xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ตรวจฯ เผยชื่อบุคคลเสนอเป็น สปช. - กสม.เสียงแตกรอโหวต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อมรา พงศาพิชญ์ (ภาพจากแฟ้ม)
ผู้ตรวจการแผ่นดิน เผยชื่อบุคคลที่จะเสนอเข้ารับการสรรหาเป็น สนช. ถกอีกครั้ง 13 ส.ค. “อมรา” เผย กสม.ยังไม่ได้หารือ แต่บรรจุวาระประชุมแล้ว คาดไม่เสนอรายชื่อเพราะมีข่าวว่าจะปฏิรูปองค์กรอิสระ แหล่งข่าวเผยความเห็นหลากหลาย รอเสียงข้างมากชี้ขาด

วันนี้ (11 ส.ค.) นายเฉลิมศักดิ์ จันทรทิม เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงกรณีการเปิดรับรายชื่อจากองค์กรนิติบุคคลที่จะเสนอชื่อบุคคลเข้าสู่กระบวนการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในวันที่ 14 ส.ค.นี้ว่า เรื่องนี้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีการหารือแล้ว โดยในชั้นของสำนักงานเห็นว่าผู้ตรวจฯ ควรที่จะเสนอชื่อบุคคลเเพื่อเข้าสู่กระบวนการสรรหาเป็น สปช. เนื่องจากผู้ตรวจฯ ถือเป็นองค์กรนิติบุคคลที่มีส่วนในการปฏิรูปกฎหมาย เพราะเป็นองค์กรที่รับผิดชอบในด้านจริยธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทั้งนี้สำนักงานฯ มีแนวทางว่าน่าจะเสนอชื่อผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน เพราะเห็นว่าบุคคลเหล่านี้มีความรู้และประสบการณ์การทำงานที่เชี่ยวชาญ น่าจะเป็นบุคคลที่จะสามารถสะท้อนปัญหาต่างๆ ได้ เช่น นายนายพิเชต สุนทรพิพิธ อดีตผู้ตรวจการแผ่นดินคนแรกของประเทศไทย นายพูลทรัพย์ ปิยะอนันต์ อดีตผู้ตรวจการแผ่นดิน และนายปราโมทย์ โชติมงคล อดีตประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าที่ประชุมผู้ตรวจฯ น่าจะมีการพิจารณาเรื่องนี้ในวันที่ 13 ส.ค.นี้ เนื่องจากหากที่ประชุมผู้ตรวจฯ เห็นชอบในแนวทางของสำนักงานจะได้มีเวลาในการทาบทามอดีตผู้ตรวจฯ เพื่อเข้ารับการเสนอชื่อต่อไป

ด้านนางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวถึงการเสนอบุคคลเข้าสู่กระบวนการสรรหาเป็น สปช.ว่า ทางคณะกรรมการสิทธิฯ ยังไม่ได้มีการหารือเรื่องดังกล่าว แต่ได้มีการบรรจุเข้าเป็นวาระการประชุมแล้ว โดยส่วนตัวมองว่าอาจจะไม่มีการเสนอรายชื่อ เนื่องจากมีกระแสข่าวว่า สปช.จะมีการปฏิรูปองค์กรอิสระ ดังนั้นก็ไม่จำเป็นที่องค์กรอิสระต้องเข้าร่วม แต่ทั้งนี้ คงต้องขึ้นอยู่กับมติที่ประชุม กสม.จะเห็นควรเป็นอย่างไร

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ในวันที่ 13 ส.ค.ที่ประชุม กสม.อาจมีการพิจารณาว่าสำนักงานฯ จะส่งบุคคลเข้าคัดเลือกเป็น สปช.หรือไม่ และถ้าส่งจะเป็นใคร แต่โดยใน กสม.มีความเห็นค่อนข้างหลากหลาย ส่วนหนึ่งที่เห็นว่าน่าจะเสนอรายชื่อ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ย่อมต้องมีการเขียนบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานแต่มีความสำคัญอย่างมากในระดับสากล หากแม้ กสม.จะไม่ได้รับการสรรรหาเป็น สปช. ก็มั่นใจว่าหัวข้อสิทธิมนุษยชนต้องถูกเขียนในรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน ส่วนอีกด้านที่เห็นว่า กสม.ไม่ควรเสนอชื่อ เนื่องจากยังไม่มีความแน่นอนว่าในตัวรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นจะยังคงจำนวนองค์กรอิสระไว้เท่าเดิมหรือไม่ หรืออาจจะมีการยุบ ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ทั้งนี้ เมื่อ กสม.มีความเห็นที่หลากหลายก็เป็นไปได้ว่าในที่ประชุมอาจต้องใช้เสียงข้างมากว่าจะเสนอชื่อเป็น สปช.หรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น