xs
xsm
sm
md
lg

"ยะใส"ชี้3จุดเด่น4จุดด้อย แนะปรับปรุงพรป.พรรคฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

"สุริยะใส" ชำแหละ 4 จุดด้อยร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง ชู 3 จุดเด่น แนะกรธ.รับฟังทุกฝ่าย และพิจารณาทบทวน "องอาจ" ฝาก ดูข้อห้ามเรื่องพรรคการเมืองรับเงินให้รอบคอบ เพราะบทลงโทษรุนแรง "สมชัย" ยันพอใจภาพรวมร่างพ.ร.ป.กกต. ติดใจแค่ผู้ตรวจการเลือกตั้ง

นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฯ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวถึงร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ว่ามีทั้งจุดอ่อนและจุดแข็ง ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ควรพิจารณาทบทวน และรับฟังทุกฝ่ายเพื่อปรับปรุงให้สมบูรณ์มากขึ้น โดยจุดอ่อนนั้น มีหลายประเด็น เช่น

1. เรื่องการกำหนดให้จ่ายค่าสมาชิกพรรคปีละ 100 บาทนั้น ในทางปฏิบัติทำได้ยาก แม้กรธ.จะมีเจตนาดี ต้องการให้สมาชิกรู้สึกเป็นเจ้าของพรรค แต่ความเป็นเจ้าของพรรคควรอยู่ที่การออกแบบการมีส่วนร่วมของสมาชิก และสาขาพรรคในการกำหนดทิศทางพรรคน่าจะเหมาะสมกว่า แต่หากพรรคไหนจะเก็บค่าสมาชิก ก็ให้เป็นเรื่องของแต่ละพรรคที่สามารถเขียนไว้ในข้อบังคับพรรคได้

2. ในมาตรา 44 ของร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง ที่ห้ามพรรคเรียกรับเงินในการแต่งตั้งรัฐมนตรี และข้าราชการ หากฝ่าฝืนโทษหนักถึงขั้นประหารชีวิตนั้น แม้เจตนาดี แต่อาจเปิดช่องให้กลั่นแกล้งกันได้ และที่สำคัญเรื่องนี้ก็อยู่ในอำนาจ ป.ป.ช. ที่จะเข้ามาควบคุมตรวจสอบเอาผิดได้อยู่แล้ว

3 . กรธ.ยังไม่ส่งเสริมและเพิ่มบทบาทให้กับคณะกรรมการส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยในพรรค กรรมการจัดทำนโยบายพรรค และกรรมการคัดเลือกผู้สมัคร เพราะกรรมการทั้ง 3 ชุดนี้ จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนพรรคให้เป็นสถาบัน ไม่ใช่ตัดสินใจโดยเจ้าของพรรคเพียงไม่กี่คน ทำให้สาขา และสมาชิกพรรคไม่มีความหมายอะไร

4 . ควรทำให้กองทุนเงินอุดหนุนพรรคการเมืองมีบทบาทมากกว่านี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้พรรคเล็กเติบโตได้ในระยะยาว ที่ผ่านมาเงินกองทุนจะถูกจัดสรรไปให้เฉพาะพรรคที่มี ส.ส.เท่านั้น
 
ส่วนจุดเด่นของร่างพ.ร.ป.นี้ ก็มีหลายประเด็นน่าสนใจ เช่น

1. การควบคุมเงินทุนพรรคการเมือง ที่พยายามสร้างกลไกที่รัดกุมขึ้น แต่กรธ.ต้องไม่ลืมว่าทุนก็มีการปรับตัว จับได้ไล่ทันยากขึ้น ลำพังแต่การคุมเงินบริจาคไม่พอ ต้องดูเม็ดเงินที่อยู่นอกระบบ ซึ่งอาจใช้ กลไกของ ปปง. -ป.ป.ช.หรือ DSIเข้ามาช่วยอีกทาง

2. กรธ. กำหนดให้การส่งผู้สมัครส.ส.ในระบบเขต ต้องถามความเห็นจากสาขาพรรค ถือว่าเป็นกลไกใหม่ที่ดีขึ้น แต่ต้องเขียนให้ชัด เป็นรูปธรรมกว่านี้ เพราะกลไกนี้จะทำให้เกิดระบบไพรมารี่โหวต (primary vote)ได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์พรรคการเมืองไทย

3. การกำหนดให้บัญชีผู้สมัครของพรรคคำนึงถึงสัดส่วนผู้แทนภาคและเพศชายหญิง จะทำให้บัญชีผู้สมัครเปิดกว้าง มีความเสมอภาคมากขึ้น ไม่ใช่แหล่งรวมของนายทุนพรรคเหมือนที่ผ่านมา

