xs
xsm
sm
md
lg

“องค์กรอิสระ”ปี 58 ว่างงาน-ทรง-ทรุด-เสื่อม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

**ปี 2558 ที่กำลังผ่านพ้นไป หลายคนออกมาประเมินการทำงานของภาคส่วนต่างๆ เช่น การทำงานของรัฐบาล-การแก้ปัญหาประเทศของคสช.ในรอบปี –การประเมินผลการทำงานของแม่น้ำ 5 สายคสช. เป็นต้น เช่นเดียวกับที่เป็นประจำทุกปี ก็จะมีการประเมินภาพรวมโครงสร้างประเทศในส่วนต่างๆ ในรอบปีที่ผ่านมาและการคาดการณ์ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปี 2559 เช่น สภาวะเศรษฐกิจ–การเมืองไทยในปีหน้า เป็นต้น
ในอีกหนึ่งโครงสร้างการเมืองไทยที่สำคัญ ก็คือ“องค์กรอิสระ”ที่นับแต่ปี 2540 เป็นต้นมา องค์กรอิสระมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นองค์การอิสระนี้แหละที่ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนสำคัญทางการเมืองมาแล้วหลายครั้ง
รอบปี 58 ที่ผ่านมา ถือเป็นปีแห่งความเงียบเหงา ในการใช้อำนาจขององค์กรอิสระอย่างแท้จริง เนื่องจากเป็นช่วงที่คสช.บริหารประเทศ ทุกอย่างอยู่ในสภาพนิ่งหมด เช่น เมื่อไม่มีการจัดการเลือกตั้ง ก็ทำให้กกต.ไม่มีงานให้ทำมาปีกว่าแล้ว
ตลอดจน เมื่อไม่มีการออกกฎหมายอะไรมาก ในยุคคสช. และรธน.ฉบับชั่วคราว ปี 57 ที่ใช้ตอนนี้ก็มีไม่กี่มาตรา ทำให้ไม่มีประเด็น อะไรจะไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ก็ทำให้ศาลรธน.ที่แม้จะเป็นองค์กรใช้อำนาจศาล แต่ก็เป็นองค์กรซึ่งตัวบุคคลผู้ใช้อำนาจ มีที่มาแบบองค์กรอิสระ จึงอยู่ในสภาพ ไม่มีงานอะไรให้ทำยิ่งกว่ากกต. มาตั้งแต่หลัง 22 พ.ค. 57 แล้ว
กว่าจะมีงานทำอีกที ก็โน่นเลยเกือบปลายปี 59 ในกรณีที่ร่างรธน. ผ่านประชามติ แล้วต้องไปตรา ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญต่างๆ ซึ่งพอผ่าน สภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้วจะต้องส่งไปให้ศาลรธน.วินิจฉัยอีกรอบว่า ขัดหรือแย้งกับรธน.ฉบับที่ผ่านประชามติหรือไม่ ซึ่งในกรณีจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ คณะกรรมการร่างรธน. เขียนบังคับไว้เช่นนี้ แต่หากร่างรธน.ไม่เขียนกำกับไว้ หรือถึงเขียนไว้แต่ร่างรธน.ไม่ผ่านประชามติ เท่ากับ ศาลรธน.ก็ขยับเวลาว่างงานออกไปอีกร่วม 6-7 เดือน คือกว่าจะมีงานอะไรให้ทำ ก็ไปโน่นเลย ปี 2560 !
