ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -การเปลี่ยนกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที มาเป็น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) ถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปสู่ยุค “ประเทศไทย 4.0” โดยมุ่งหวังจะใช้ “เศรษฐกิจดิจิทัล” ยกระดับประเทศไทยให้หลุดพ้นจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง สร้างความเจริญมั่งคั่งให้แก่ประเทศในอนาคต
การเปลี่ยนกระทรวงไอซีที เป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีผลอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2559 เมื่อราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 17) พ.ศ.2559 โดยมีสาระสำคัญคือให้ยกเลิกกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และให้จัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการวางแผนส่งเสริม พัฒนา และดำเนินกิจการเกี่ยวกับดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม การอุตุนิยมวิทยา การสถิติและราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนด
ตาม พ.ร.บ.นี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมีส่วนราชการระดับกรม 5 หน่วยงาน ได้แก่ 1.สำนักงานรัฐมนตรี 2.สำนักงานปลัดกระทรวง 3.กรมอุตุนิยมวิทยา 4.สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5.สำนักงานสถิติแห่งชาติ
แต่กระทรวงใหม่ถอดด้ามของประเทศไทยดำเนินงานมาได้เพียง 1 เดือนเศษ ปลัดกระทรวง คือ นางทรงพร โกมลสุรเดช ก็ถูกย้ายไปเป็นผู้ตรวจราชการพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ 66/2559 ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2559 ซึ่งออกตามอำนาจในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว มีหน้าที่ตรวจราชการและเป็นที่ปรึกษาด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย และให้ น.ส.วิไลลักษณ์ ชุลีวัฒนกุล ย้ายจากตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ ไปเป็นปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี บอกถึงเหตุผลการย้ายนางทรงพรว่า ตั้งใจให้นางทรงพรไปดู 2 เรื่อง คือการตรวจราชการทั่วไปที่เกี่ยวกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และเป็นที่ปรึกษาเรื่องดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงให้ประสานกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เนื่องจากรัฐบาลไม่มีคนประสานในช่วงที่ผ่านมา เพราะ กสทช.เป็นองค์กรอิสระ ซึ่งที่ผ่านมาก็ให้นางทรงพรช่วยประสานมาตลอด ส่วนเหตุผลว่าทำไมถึงย้ายมานั้นตนไม่ทราบ แต่เมื่อมาแล้วจะใช้งานเช่นนี้
ต่อมา วันที่ 9 พฤศจิกายน พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวถึงการย้ายนางทรงพรว่า นางทรงพรไม่มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตหรือประพฤติไม่ชอบ และอาจเป็นกลยุทธ์ที่จะทำให้การทำงานมีความพร้อมมากขึ้น เพราะ 1 ปีที่ผ่านมานายกฯ คาดหวังให้กระทรวงดีอีเดินหน้าตามภารกิจในวาระที่วางไว้เพื่อให้เป็นความหวังของรัฐบาลและประชาชน แต่เมื่อยังไม่บรรลุผลจึงทดลองเปลี่ยนหัวหน้าทีม และอยากให้โอกาสนางวิไลลักษณ์ ปลัดดีอีคนใหม่ได้ลองทำงาน
พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ย้ายนางทรงพร ไม่ใช่เรื่องการไม่เข้าร่วมประชุมเตรียมความพร้อมการจัดงานโชว์เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมระดับโลก เพราะถ้าใครอยู่ในที่ประชุมจะรู้ว่าตนไม่เคยตำหนินางทรงพรเลย แต่มีเรื่องที่ค่อนข้างจะห่วงใยคือเรื่องการประชาสัมพันธ์ ซึ่งในช่วงนี้การประชาสัมพันธ์เรื่องต่างๆ อยู่ในช่วงอ่อนไหว แต่จะทำอย่างไรให้ได้ใกล้เคียงกับเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ 1 แสนคน แต่มีตัวบุคคลที่กระทบบางเรื่อง คืออุตส่าห์กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ การจัดระดับชาติและระดับโลก แต่การประชาสัมพันธ์ไม่ได้เพราะช่วงนี้ไม่เหมาะ กำหนดเป้าหมายไว้ 1 แสนคนก็ไม่ได้ เรารู้สึกว่าตึงๆ นิดหน่อย และเกรงว่าจะเสียเงินโดยไม่ได้รับอะไร จึงปรับกลยุทธ์ตรงนี้ แต่ไม่เคยมีการกระทบกระทั่งกับบุคคล
