“ฐากร” ยัน กสทช.เดินหน้าลุยเน็ตหมู่บ้านเต็มที่ กางแผนงานง่ายนิดเดียว พร้อมส่งทีมสำรวจ 2 ชุด คาดเปิดให้บริการ 3,920 หมู่บ้านชายขอบ ภายใน ธ.ค.2560 ส่วนหมู่บ้านในพื้นที่ชนบทอีกจำนวน 15,732 พร้อมเปิดให้บริการ พ.ค.2561 ย้ำราคาค่าบริการต้องไม่แพง
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า หลังจากที่มติการประชุมของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (บอร์ดดีอี) เมื่อวันที่ 2 พ.ย.2559 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เห็นชอบให้ กสทช.รับทำโครงการอินเทอร์เน็ตหมู่บ้าน จำนวน 19,652 แห่ง แบ่งเป็นพื้นที่ในชนบทที่รับมาจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) จำนวน 15,732 แห่ง และ พื้นที่หมู่บ้านชายขอบ จำนวน 3,920 แห่งนั้น กสทช.ได้เริ่มดำเนินการแล้ว โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในเดือน ธ.ค.2560 และเดือน พ.ค.2561 ตามลำดับ
ทั้งนี้ แผนการดำเนินการในพื้นที่หมู่บ้านชายขอบ จำนวน 3,920 แห่ง เริ่มส่งทีมสำรวจลงสำรวจพื้นที่แล้วว่า แต่ละพื้นที่ที่ห่างไกล ที่เป็นภูเขาว่า ต้องใช้เทคโนโลยีใดบ้าง เนื่องจากในพื้นที่ดังกล่าวไม่สามารถลากสายไฟเบอร์ออปติกเพียงอย่างเดียวได้ จึงต้องดูด้วยว่า จะใช้เทคโนโลยีอะไรมาเสริม เช่น ไวแม็กซ์ ดาวเทียม เป็นต้น เพื่อวิเคราะห์มูลค่าการลงทุน และกำหนดรายละเอียดในการทำทีโออาร์ คาดว่าจะสำรวจพื้นที่เสร็จประมาณปลายเดือน ม.ค.2560 จากนั้น ภายในเดือน มี.ค. จะสามารถออกเกณฑ์การประกวดราคาได้ และในเดือน มิ.ย. จะสามารถลงนามกับผู้ชนะการประมูลโครงการ และต้องเร่งวางโครงข่ายเพื่อให้เปิดบริการได้ภายในเดือน ธ.ค.
ส่วนหมู่บ้านในพื้นที่ชนบท จำนวน 15,732 แห่งนั้น ก็จะทำงานคู่ขนานกันไป โดยทีมสำรวจจะลงพื้นที่เดือน ม.ค.ปีหน้า แต่กระบวนการสรุปเทคโนโลยี หรือพื้นที่ทั้งหมดน่าจะแล้วเสร็จได้ก่อนพื้นที่ชายขอบ เพราะหมู่บ้านส่วนใหญ่อยู่ในชนบท และคาดว่าจะใช้เทคโนโลยีไฟเบอร์ออปติกทั้งหมด คาดว่าในเดือน มิ.ย.2560 และสามารถลงนามกับผู้ชนะการประมูลได้ในเดือน ก.ย.2560 พร้อมเปิดให้บริการได้ในเดือน พ.ค.2561
“ตอนนี้เราดำเนินการอยู่ในงบยูเอสโอ ที่มีเหลืออยู่ 20,000 ล้านบาท ส่วนตัวเชื่อว่า น่าจะเพียงพอ แต่ก็ขอดูการสรุปเทคโนโลยี และการติดตั้งในพื้นที่ก่อน ซึ่งในพื้นที่หมู่บ้านในเขตชนบทนั้น สำนักงาน กสทช.จะทำต่างจากกระทรวงดีอี คือ จะติดตั้งอินเทอร์เน็ตที่โรงเรียน และสถานที่ราชการ อาทิ สถานีอนามัย หรือ อบต. จากนั้นจะส่งสัญญาณรัศมีครอบคลุม 200 เมตรในการให้บริการฟรีไวไฟในจุดดังกล่าว”
เลขาธิการ กสทช. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังต้องหาจุดติดตั้ง 1 จุด ต่อ 1 หมู่บ้าน เพื่อให้เอกชนมาเช่าใช้ในการให้บริการตามครัวเรือน หากบ้านใดต้องการติดตั้งก็ต้องมาเชื่อมโครงข่ายจากส่วนกลางไป ซึ่งตรงนี้เอกชนที่รับผิดชอบจะต้องดำเนินการลากสาย และให้บริการด้วยราคาที่ต่ำกว่าราคาปกติในตลาด ซึ่งในส่วนนี้สำนักงาน กสทช.จะเป็นผู้กำหนดราคาอีกครั้งหนึ่ง
โดยอัตราความเร็วที่ให้ต้องอยู่ที่ 30/10 Mbps ขณะที่ในส่วนของอินเทอร์เน็ตหมู่บ้านที่ติดในโรงเรียน หรือสถานที่ราชการนั้น จะมีการเสริมเป็นโครงการ USO NET เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนด้วย โดย กสทช.จะเป็นผู้ดำเนินโครงการหาอุปกรณ์ และงบประมาณ รวมถึงการบำรุงรักษาให้ก่อนในระยะ 3 ปี เพราะเข้าใจว่า ส่วนราชการต้องใช้เวลาในการตั้งงบประมาณ จากนั้น เชื่อว่าหลังจาก 3 ปี หน่วยงานจะสามารถตั้งงบประมาณเพื่อดูแลในส่วนนี้ได้
Company Relate Link :
กสทช.