ด้วยสภาพที่เป็นอย่างที่อธิบายมา จึงทำให้ในรอบปี 58 ที่กำลังผ่านพ้นไป องค์กรอิสระ หลายต่อหลายแห่ง จึงอยู่ในสภาพไม่มีงานให้ทำ หรือแม้ต่อให้มีงานให้ทำบ้าง แต่ก็ไม่ใช่งานหลัก ขององค์กร
อย่างไรก็ดีไม่ใช่ว่า องค์กรอิสระ ทุกแห่งจะไม่มีงานให้ทำ ที่มีงานทำอยู่ก็คือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีงานทำล้นมือ จนเรื่องค้างอยู่ในสำนักงานจำนวนมากนับหมื่นกว่าเรื่อง ยังสะสางกันไม่เสร็จ
**สภาพการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ ความผิดขององค์กรอิสระ เพราะเป็นไปตามสภาพเงื่อนไขของบ้านเมือง ไม่ได้กล่าวโทษองค์กรอิสระว่านั่งกินเงินเดือน-เงินประจำตำแหน่ง กันเดือนแสนกว่าบาท ไม่นับรวมรายจ่ายอื่นๆ เช่น ค่าจ้างที่ปรึกษา ทีมงานต่างๆ แต่กลับไม่มีงานให้ทำ สังคมก็เข้าใจข้อเท็จจริงตรงนี้ อีกทั้งเชื่อว่าคนที่อยู่ในองค์กรอิสระแต่ละแห่ง ต่างก็ไม่อยากอยู่เฉยๆ ทุกคนก็อยากทำงาน แต่เมื่อสภาพบังคับเป็นแบบนี้ ก็ต้องเข้าใจกันและกัน
กระนั้น แม้องค์กรอิสระจะไม่ค่อยมีงานอะไรให้ทำ แต่กลับปรากฏว่า บางองค์กร ก็มีปัญหาภายในตัวเองมากพอสมควร ที่พอมีข่าวออกมา ก็ทำให้ส่งผลต่อภาพลักษณ์องค์กรพอสมควร ขณะที่กรรมการองค์กรอิสระ บางแห่ง ยังไม่ทันเข้าทำงาน ก็โดนตั้งคำถามถึงที่มาก่อนจะเข้าอยู่ในองค์กรอิสระแต่ละแห่งว่า มาได้ยังไง จนลามไปถึง การตั้งแง่ ที่จะให้ความเชื่อถือในองค์กรอิสระนั้นๆไปแล้ว
ยกตัวอย่างก็เช่น“ป.ป.ช.”ซึ่งการทำงานของป.ป.ช.ในช่วงปีที่ผ่านมาแม้จะมีหลายเรื่องที่ประชาชนชื่นชม แต่ก็มีเสียงวิจารณ์ปัญหาเรื่องคดีค้างในสำนักงานจำนวนมากนับหมื่นกว่าคดี ว่าเป็นสิ่งที่ป.ป.ช.ไม่ควรให้มีคดีค้างมากขนาดนี้
ยิ่งพอมาเจอกรณี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ จะมาเป็นประธานป.ป.ช. ตามโผที่มีการเก็งกันมาล่วงหน้าก่อนหน้านี้ร่วม 2-3 เดือน มันก็ทำให้มีการตั้งแง่ถึงความเหมาะสมของ พล.ต.อ.วัชรพล พอสมควร หลังสังคมรู้ข้อมูลว่า พล.ต.อ.วัชรพล คือคนใกล้ชิดของบิ๊กคสช. จุดนี้ก็ทำให้ ป.ป.ช. องค์กรอิสระที่มีงานให้ทำมากสุดในรอบปี 58 พอมาเจอกรณี พล.ต.อ.วัชรพลเข้าไป เลยทำให้ คนชักมองป.ป.ช.แบบมีข้อกังขา แต่ของแบบนี้ ลองให้ พล.ต.อ.วัชรพล ทำงานสักระยะไปก่อน แล้วค่อยมาว่ากันก็ได้ ให้เวลาเพื่อพิสูจน์ว่าจะหางโผล่เหมือนที่กังวลกันหรือไม่