อีกโครงการสำคัญของกระทรวงดีอี คือการดำเนินการโครงการอินเทอร์เน็ตหมู่บ้าน 70,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ งบประมาณ 15,000 ล้านบาท ซึ่ง พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า ถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาล เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มขีดความสามารถในการวางโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ ก่อนหน้านี้เราคาดว่าจะเริ่มต้นโครงการดังกล่าวได้ในช่วงกลางปี 2559 แต่เมื่อยังเริ่มต้นไม่ได้ก็ต้องมาดูปัญหา เพื่อแก้ไขให้บรรลุวัตถุประสงค์ ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่ามีปัญหาความซ้ำซ้อนในเรื่องของพื้นที่ แต่จากการประชุมครั้งล่าสุดเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบยืนยันไม่มีที่ซ้ำซ้อน
นอกจากความล่าช้าในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัลจนต้องมีการย้ายปลัดกระทรวงดีอีแล้ว ยังมีปัญหาในการออก พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมีสาระสำคัญคือ กำหนดให้คณะรัฐมนตรีจัดให้มีนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจสังคมเพื่อให้การพัฒนาการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเกิดประโยชน์สูงสุด พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีดิจิทัลที่เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม กำหนดให้มีคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือดีอี โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ให้ปลัดกระทรวง เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้เลขาธิการเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ซึ่งกรรมการดิจิทัลที่มีหน้าที่จัดทำนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจสังคมเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดนโยบายและทิศทางด้านการเงิน การคลัง การลงทุน มาตรการทางภาษีและสิทธิประโยชน์ต่างๆ
ล่าสุด ในการประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน เพื่อพิจารณาวาระ 2 ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เรียงลำดับรายมาตรา โดยมาตรา 8 คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง ซึ่งคณะกรรมาธิการได้มีการตัดข้อความใน (6) “ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หรือหน่วยงานของเอกชนเพราะทุจริตต่อหน้าที่ และ (7) และไม่ประกอบอาชีพหรือวิชาชีพอิสระอื่นใด หรือเป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือลูกจ้างขององค์กรเอกชนใดที่มีส่วนได้เสียหรือมีผลประโยชน์ขัดแย้งไม่ว่าโดยตรง หรือโดยอ้อมกับการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งกรรมการ” ออกไป
สมาชิกหลายคนไม่เห็นด้วยกับการตัดข้อความดังกล่าวออก เพราะเห็นว่าจะเป็นการเปิดช่องให้บุคคลที่มีผลประโยชน์ บุคคลที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจดิจิทัลเข้ามาเป็นกรรมการ และเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนอย่างแท้จริง รวมทั้งยังเป็นการทำลายระบบธรรมาภิบาล ไม่มีความโปร่งใส มีเจตนาอะไรแอบแฝงในการตัดข้อความดังกล่าว เป็นการล็อกสเปกบุคคลหรือไม่ เพราะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จะมีอำนาจในการบริหารกองทุน ซึ่งมีจำนวนเป็นหมื่นล้านบาท ซึ่งหากที่ประชุมเห็นชอบเชื่อว่ามีคนร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้
และเมื่อมีการลงมติ ผลปรากฏว่า เสียงส่วนใหญ่มีมติใน (6) ไม่เห็นชอบตามที่คณะกรรมาธิการตัดออกด้วยคะแนน 38 ต่อ 146 งดออกเสียง 10 และลงมติไม่เห็นชอบกับการตัด (7) ด้วยคะแนน 26 ต่อ 158 งดออกเสียง 10 จึงต้องคงมาตรา 8 ตามร่างเดิม
พล.อ.ประยุทธ์ มองในแง่ดีว่า กรณีนี้ไม่ได้เป็นการคว่ำร่างฯ แต่อาจมีปัญหาในเรื่องความไม่เข้าใจกัน ที่บางประเด็นบอกว่าแรงเกินไป และต้องระมัดระวังเรื่องความขัดแย้งที่รัฐบาลพยายามไม่ให้เกิดขึ้น ซึ่งบางส่วนมองว่าเป็นการจำกัดมากเกินไป จึงขออย่าคิดว่าเป็นการคว่ำหรือไม่คว่ำ ซึ่งรัฐบาลได้เสนอไปตามหลักการเดิมที่มีอยู่แล้ว เพียงปรับแก้เพิ่มเติมในบางประเด็น
อย่างไรก็ตาม การที่ สนช.ไม่เห็นด้วย ก็ทำให้คณะกรรมาธิการต้องนำกลับไปปรับปรุงแก้ไขร่างฯ ใหม่ เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.อีกครั้ง ซึ่งก็ทำให้การประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ต้องล่าช้าออกไป