีในการจัดทำระบบการคุ้มครองเหยื่อหรือผู้เสียหายโดยให้เป็นระบบที่มีความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน

พล.ท.กฤษณะกล่าวต่อว่า นอกจากนี้เหยื่อต้องได้รับหลักประกันว่าจะไม่ถูกกระทำความผิดซ้ำ ซึ่งในต่างประเทศ ให้สิทธิในการแจ้งความคืบหน้าในการดำเนินคดี หน่วยงานต่างๆ จะรายงานความคืบหน้าไปยังตำรวจ จากนั้นตำรวจจะแจ้งให้ผู้เสียหายทราบ อย่างไรก็ตาม ในการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายหากไม่มีการบัญญัติกฎหมายรองรับไว้ก็ไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้ ดังนั้นกมธ.ขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม จึงเห็นว่าควรมีการปรับปรุงระบบการคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำความผิดทางอาญา โดยปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องเช่น พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย ค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นต้น

จากนั้นสมาชิก สปท.อภิปรายสนับสนุนรายงานดังกล่าว โดย พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน สปท.กล่าวว่า ในคดีล่วงละเมิดทางเพศ เมื่อผู้เสียหายไปแจ้งความต่อตำรวจ การสอบสวนจะสอบถามลงในรายละเอียดมาก เปรียบเหมือนผู้เสียหายถูกข่มขืนซ้ำ ยังไม่นับรวมกระบวนการชั้นอัยการ หากยังเห็นในข้อมูลไม่ชัด จะส่งข้อมูลมาให้ตำรวจสอบสวนเพิ่มอีก เมื่อไปถึงชั้นศาล ไปถึงสื่อมวลชน มีการฉายซ้ำเหมือนทำให้ผู้เสียหายถูกข่มขืนซ้ำอีก จึงขอเสนอให้กระบวนการต่างๆ ตั้งแต่ตำรวจ พนักงานอัยการ ศาล ควรเป็นผู้หญิงทั้งหมด เพื่อทำให้กระบวนการแนวทางการดำเนินการดูแล้วเบาลง

ส่วนนายวันชัย สอนศิริ สปท.กล่าวว่า คนเสียหายที่เป็นคนรวยมีเงิน คนมีอิทธิพลพยายามวิ่งเต้นทุกรูปแบบเพื่อให้พ้นผิด แต่สำหรับคนที่อยู่ในสถานะยากจน ด้อยโอกาส กลับต้องดิ้นรนอย่างสุดฤทธิ์สุดเดช หาทนายมาสู้คดี ชาวบ้านบางคนถึงกับขายนามาสู้คดีเพื่อให้ลูกตัวเองหลุดจากคดี ตนเห็นด้วยข้อเสนอของ กมธ.แต่ขอให้ออกเป็นกฎระเบียบที่ชัดเจน เพื่อจะได้นำไปปฏิบัติได้ และเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน

จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติเห็นด้วย กับรายงานดังกล่าวด้วยคะแนน 154 งดออกเสียง 1 เพื่อส่งรายงานไปยัง ครม.พิจารณาต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น