“ไอซีที” เปิดรายชื่อ 12 นายตำรวจสัญญาบัตร นั่ง “พนักงานเจ้าหน้าที่” ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มีอำนาจตรวจสอบเข้าถึงระบบ ถอดรหัสลับ ยึดหรืออายัด เรียกข้อมูลจราจร สั่งให้ผู้ให้บริการส่งมอบข้อมูล-สำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์
วันนี้ (19 ต.ค.) ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเรื่อง แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (ฉบับที่ 24) เพื่อให้การปฏิบัติและการดําเนินงานด้านการสืบสวนสอบสวน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ และสัมฤทธิผลในทางปฏิบัติ
“อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๒๘ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จึงประกาศแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ดังต่อไปนี้
๑. พลตํารวจตรี ศุภเศรษฐ์ โชคชัย ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ๒. พันตํารวจเอก ไพบูลย์ น้อยหุ่น รอง ผบก.ปอท.มาปฏิบัติราชการ ที่ศูนย์ปฏิบัติราชการกองบัญชาการตํารวจสอบสวนกลาง (ศปก.บช.ก.) ๓. พันตํารวจเอก สยาม บุญสม รอง ผบก.ปอท. ๔. พันตํารวจเอก สมเกียรติ เฉลิมเกียรติ รอง ผบก.ปอท. ๕. พันตํารวจเอก สัญญา เนียมประดิษฐ์ ผกก.ฝอ.บก.ปอท ในฐานะรองโฆษก บก.ปอท. ๖. พันตํารวจเอก ชนันนัทธ์ สารถวัลย์แพศย์ ผกก.2 บก.ปอท. ๗. พันตํารวจเอก โอฬาร สุขเกษม ผกก.3 บก.ปอท ๘. พันตํารวจเอก สุมรภูมิ ไทยเขียว ผกก.กลุ่มงานสนับสนุนคดีเทคโนโลยี บก.ปอท. ๙. พันตํารวจเอก ธราธิป รังรักษ์ ผกก.(สอบสวน) กก.1 บก.ปอท. ๑๐. พันตํารวจเอก นิติพัฒน์ วุฒิบุณยสิทธิ์ ผู้กำกับการ (สอบสวน) กลุ่มงานสอบสวน บก.ปอท. ๑๑. พันตํารวจเอก สุธีร์ มัลลิกะมาลย์ พนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ กก.3 บก.ปอศและ ๑๒. พันตํารวจเอกหญิง ณภัชนันท์ กวยรักษา พนักงานสอบสวน บก.ปอท.
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๙
อุตตม สาวนายน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร”
ทั้งนี้ สำหรับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ ตามมาตรา 18 มีหน้าที่สืบสวนและสอบสวน ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า มีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ เฉพาะที่จำเป็น เพื่อประโยชน์ในการใช้เป็นหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิด และหาตัวผู้กระทำความผิด
(๑) มีหนังสือสอบถามหรือเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้มาเพื่อให้ถ้อยคำ ส่งคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือส่งเอกสาร ข้อมูล หรือหลักฐานอื่นใดที่อยู่ในรูปแบบที่สามารถเข้าใจได้
(๒) เรียกข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ จากผู้ให้บริการเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารผ่านระบบคอมพิวเตอร์ หรือจากบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง
(๓) สั่งให้ผู้ให้บริการส่งมอบข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้บริการที่ต้องเก็บตามมาตรา ๒๖ หรือที่อยู่ในความครอบครองหรือควบคุมของผู้ให้บริการ ให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่
(๔) ทำสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ จากระบบคอมพิวเตอร์ที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ในกรณีที่ระบบคอมพิวเตอร์นั้นยังมิได้อยู่ในความครอบครองของพนักงานเจ้าหน้าที่
(๕) สั่งให้บุคคลซึ่งครอบครองหรือควบคุมข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ ส่งมอบข้อมูลคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ดังกล่าวให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่
(๖) ตรวจสอบหรือเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ของบุคคลใด อันเป็นหลักฐานหรืออาจใช้เป็นหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือเพื่อสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิด และสั่งให้บุคคลนั้นส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ ที่เกี่ยวข้อง เท่าที่จำเป็นให้ด้วยก็ได้
(๗) ถอดรหัสลับของข้อมูลคอมพิวเตอร์ของบุคคลใด หรือสั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเข้ารหัสลับของข้อมูลคอมพิวเตอร์ ทำการถอดรหัสลับ หรือให้ความร่วมมือกับพนักงานเจ้าหน้าที่ในการถอดรหัสลับดังกล่าว
(๘) ยึดหรืออายัดระบบคอมพิวเตอร์เท่าที่จำเป็นเฉพาะเพื่อประโยชน์ในการทราบรายละเอียดแห่งความผิดและผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้