xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะใส” ชี้ 4 จุดอ่อน 3 จุดแข็ง กฎหมายลูกพรรคการเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (แฟ้มภาพ)
รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต ชี้จุดอ่อนกฎหมายลูกพรรคการเมือง บอกให้จ่ายค่าสมาชิกทำยาก ห่วงห้ามพรรคเรียกรับเงินเจตนาดี แต่เปิดช่องให้กลั่นแกล้งได้ จวกไม่มีส่งเสริมเพิ่มบทบาท กก.3 ชุด ในพรรค แนะเพิ่มอำนาจกองทุนเงินอุดหนุนฯ ชมคุมเงินทุน ส่งผู้สมัคร ส.ส. ต้องถามสาขา สัดส่วนทางเพศในบัญชีรายชื่อทำเสมอภาค

วันนี้ (18 ธ.ค.) นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวว่า เห็นว่า ร่าง พ.ร.ป. พรรคการเมือง มีทั้งจุดอ่อนและจุดแข็ง ที่ กรธ. ควรพิจารณาทบทวนและรับฟังทุกฝ่ายเพื่อปรับปรุงให้สมบูรณ์มากขึ้น โดยจุดอ่อนนั้น มีหลายประเด็น เช่น ประเด็นแรก เรื่องการกำหนดให้จ่ายค่าสมาชิกพรรคนั้นปีละ 100 นั้น ในทางปฏิบัติทำได้ยาก แม้ กรธ. จะมีเจตนาดีต้องการให้สมาชิกรู้สึกเป็นเจ้าของพรรค แต่ความเป็นเจ้าของพรรคควรอยู่ที่การออกแบบการมีส่วนร่วมของสมาชิกและสาขาพรรคในการกำหนดทิศทางพรรคน่าจะเหมาะสมกว่า แต่หากพรรคไหนจะเก็บค่าสมาชิกก็ให้เป็นเรื่องของแต่ละพรรคที่สามารถเขียนไว้ในข้อบังคับพรรคได้

นายสุริยะใส กล่าวว่า ประเด็นที่ 2 ในมาตรา 44 ของร่าง พ.ร.ป. พรรคการเมือง ที่ห้ามพรรคเรียกรับเงินในการแต่งตั้งรัฐมนตรีและข้าราชการ หากฝ่าฝืนโทษหนักถึงขั้นประหารชีวิตนั้น แม้เจตนาดีแต่อาจเปิดช่องให้กลั่นแกล้งกันได้ และที่สำคัญ เรื่องนี้ก็อยู่ในอำนาจ ป.ป.ช. ที่จะเข้ามาควบคุมตรวจสอบเอาผิดได้อยู่แล้ว ประเด็นที่ 3 กรธ. ยังไม่ส่งเสริมและเพิ่มบทบาทให้กับคณะกรรมการส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยในพรรค กรรมการจัดทำนโยบายพรรคและกรรมการคัดเลือกผู้สมัคร เพราะกรรมการทั้ง 3 ชุดนี้จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนพรรคให้เป็นสถาบัน ไม่ใช่ตัดสินใจโดยเจ้าของพรรคเพียงไม่กี่คน ทำให้สาขาและสมาชิกพรรคไม่มีความหมายอะไร ประเด็นที่ 4 ควรทำให้กองทุนเงินอุดหนุนพรรคการเมือง มีบทบาทมากกว่านี้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้พรรคเล็กเติบโตได้ในระยะยาว ที่ผ่านมา เงินกองทุนจะถูกจัดสรรไปให้เฉพาะพรรคที่มี ส.ส. เท่านั้น

ส่วนจุดเด่นนั้น นายสุริยะใส กล่าวว่า ก็มีหลายประเด็นน่าสนใจ เช่น ประเด็นแรก การควบคุมเงินทุนพรรคการเมือง ที่พยายามสร้างกลไกที่รัดกุมขึ้น แต่ กรธ. ต้องไม่ลืมว่าทุนก็มีการปรับตัวจับได้ไล่ทันยากขึ้น ลำพังแต่การคุมเงินบริจาคไม่พอ ต้องดูเม็ดเงินที่อยู่นอกระบบ ซึ่งอาจใช้ กลไกของ ปปง. ป.ป.ช. หรือ DSI เข้ามาช่วยอีกทาง ประเด็นที่ 2 กรธ. กำหนดให้การส่งผู้สมัคร ส.ส. ในระบบเขตต้องถามความเห็นจากสาขาพรรค ถือว่าเป็นกลไกใหม่ที่ดีขึ้น แต่ต้องเขียนให้ชัดเป็นรูปธรรมกว่านี้ เพราะกลไกนี้จะทำให้เกิดระบบไพรมารีโหวต (primary vote) ได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์พรรคการเมืองไทย ประเด็นที่ 3 การกำหนดให้บัญชีผู้สมัครของพรรคคำนึงถึงสัดส่วนผู้แทนภาคและเพศชายหญิง จะทำให้บัญชีผู้สมัครเปิดกว้าง มีความเสมอภาคมากขึ้น ไม่ใช่แหล่งรวมของนายทุนพรรคเหมือนที่ผ่านมา


กำลังโหลดความคิดเห็น