ย้อยรอย...ปม “ปั๊ม ปตท.ทั่วประเทศ” ต้องชำระภาษีป้ายให้ อปท.หรือไม่ หลัง “มหาดไทย” ทำหนังสือย้ำเมื่อปลายเดือน พ.ย. 59 ระบุ บมจ.ปตท.-บริษัทในเครือ-ผู้แทนจำหน่ายของบริษัทฯ หากไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย (ภ.ป.1) ตามมาตรา 19 แห่ง พรบ.ภาษีป้าย ปี 2510 ให้ “ผู้มีอำนาจ” แจ้งประเมินย้อนหลังไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่แจ้งประเมินภาษีป้าย พร้อมชี้ช่อง อปท.ฟ้องหากยังยื้อไม่จ่ายภาษี เผยในอดีตอัยการสูงสุดหลายยุคตีความไม่ตรงกัน ทำผลชี้ขาดยังไม่จบ
วันนี้ (12 ธ.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทยว่า เมื่อวันที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ได้ออกหนังสือที่ มท 0808.3/ว 2513 เรื่องแนวทางปฏิบัติกรณีการจัดเก็บภาษีป้ายของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ยกเว้น จ.สงขลา ปทุมธานี สุพรรณบุรี กำแพงเพชร และกาฬสินธุ์ เพื่อแจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทุกแห่งทราบและถือปฏิบัติ ตามความเห็นกระทรวงมหาดไทยที่ได้ตอบข้อหารือของกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2559 ในประเด็นการจัดเก็บภาษีป้ายรายบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
“โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีสถานีบริการน้ำมันของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ทราบว่า อปท.เหล่านั้นต้องแจ้งให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือผู้แทนซึ่งเป็นเจ้าของป้าย ให้ดำเนินการยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย (ภ.ป.1) ภายในเดือนมีนาคมของปี ทั้งนี้ อปท.จากจังหวัดข้างต้น ได้ทำหนังสือเพื่อทราบแนวทางปฏิบัติดังกล่าว แต่กระทรวงมหาดไทยได้เคยชี้แจงแนวทางปฏิบัติยัง กทม. จ.สงขลา ปทุมธานี สุพรรณบุรี กำแพงเพชร และกาฬสินธุ์ แล้วมีใจความว่า อปท.ที่มีสถานีบริการน้ำมันของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และสถานีบริการน้ำมันของเอกชนซึ่งเป็นบริษัทในเครือหรือผู้แทนจำหน่ายของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในเขตพื้นที่นั้น อปท.ต้องแจ้งให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือหรือผู้แทนจำหน่ายของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ดังกล่าว ซึ่งเป็นเจ้าของป้ายแล้วแต่กรณีให้ดำเนินการยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย (ป.ภ.1) ตามาตรา 12 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติภาษป้าย พ.ศ. 2510 ที่กำหนดให้เจ้าของป้ายจะต้องเสียภาษีป้าย ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายตามวิธีการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดภายในเดือนมีนาคมของปี
สำหรับการที่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือหรือผู้แทนจำหน่ายของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย (ภ.ป.1) นั้น ตามมาตรา 19 แห่ง พระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 กำหนดว่า หากเจ้าของป้ายมิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายโดยไม่ถูกต้อง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจแจ้งการประเมินย้อนหลังไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งการประเมินภาษีป้าย