**องอาจแนะปรับปรุงบทลงโทษ

ด้านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการที่กรธ. จะปรับแก้ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง หลังจากรับฟังความเห็นจากพรรคการเมืองว่า ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ อยากเห็นพรรคการเมืองเป็นพรรคของประชาชน หรือที่เรียกว่าเป็นพรรคมวลชน ไม่ใช่พรรคของใครคนใดคนหนึ่ง หรือพรรคของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง รวมทั้งอยากเห็นพรรคการเมืองเป็นพรรคที่มีคุณลักษณะเป็นสถาบันทางการเมือง มากกว่าเป็นพรรคเฉพาะกิจพรรค การเมืองส่วนมากไม่ได้ต่อต้านกม.พรรคการเมือง แต่ท้วงติงและเสนอแนะข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อให้กฎหมายที่จะออกมา มีผลบังคับใช้มีความครอบคลุมเนื้อหาสาระที่สมบูรณ์

ทั้งนี้ อยากฝากให้กรธ. ดูเนื้อหาสาระของ มาตรา 44 ของกฎหมายพรรคการเมืองด้วยว่า ข้อห้ามไม่ให้พรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง หรือสมาชิกพรรค เรียกรับเงินเพื่อแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี หรือแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งต่างๆในหน่วยงานของรัฐนั้น ควรอยู่ในกฎหมายพรรคการเมือง หรือควรอยู่ในกม.อื่นที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามการทุจริต ส่วนคนที่ไม่อยู่ในพรรคการเมือง ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค เช่น นายกรัฐมนตรีคนนอก หรือรัฐมนตรีคนนอก ซื้อขายตำแหน่ง ก็ถือว่าไม่เป็นความผิดตาม มาตรา 44 ของ กม.พรรคการเมือง ใช่หรือไม่

"ที่หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาฝากให้ กรธ.ช่วยดูให้รอบคอบ เพราะผู้ฝ่าฝืนมาตรา 44 ต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปีถึง 20 ปี จำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต ซึ่งเป็นบทลงโทษที่รุนแรง จึงอยากให้กรธ.พิจารณาให้ละเอียดรอบคอบ ครอบคลุมถึงผู้ที่ไม่อยู่ในพรรคการเมือง แต่ใช้อำนาจทางการเมืองเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วย เพื่อช่วยทำให้การเมืองไทยโปร่งใสมากขึ้น" นายองอาจ กล่าว

**"สมชัย"ค้านตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารกลาง กล่าวถึง ภาพรวมของ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ว่า ภาพรวมพอใจ 70-80 เปอร์เซ็นต์ แต่มีประเด็นที่ยังไม่เห็นด้วยคือ ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ซึ่งน่าจะมีปัญหาในทางปฏิบัติ ตั้งแต่การหาคนมาปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเชื่อว่าคงไม่มีใครอยากมาทำ เพราะต้องไปอยู่ต่างจังหวัดถึง 2 เดือน ไม่คุ้มค่าที่จะไปทำ

ส่วนที่บอกว่า กกต.จังหวัดถูกการเมืองแทรกแซงนั้น กกต.จังหวัดเป็นข้าราชการ อาจจะยังมีความเกรงใจ ไม่กล้าทุจริต แต่ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ไม่ได้เป็นข้าราชการ และรับเบี้ยเลี้ยงเพียงสองเดือน อาจรับผลประโยชน์จากนักการเมืองในพื้นที่ได้ไม่ยาก

ส่วนกรณีที่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. ระบุว่า มีงบราชการลับให้กับกกต. เพื่อทำเรื่องสืบสวนสอบสวนให้มีประสิทธิภาพนั้น ตนคิดว่างบประมาณเท่าที่มีอยู่ ก็น่าจะเพียงพอแล้ว ไม่อยากให้มีการใช้งบราชการลับ เพราะไม่สามารถพิสูจน์ความโปร่งใสในการใช้งบประมาณได้

"เรายังมีหน่วยงานราชการที่ใช้งบราชการลับไม่เพียงพออีกหรือ ผมอยากให้ กกต. เป็นต้นแบบสร้างความโปร่งใส ไม่อยากให้เป็นองค์กรดำมืดที่ตรวจสอบไม่ได้ " นายสมชัย กล่าว และว่า ในวันอังคารที่ 20 ธ.ค.นี้ กกต.จะมีการลงนามความร่วมมือกับ สำนักงานรัฐบาลอีเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ เพื่อเป็นองค์กรอิสระองค์กรแรกของประเทศในการเข้าร่วมโครงการ "open data" หรือการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ซึ่งเป็นการประกาศตัวเองว่า จะให้ความสำคัญกับการบริหารงาน โดยยึดหลักธรรมาภิบาล
กำลังโหลดความคิดเห็น