ขณะที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง พบว่านอกจากไม่มีงานอะไรให้ทำมากแล้ว ก็ปรากฏว่าในช่วงก่อนท้ายปี ดันมาเจอกรณี สาวไส้กันเอง ระหว่าง นายภุชงค์ นุตราวงศ์ อดีตเลขาธิการ กกต. กับ 5 เสือ กกต. หลังกกต.เลิกจ้างภุชงค์ เมื่อช่วงต้นเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ภุชงค์ เลยออกมาอ้างว่า ถูกกกต. ล้วงลูกการทำงานภายในสำนักงาน รวมถึงพูดถึงปัญหาในสำนักงานกกต. เช่น มีการขั้นเงินเดือนที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญและเลขานุการประจำตัว กกต.ทำให้แต่ละเดือน กกต.ต้องจ่ายเงินให้กับพวกหน้าห้องกกต. ที่จริงๆ ก็ไม่ได้ทำงานเต็มเวลาอะไรถึงเดือนละ 2 ล้านบาท เป็นเงิน 24 ล้านบาทต่อปี และปัญหาอีกมากมายเลยทำให้สังคมได้เห็นความจริงกันว่า มีปัญหามากมายถูกซุกไว้ในตึกสำนักงานกกต. ทั้งที่กกต.ไม่มีงานอะไรให้ทำตอนนี้
นอกจากนี้ ก็ยังมีกรณี "คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)" ซึ่งที่ผ่านมา กสม.ชุดที่แล้วที่มี ดร.อมรา พงศาพิชญ์ เป็นประธาน ก็ไม่ค่อยได้รับการยอมรับจากประชาชนเท่าไหร่ เพราะไม่มีผลงานโดดเด่น
ส่วนกสม.ชุดปัจจุบัน เข้ามาได้ไม่กี่สัปดาห์ ตอนนี้ก็ต้องไปคอยแก้ปัญหา ที่คณะอนุกรรมการในการประเมินสถานะของInternational Coordinating Committee on National Human Rights Institutions หรือ ICC ที่ลดอันดับกรรมการสิทธิฯของไทยจาก A เป็น B
ซึ่งจริงๆ เรื่องนี้ จะไปโทษ กสม.ก็ไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการได้มาซึ่ง กรรมการสรรหากสม. ที่ตามรธน.ปี 50 ไปเปลี่ยนแปลงที่มากรรมการสรรหา ที่ให้พวกองค์กรอิสระและตัวแทนศาลต่างๆ มาเป็นกรรมการสรรหากสม. ซึ่ง ICC มองว่าทำให้กรรมการสรรหาไม่หลากหลาย ไม่มีตัวแทนจากกลุ่มที่อยู่ในแวดวงสิทธิมนุษยชนเข้าไปมีส่วนร่วม โดยที่ผ่านมา กสม.ชุดที่แล้ว ก็พยายามแก้ไขปัญหาอยู่ แต่ทางรัฐสภาไม่ได้มีการแก้ไขกฎหมาย เลยทำให้ปัญหาค้างมาหลายปี จนในที่สุด ICC เลยลดอันดับดังกล่าว
ส่วนองค์กรอิสระอื่น เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่คนแทบจำไม่ได้แล้วว่ายังมีองค์กรนี้อยู่
คนจำข่าวเรื่อง ผู้ตรวจการแผ่นดิน ล่าสุดได้ ก็ตั้งแต่ช่วงมีนาคม-เมษายน ที่ ศรีราชา วงศารยางค์กูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ออกมาเคลื่อนไหวไม่เห็นด้วยกับร่างรธน. ฉบับ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ซึ่งที่ออกมาก็เพราะองค์กรได้รับผลกระทบคือกรรมการร่างรธน.ตอนนั้น มีแนวคิดยุบรวม ผู้ตรวจการแผ่นดินกับกสม. ซึ่งหากไม่มีเรื่องนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินก็อาจอยู่เฉยๆไม่ทำอะไร !
**ภาพรวมการทำงานขององค์กรอิสระในรอบปี 58 จึงถือว่า ไม่มีบทบาทโดดเด่น หรือมีผลงานอะไรให้คนพูดถึงมากนัก ที่มันก็น่าคิดไม่น้อยว่า ในช่วงการร่างรธน.ฉบับใหม่ในเวลานี้ หากกรรมการร่างรธน. จะปฏิรูปองค์กรอิสระกันเสียที มันก็น่าจะดีไม่น้อย องค์กรไหน หากดูแล้ว ไม่มีความจำเป็น จะให้ควบรวมหรือยุบทิ้งไปเลย หรือลดอำนาจ ลงไปบ้าง ก็อาจจะเป็นผลดีในระยะยาว
กำลังโหลดความคิดเห็น