ประชุม สนช.ถก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ คุ้มครองสิทธิประชาชน-ไม่กระทบความมั่นคง ด้านที่ปรึกษา กมธ.ห่วงเฟซบุ๊กไลฟ์ฆ่าตัวตาย เหตุยังไม่มีกฎหมายคุ้มครอง เลขาฯ สมาพันธ์สมาคมหนังชี้ไม่ป้องกันเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์
วันนี้ (23 พ.ย.) คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จัดเสวนา เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่...) พ.ศ. ...
โดย พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธาน กมธ.กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวถือว่าละเอียดอ่อนและต้องใช้ความสมดุลของเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการ จึงจำเป็นอย่างยิ่งต้องรับฟังความคิดเห็นเพื่อให้เกิดการบูรณาการและการป้องกันอย่างเป็นเอกภาพ คุ้มครองสิทธิประชาชน ไม่ใช่บัญญัติกฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่มากเกินไป ขณะเดียวกัน ประชาชนต้องใช้สิทธิโดยไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่นจนเกิดความเสียหายต่อประชาชนด้วยกันหรือเอกชน รวมทั้งต้องไม่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่งในมาตรา 20/1 กรณีที่มีการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน กฎหมายนี้ให้อำนาจรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์คณะหนึ่งหรือหลายคณะโดยแต่ละคณะให้มีกรรมการจำนวน 5 คน และ 2 ใน 5 มาจากภาคเอกชน ขณะเดียวกันให้นำบทบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการที่มีอำนาจดำเนินการพิจารณาทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการปฏิบัติราชการทางปกครองมาใช้บังคับกับการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองฯ หากกรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่ขัดต่อกฎหมายนี้พนักงานเจ้าหน้าที่โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกลั่นกรองฯสามารถยืนคำร้องต่อศาลได้เลยก่อนที่รัฐมนตรีมอบหมายเพื่อให้ขอระงับหรือลบข้อความ แต่ต้องรายงานให้รัฐมนตรีทราบ
ด้านนายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึกษา กมธ.กล่าวว่า การส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่นให้ได้รับเดือดร้อนรำคาญ โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้รับสามารถบอกเลิกหรือแจ้งความประสงค์เพื่อปฏิเสธการตอบรับได้โดยง่าย มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท แต่วิธีการส่งข้อมูล รวมถึงปริมาณของข้อมูลไม่ถือเป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้รับและปฏิเสธการรับได้โดยง่ายถือว่าไม่มีปัญหา หรือผู้รับยินยอมรับข้อมูลตัวนั้น เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ ถ้าสมาชิกยอมรับก็ไม่ผิดกฎหมายฉบับนี้ อย่างไรก็ตามในมาตรา 15 กำหนดว่าผู้ให้บริการผู้ใดให้ความร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจให้มีการกระทำความผิด ตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำผิดตามมาตรา 14 แต่ได้ลดความรุนแรงลง แต่การปลอมเว็บไซต์ ปลอมตัวตน ไม่ใช่การหมิ่นประมาท ซึ่งเข้ามาตรา 14 (1) ส่วนมาตารา 15 ถ้าทำตามประกาศกำหนดหรือขั้นตอนการแจ้งเตือนของรัฐมนตรี ไม่ต้องรับโทษ ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่ามาตรานี้ไม่มีปัญหาแน่นอนส่วนเรื่องการเปรียบเทียบปรับ โดยเฉพาะการทำผิดของเยาวชนซึ่งไม่มีเจตนาแต่เป็นคดีทางอาญา ถ้าจะดำเนินคดีคงไม่เหมาะสม ดังนั้นถ้าจำเลยสารภาพก็ใช้วิธีการเปรียบเทียบปรับจะทำให้คดีไม่รกศาล แต่กรณีที่น่าเป็นห่วง คือ การเฟซบุ๊กไลฟ์ฆ่าตัวตาย ที่ยังไม่มีกฎหมายมาช่วยเรื่องนี้เลย
ขณะที่นายวีรศักดิ์ โควสุรัตน์ เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ กล่าวว่า ประเทศไทยไปสู่ยุค 4.0 และมีงานลิขสิทธ์สูงมาก แต่ถูกละเมิดมากเช่นกัน ซึ่งในมาตรา 20 (3) กฎหมายลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญา ถ้าใครถูกละเมิดให้ไปศาล และถ้าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์จริงสามารถแสดงได้ ศาลจะสั่งบล็อกให้ แต่ต้นฉบับที่ทำการละเมิดอาจอยู่นอกราชอาณาจักร คนทำก็ไปเซิร์ฟเวอร์อยู่ต่างประเทศ ผู้เป็นเจ้าของก็ต้องไปหาตัวมาหากต่อสู้ในทางคดีความ ซึ่ง พ.ร.บ.ฉบับนี้คุ้มครองระบบคอมพิวเตอร์ในเรื่องห้ามใส่ไวรัสเข้าไป โดยมาตรา 20 ที่ป้องกันการกระทำผิดต่อความมั่นคงและลามกอนาจาร แต่ไม่สามารถป้องกันเรื่องลิขสิทธิ์ได้