เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ชู ผู้ตรวจฯ ขยายเครือข่ายไปสู่องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในประชาคมอาเซียน จัดการเรื่องร้องเรียนระหว่างประเทศ เยียวยาความเดือดร้อนจากการใช้อำนาจรัฐ ทั้งคนไทยในต่างแดน และต่างชาติในไทย แต่ปัญหาอาจซับซ้อนมาก จึงจัดสัมมนาเชิญหน่วยงานรัฐฟัง 29 - 30 ธ.ค. นี้
วันนี้ (25 ธ.ค.) นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เผยว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ขยายเครือข่ายความร่วมมือการสร้างความเป็นธรรมไปสู่องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในประชาคมอาเซียน ผ่านกลไกการจัดการเรื่องร้องเรียนระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนของประชาชนอันเกิดจากการใช้อำนาจรัฐ ทั้งประชาชนไทยในต่างประเทศ และชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทย โดยไม่มีข้อจำกัดด้านพรมแดนและเชื้อชาติ ดังนั้น เพื่อสร้างความต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหา และเพิ่มขีดความสามารถในการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนที่อาจมีความซับซ้อนมากขึ้นจากการดำเนินนโยบายตามกรอบประชาคมอาเซียน ป้องปรามปัญหาที่อาจเกิดขึ้นทั้งการค้ามนุษย์ แรงงานต่างด้าว สิทธิประโยชน์ และสวัสดิการของรัฐ การตรวจคนเข้าเมือง รวมถึงการปลอมแปลงเอกสารแสดงตนของชาวต่างชาติ รวมถึงปัญหาอื่นที่อาจเกิดขึ้น จึงจะมีได้จัดสัมมนาภายใต้หัวข้อ “การพัฒนากลไกเพื่อคุ้มครองประชาชนในประชาคมอาเซียน” ขึ้นในวันที่ 29 - 30 ธันวาคม 2559 ที่โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน โฮเทล แอนด์ ทาวเวอร์ส กรุงเทพฯ โดยมีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกว่า 30 หน่วยงานเข้าร่วม
เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า รวมทั้งมีการบรรยายเรื่อง “ประชาคมอาเซียน : ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย” โดย ดร.เกษมสันต์ วีระกุล นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน การเสวนาหัวข้อ “บทบาทหน่วยงานภาครัฐเพื่อคุ้มครองประชาชนในประชาคมอาเซียน” โดย นายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายวุฒิโรตม์ รัตนะสิงห์ นักการทูตชำนาญการ กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล นายสันติ นันตสุวรรณ ผู้อำนวยการกองนิติการ กรมการจัดหางาน และ นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา และในวันที่ 30 ธันวาคม 2559 มีการบรรยาย หัวข้อ “การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามเจตนารมณ์ “ร่าง” รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ....” โดย ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ยาวะประภาษ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“ปัญหาต่างๆ อาจเกิดขึ้นและมีความสลับซับซ้อนต่างกันไป ดังนั้น การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ซึ่งกันและกันอย่างสม่ำเสมอ จะทันกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลานำไปสู่การเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการเรื่องร้องเรียนขององค์กรตรวจสอบของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับในประชาคมอาเซียนยิ่งขึ้น อีกทั้งยังได้บูรณาการการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เพื่อให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองประชาชนในประชาคมอาเซียนอีกด้วย” เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าว