xs
xsm
sm
md
lg

กรมคุ้มครองสิทธิฯ เผย พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ ฉบับ 2 ประกาศใช้แล้วเพิ่มสิทธิประโยชน์จำเลย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ เผย พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เพื่อเพิ่มช่องทางและสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา

วันนี้ (21 ต.ค.) น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้เสนอแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 ซึ่งได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานพอสมควร โดย พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 133 ตอนที่ 74 ก เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2559 และจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้น 60 วัน ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ ในวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2559 โดยมีสาระสำคัญที่แก้ไขเพิ่มเติม ดังนี้

น.ส.ปิติกาญจน์กล่าวอีกว่า การแจ้งสิทธิ สืบเนื่องจากการใช้ พ.ร.บ.ฉบับเดิมนั้นประชาชนผู้ตกเป็นผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญายังไม่ทราบถึงสิทธิในการเรียกร้องและการรับค่าตอบแทน ค่าทดแทนหรือค่าใช้จ่ายเท่าที่ควร จึงได้เพิ่มมาตรา 6/1 ขึ้นมาเพื่อแจ้งสิทธิดังกล่าว โดยให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้ผู้เสียหายหรือทายาททราบถึงสิทธิการได้รับค่าตอบแทน และให้เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ปล่อยตัวจำเลยแจ้งให้จำเลยทราบถึงสิทธิ การได้รับค่าทดแทนและค่าใช้จ่าย

น.ส.ปิติกาญจน์กล่าวต่อว่า การเพิ่มประสิทธิภาพ ได้แก้ไขมาตรา 7 เพื่อปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการให้มีความสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายเพื่อให้สามารถวินิจฉัยคำร้องได้อย่างถูกต้องและมีความรอบครอบมากยิ่งขึ้น ส่วนการกระจายอำนาจให้คณะอนุกรรมการนั้น เดิมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญาต้องผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการฯ ซึ่งอาจทำให้เกิดความล่าช้าในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือ ดังนั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์และความรวดเร็วในการพิจารณา จึงได้เพิ่มเติมมาตรา 14/1 ขึ้น โดยให้อำนาจคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาอนุมัติค่าตอบแทน ค่าทดแทน หรือค่าใช้จ่ายได้ เช่นเดียวกับคณะกรรมการ นอกจากนี้ยังเพิ่มช่องทางการยื่นคำขอโดยแก้ไข มาตรา 22 คือให้ผู้เสียหาย จำเลย หรือทายาทยื่นคำขอต่อคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการ ตามสถานที่ที่คณะกรรมการกำหนด ภายในระยะเวลา 1 ปี

“การอุทธรณ์คำวินิจฉัย แก้ไขมาตรา 25 ในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอไม่เห็นด้วยต่อคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการ มีสิทธิในการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย และในกรณีที่ไม่เห็นด้วยต่อคำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ ให้อุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย โดยคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด” น.ส.ปิติกาญจน์กล่าว

น.ส.ปิติกาญจน์กล่าวปิดท้ายว่า ปรับปรุงรายการท้าย พ.ร.บ.นั้น เดิมความผิดที่สามารถขอรับค่าตอบแทน มีเพียง 2 ลักษณะ คือ ความผิดเกี่ยวกับเพศ และความความผิดเกี่ยวกับชีวิตร่างกาย ดังนั้น เพื่อให้การจ่ายค่าตอบแทนผู้เสียหายนั้นครอบคลุมและเหมาะสมยิ่งขึ้นจึงได้เพิ่มฐานความผิดอีก 3 ลักษณะ ได้แก่ ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียง และความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายถึงแก่ชีวิต หรือร่างกาย หรือจิตใจ
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น