ดังนั้น หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือหรือผู้แทนจำหน่ายของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย (ภ.ป.1) อปท.ก็สามารถดำเนินการแจ้งการประเมินย้อนหลังได้ไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งการประเมิน โดยใช้อำนาจหน้าที่แจ้งการประเมินตามาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 ที่กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินภาษีป้ายตามหลักเกณฑ์การคำนวณภาษีป้ายที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราภาษีป้าย (6) และ (7) ท้ายพระราชบัญญัตินี้ และตามอัตราภาษีป้ายที่กำหนดในกฎกระทรวง แล้วแจ้งการประเมินเป็นหนังสือไปยังเจ้าของป้าย”
หนังสือดังกล่าวระบุด้วยว่า หากบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือหรือผู้แทนจำหน่ายของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ปฏิเสธการชำระภาษีป้าย หรือไม่พอใจการประเมินภาษีป้ายของพนักงานเจ้าหน้าที่ ก็ให้ดำเนินการอุทธรณ์ภาษีป้าย (ภ.ป.4) ต่อผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้ซึ่งบริหารท้องถิ่นมอบหมายได้ภายในสามสิบวัน นับตั้งแต่วันที่ได้ประเมิน และหากไม่พอใจการวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้บริหารท้องถิ่น ก็สามารถฟ้องเป็นคดีต่อศาลภายนามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามาตรา 30 และมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510
ลงชื่อ นายดุษฏี สุวัฒวิตยากร รองอธิบดีปฏิบัติหน้าที่อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
หาช่องว่างทางกฎหมาย หรือหลีกเลี่ยงไม่ชำระ
มีรายงานว่า ที่ผ่านมามีคำถามมายังกระทรวงมหาดไทย รวมถึง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อขอทราบว่า ปัจจุบัน “ป้าย ปตท.” ที่ดำเนินการโดย หจก.หรือเจ้าของกิจการในท้องถิ่น มีบาง อปท.เก็บภาษีป้าย บางแห่งไม่เก็บ มีข้อพิจารณาอย่างไรในการจัดเก็บภาษีป้าย
ขณะที่เว็บไซต์ชมรมนักจัดเก็บรายได้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย เคยมีการแสดงความเห็นว่า ต้องการให้มีการตรวจสอบ ประเด็นการชำระภาษีป้าย ของ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ว่า เป็นการพยายามใช้ช่องว่างทางกฎหมายหลีกเลี่ยงไม่
“เรื่องการชำระภาษีป้ายของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เป็นการพยายามใช้ช่องว่างทางกฎหมาย หลีกเลี่ยงไม่ชำระภาษีป้าย ถูกต้องทั้งในแง่กฎหมายและหลักจริยธรรมทางธุรกิจหรือไม่ มีการให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงว่า แต่เดิมนั้น ปตท.นั้นเป็นรัฐวิสาหกิจได้รับสิทธิยกเว้น ไม่ต้องเสียภาษีป้าย ตาม พรบ.ป้าย มาตรา 8(7) ต่อมา ปตท.ได้แปลงสภาพเป็น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ตาม พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ ซึ่งการมีการโต้เถียงกันในหมู่นักกฎหมายว่าสิทธิ และประโยชน์ทางภาษีอากรของ ปตท. ยังคงอยู่หรือหมดไป ตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ ฉบับที่ 2 พศ.2550 “ถ้าคงอยู่ ปตท.ก็ไม่ต้องชำระภาษีป้าย / ถ้าหมดไป ปตท.ก็ต้องเสียภาษีป้าย”
สำหรับประเด็นที่ ป้าย ปตท.เสียภาษีหรือไม่นั้น มีกรณีวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาชี่ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาข้อโต้แย้งระหว่าง ปตท.กับ เทศบาลคลองตำหรุ จังหวัดชลบุรี โดยทางคณะกรรมการดังกล่าว มีมติ 5 ต่อ 3 ให้ ปตท.ได้รับการยกเว้นภาษีป้าย (คือ 5 เสียง ให้ได้รับการยกเว้น อีก 3 เสียไม่ให้ได้รับการยกเว้น (อ้างอิงหนังสือที่ อส 0020/10706 ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2555 เรื่อง แจ้งมติคณะรัฐมนตรี) (แต่กรณีนี้ ปตท.เป็นเจ้าของสถานีจำหน่ายน้ำมันลงทุนและดำเนินการเอง ไม่ใช่ของเอกชน)
