xs
xsm
sm
md
lg

ฉลุย! สนช.ผ่านวาระ 3 ร่าง พ.ร.บ.คอมพ์ ชี้ปมขัดต่อความไม่สงบแค่ลบก็ไม่ผิด เพิ่ม กก.กลั่นกรองเป็น 9

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติเห็นชอบ 168 เสียง งดออกเสียง 5 ให้ผ่านร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ในวาระ 2 และ 3 แล้ว ชี้ ประกาศกระทรวงกำลังจะบอกเรื่องใดทำได้หรือไม่ ส่วนปมขัดต่อความไม่สงบฯ อาทิ สอนฆ่าตัวตาย วิธีปล้น ระบุศาลสั่งให้แค่ลบหรือระงับ ถ้าทำตามก็ไม่มีความผิด ก่อน กมธ. ยอมเพิ่ม กก. กลั่นกรอง เป็น 9 คน เพิ่มภาคเอกชน 3 ต้องมาจากด้านสิทธิมนุษยชน, สื่อสาร และ สารสนเทศ

วันนี้ (16 ธ.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยมี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ พิจารณาแล้วเสร็จ และมีมติ 168 เสียง รับหลักการ ในวาระที่ 2 และ 3 โดยสมาชิกได้อภิปรายสาระสำคัญ อาทิ มาตรา 11 วรรคสอง ความชัดเจนของคำว่า “ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ” หมายถึงอะไร และอะไรที่ทำให้เกิดความรำคาญ โดย พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ในฐานะประธานวิสามัญฯ ชี้แจงว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เปิดโอกาสให้ผู้รับปฏิเสธอีเมลขยะตั้งแต่ต้น เพราะคิดว่าไม่เหมาะสม เนื่องจากจะมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ อี-คอมเมิร์ซ ซึ่งเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ส่งให้ผู้รับ เช่นเดียวกับนายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญ กล่าวว่า ในประกาศกระทรวงที่กำลังจะออกระบุว่าเรื่องใดที่ทำได้และไม่ก่อให้เกิดความรำคาญ

นอกจากนี้ สมาชิก สนช. ยังขอความชัดเจนในมาตรา 12 คำว่า การกระทำต่อข้อมูล หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับ “การบริการสาธารณะ” ว่า มีความหมายอย่างไร รวมทั้งท้วงติงมาตรา 12 วรรคสี่ การทำให้ผู้อื่นตายแต่ไม่ได้เจตนา เป็นการบัญญัติซ้ำกับประมวลกฎหมายอาญาที่มีอยู่หรือไม่ ซึ่ง พล.ต.อ.ชัชวาลย์ ชี้แจงว่า การทำให้ผู้อื่นตายแต่ไม่ได้เจตนา ไม่มีการบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มีแต่การทำร้ายเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งในระบบคอมพิวเตอร์ไม่ได้ทำร้ายร่างกายโดยตรง แต่เป็นการทำร้ายต่อระบบจนทำให้คนอื่นตาย ดังนั้น การบัญญัติว่า ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายแต่มิได้มีเจตนา จึงไม่ซ้ำซ้อนกับประมวลกฎหมายอาญา

สำหรับมาตรา 14 (1) ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการหลอกลวงหรือทุจริต ปลอม บิดเบือนทั้งหมด หรือบางส่วนข้อมูลคอมพิวเตอร์ นางสุรางคณา กล่าวว่า เจตนารมณ์เดิมของมาตรานี้ตั้งใจเอาผิดกับเรื่องฉ้อโกง ปลอมแปลง แต่การบัญญัติตาม พ.ร.บ. คอมพ์ พ.ศ. 2550 นั้น ทำให้เกิดความเข้าใจผิดและนำไปใช้กับความผิดฐานหมิ่นประมาท ครั้งนี้ กมธ. จึงแก้ไขให้ตรงกับเจตนารมณ์ เช่นเดียวกับพล.ต.อ.ชัชวาลย์ กล่าวว่า มาตราดังกล่าวถือว่ามีความชัดเจน ไม่เกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท

สำหรับ มาตรา 20/1 การตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ จำนวน 5 คน โดยมาจากภาคเอกชน 2 คน และหากเห็นว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลขอให้มีคำสั่งระงับการแพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์นั้น มีการเสนอให้ปรับจำนวนเป็น 7 หรือ 9 คน และเชื่อว่า หากมีที่มาชัดเจนจะช่วยลดแรงต้านของสังคมได้ นอกจากนี้สมาชิกยังสอบถามถึงคำจำกัดความ คำนิยมของคำว่า “ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” หมายถึงอะไร

ด้าน พล.ต.อ.ชัชวาลย์ ชี้แจงมาตรา 20/1 ว่า ข้อมูลอันขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีเป็นเรื่องที่ไม่ผิดกฎหมาย แต่อาจไปกระทบสิทธิส่วนบุคคล ส่วนความหมายของคำว่า “ขัดต่อความสงบเรียบร้อยฯ” และอะไรที่ขัดต่อความสงบฯ นั้น ไม่เคยมีการบัญญัติไว้ในกฎหมาย โดยศาลจะมีแนวทางพิจารณาอยู่ว่าเรื่องใดที่ขัดต่อความสงบบ้าง จะพิพากษาให้ระงับหรือลบเท่านั้น ไม่มีความผิดใดๆ แต่ถ้าไม่ทำตามที่ศาลสั่งตรงนั้นถึงจะมีความผิด สำหรับตัวอย่างความผิดตามมาตราดังกล่าว เช่น สอนวิธีการฆ่าตัวตาย วิธีการปล้น หรือทำอาวุธ ซึ่งไม่ผิดกฎหมาย แต่เมื่อเผยแพร่แล้วถือว่าขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ประธานที่ประชุมได้สั่งพัก 30 นาที เพื่อให้ กมธ. และผู้ที่ติดใจปรับปรุงร่างกฎหมายดังกล่าวในเรื่องที่มาและจำนวนของคณะกรรมการกลั่นกรอง กระทั่งได้เปิดประชุมอีกครั้ง โดยคณะกรรมาธิการยอมปรับเพิ่มคณะกรรมการกลั่นกรอง จาก 5 คน เป็น 9 คน และคำตัดสินต้องมีคะแนนเกินครึ่งหนึ่ง คือ 5 คน นอกจากนี้ คุณสมบัติของคณะกรรมการที่มาจากภาคเอกชน จำนวน 3 คน ให้มาจากด้านสิทธิมนุษยชน ด้านสื่อสารมวลชน และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง















กำลังโหลดความคิดเห็น