xs
xsm
sm
md
lg

ชาวกาฬสินธุ์ฮือร้องขอความเป็นธรรมค่าเวนคืนสร้างถนนสายเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กาฬสินธุ์- ชาวบ้าน 4 ตำบลในอำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ร้องขอความเป็นธรรมค่าเวนคืนที่ดินสร้างถนนสายแม่สอด (เขตแดน)-มุกดาหาร ตอนกาฬสินธุ์-น้ำไคร้ หลังได้รับหนังสือจากแขวงทางหลวงกาฬสินธุ์ไปรับเงินทดแทนเฉลี่ยไร่ละ 2-3 หมื่นบาท ต่ำกว่าราคาซื้อขาย ระบุไม่เคยทำประชาคมกับชาวบ้านผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พร้อมเรียกร้องให้รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมและนายกรัฐมนตรี ทบทวนการจ่ายค่าเวนคืนใหม่ ลั่นพร้อมเดินหน้าชนเครื่องจักรหากยังไม่ได้รับความเป็นธรรม

เมื่อเวลา 11.00 น. วันนี้ (25 ธ.ค.) ที่ศาลาประชาคมบ้านกุดหว้า ต.กุดหว้า อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ชาวบ้านจาก 4 ตำบล ประกอบด้วย ต.กุดหว้า ต.จุมจัง ต.เหล่าไฮงาม และ ต.บัวขาว อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ กว่า 200 คน รวมตัวกันและถือป้าย เพื่อขอความเป็นธรรมในการจ่ายค่าเวนคืนที่ดินการสร้างถนนสายแม่สอด (เขตแดน)- มุกดาหาร ตอนกาฬสินธุ์-น้ำไคร้ หรือถนนสายเศรษฐกิจ อีสต์-เวสต์คอร์ริดอร์

พร้อมเรียกร้องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตลอดจน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ทบทวนการจ่ายค่าเวนคืนที่ดินให้แก่ชาวบ้านใหม่ โดยชาวบ้านระบุว่าการดำเนินการสร้างถนนสายดังกล่าวทางแขวงทางหลวงกาฬสินธุ์ไม่เคยทำประชาคมหรือประชาพิจารณ์ร่วมกันชาวบ้านที่มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่กลับมีหนังสือแจ้งให้ไปทำสัญญารับเงินค่าเวนคืน ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำและไม่สอดคล้องกับราคาขายจริงในพื้นที่

นางชุติภา บุตรดีวงษ์ ชาวบ้านกุดหว้า ต.กุดหว้า อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นตัวแทนชาวบ้าน กล่าวว่า การรวมตัวของชาวบ้านใน 4 ตำบล ประกอบด้วย ต.กุดหว้า ต.จุมจัง ต.เหล่าไฮงาม และ ต.บัวขาวกว่า 200 คนในครั้งนี้ ด้วยทุกคนเป็นผู้ที่ถูกเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 12 สายแม่สอด (เขตแดน)-มุกดาหาร ตอนกาฬสินธุ์-น้ำไคร้ หรือถนนสายเศรษฐกิจ อีสต์-เวสต์คอร์ริดอร์ ต้องการเรียกร้องและขอความเป็นธรรมในการจ่ายค่าเวนคืนที่ดิน

เนื่องจากหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบคือกระทรวงคมนาคม และดำเนินการในพื้นที่คือแขวงทางหลวงกาฬสินธุ์ โดยเมื่อวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมาแขวงทางหลวงกาฬสินธุ์ได้มีหนังสือส่งถึงชาวบ้านหลายรายที่ถูกเวนคืนที่ดิน ให้ไปทำสัญญาและรับเงินทดแทน ซึ่งราคาที่จะจ่ายทดแทนนั้นเฉลี่ยไร่ละ 2-3 หมื่นบาท ชาวบ้านเห็นว่าเป็นราคาที่ต่ำและไม่สอดคล้องกับราคาที่ซื้อขายจริงในพื้นที่

หลักสำคัญในการเวนคืนนั้นทางราชการต้องจ่ายค่าทดแทนไม่ต่ำกว่าราคาตลาด แต่การเวนคืนครั้งนี้เหมือนเป็นการบังคับเอาที่ดินไปจากประชาชนผู้ครอบครองโดยจ่ายค่าทดแทนต่ำ ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสร้างความไม่เท่าเทียมกันในสังคม

นางชุติภากล่าวอีกว่า ประชาชนชาว ต.กุดหว้าและตำบลใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินไม่ได้คัดค้านการก่อสร้างถนน และไม่ได้กีดขวางความเจริญของชุมชนและประเทศชาติ เพียงแต่ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเรื่องค่าทดแทนที่เป็นธรรม เหมาะสม และต้องเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอย่างโปร่งใส ชัดเจน เพราะประชาชนควรที่จะมีโอกาสรับทราบถึงความจำเป็นและสิทธิ เนื่องจากเป็นธรรมดาที่ผู้ถูกเวนคืนที่ดินย่อมมีความหวงแหนที่ดินที่บรรพบุรุษตกทอดสืบต่อกันมา

อีกทั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ควรเอาราคาประเมินทุนทรัพย์มาใช้ เพราะส่วนใหญ่พื้นที่ที่ถูกเวนคืนของชาว ต.กุดหว้าและตำบลใกล้เคียงเป็นพื้นที่ไร่นา ทำการเกษตรเพื่อใช้ดำรงชีวิตและเลี้ยงครอบครัว บางรายมีที่นาเพียง 2-3 ไร่ ซึ่งถูกถนนตัดผ่านจึงถูกเวนคืนทั้งหมด แต่กลับได้รับค่าทดแทนที่น้อยนิด ไร่ละ 2-3 หมื่นบาท

จึงไม่สามารถนำไปซื้อที่ดินแปลงใหม่ทำมาหากินได้ เพราะราคาซื้อขายในพื้นที่จริงๆ นั้นไร่ละ 4-5 แสนบาท จึงทำให้ชาวบ้านได้รับความทุกข์และเดือดร้อน ซึ่งหากยังไม่ได้รับความเป็นธรรม ชาวบ้านทั้งหมดก็พร้อมที่ต่อสู้เดินหน้าชนกับเครื่องจักรที่ลงมาสร้างถนนในพื้นที่นาของตนเอง ดังนั้นจึงเรียกร้องขอความเป็นธรรมไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ

โดยเฉพาะอธิบดีกรมทางหลวง รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม และขอความเป็นธรรมจาก พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ทบทวนและประเมินการจ่ายค่าเวนคืนที่ดินใหม่

ด้านนางเลื่อน ศรีกำพล อายุ 55 ปี ซึ่งเป็นหนึ่งในชาวบ้านที่ถูกเวนคืนที่ดิน กล่าวว่า ตนถูกเวนคืนที่ดินจำนวน 2 ไร่ ซึ่งจะได้เงินจำนวน 57,002 บาท ทั้งนี้เมื่อวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมาได้รับหนังสือจากแขวงทางหลวงกาฬสินธุ์ โดยผู้อำนวยการแขวงทางหลวงกาฬสินธุ์ให้ไปทำข้อตกลงราคารับค่าแทนในวันที่ 26 ตุลาคม 2559 ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้หน่วยงานที่รับผิดชอบไม่เคยทำประชาคมหรือประชาพิจารณ์กับชาวบ้านที่มีส่วนได้ส่วนเสียเลย แต่อยู่ดีๆ กลับมีหนังสือมาแจ้งให้ไปรับเงิน

ตนจึงไม่ยอมรับ เพราะเห็นว่าการจ่ายค่าเวนคืนไม่เหมาะสมกับราคากับที่ดินของตน อีกทั้งหากนำเงินที่ได้รับค่าเวนคืนไปซื้อที่นาใหม่เพื่อทำไร่ทำนาเลี้ยงครอบครัวก็ไม่พอ เพราะในพื้นที่มีการซื้อขายที่นากันเฉลี่ยไร่ละ 4-5 แสนบาท

ดังนั้นจึงอยากขอความเป็นธรรมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบด้วย เพราะตอนที่ลงประเมินราคาของที่ดินนั้นไม่ทราบว่าเอาหลักเกณฑ์อะไรและเอาช่วงราคาของปีไหนมาประเมิน





กำลังโหลดความคิดเห็น