ขณะที่ทาง ปตท.ได้ส่งหนังสืออส 0020/10706 ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2555 เรื่องแจ้งมติคณะรัฐมนตรี เวียนไปให้เอกชนที่ลงทุนและดำเนินการสถานีจำหน่ายน้ำมันทั่วประเทศว่าไม่ต้องชำระภาษีป้าย แก่ทาง องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการเก็บภาษีป้าย
มีรายงานว่า ต่อมาองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นหลายแห่งทั่วประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับหนังสือ อส 0020/10706 ดังกล่าว ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเทศบาลตำบลเกวียนหัก จังหวัดจันทบุรี ได้ทำหนังสือหารือไปที่ กระทรวงมหาดไทยอีกครั้งเพื่อสอบถามแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนในการจัดเก็บภาษีป้าย ปตท.กรณี ปตท.ไม่ได้ดำเนินการเอง แต่เป็นเอกชนลงทุนและดำเนินการ ว่าต้องปฏิบัติอย่างไร
”ให้เอกชนดำเนินการยืมป้าย” กับ “ปตท.ลงทุนเอง”
ชมรมนักจัดเก็บรายได้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย ระบุว่า จากการสอบถามข้อเท็จจริงระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับ ปตท. ได้ ความจริงนำมาเปิดเผย ดังนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2555) ปตท.ดำเนินการเอง เพียง 75 สถานี นอกนั้นเอกชนดำเนินการเองประมาณ 1,131 สถานี ขณะที่ป้าย ปตท. ในสถานีจำหน่ายน้ำมัน ที่เอกชนดำเนินการเองเป็นป้ายที่เอกชนเป็นผู้ลงทุนออกค่าใช้จ่ายในการจัดทำและติดตั้งป้าย แต่ ปตท.ทำบันทึกว่าป้ายของเอกชนเป็นทรัพย์สินหรือเป็นกรรมสิทธิ์ของ ปตท. และได้ข้อตกลงให้เอกชนดำเนินการเองยืมป้าย ส่วนป้ายที่เป็นข้อโต้แย้งระหว่าง ปตท. กับ เทศบาลคลองตำหรุ จังหวัดชลบุรี ตามหนังสือ อส 0020/10706 นั้น ปรากฏข้อเท็จจริงว่า สถานีจำหน่ายน้ำมัน ที่เป็นเหตุแห่งข้อโต้แย้ง เป็นของ ปตท. ลงทุนและดำเนินการเอง
มีรายงานว่า ต่อมากระทรวงมหาดไทยจึงมีหนังสือที่ มท 0808.3/12582 ลงวันที่ 2 ธันวาคม 2557 เรื่อง ขอหารือการจัดเก็บภาษีป้ายบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) สรุปได้ว่า กระทรวงมหาดไทยเห็นว่า ป้าย ปตท. ที่เอกชนดำเนินการเอง ไม่ได้รับการยกเว้นภาษีป้าย แม้จะมีการทำข้อตกลงเป็นหนังสือว่าเป็นการยืมป้ายจาก ปตท.ก็ตาม แต่ ปตท.ก็ยังอ้างอิงหนังสือ อส 0020/10706 ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2555 เรื่องแจ้งมติคณะรัฐมนตรี และยืนยันว่าป้าย ปตท.ในสถานีจำหน่ายน้ำมันที่เอกชนดำเนินการเอง ไม่ต้องชำระภาษีป้าย พร้อมทั้งให้คำแนะนำ เอกชนเหล่านั้นไม่ต้องชำระภาษีป้าย
ช่วยหาคำตอบ เพื่อตรวจสอบว่า ปตท.จ่ายภาษีป้ายหรือไม่?
ชมรมนักจัดเก็บรายได้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า ประเด็นที่อยากให้ช่วยการหาคำตอบ เพื่อตรวจสอบว่าความยุติธรรมยังมีอยู่ในสังคม
1. การที่ ปตท. ก็ใช้ช่องว่างทางกฎหมาย สร้างความได้เปรียบในการดำเนินการทางธุรกิจให้กับตัวเอง โดยไม่ยอมชำระภาษีป้ายนั้น ถูกต้องหรือไม่ ทั้งในแง่กฎหมายและหลักจริยธรรมทางธุรกิจ
2.การที่ ปตท.ใช้ช่องว่างทางกฎหมาย เขียนสัญญาในการเปิดสถานีจำหน่ายน้ำมัน โดย ปตท.ให้เอกชนเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการจัดทำและติดตั้งป้าย ปตท. และมีการทำบันทึกว่าป้ายที่เอกชนทำนั้นเป็นทรัพย์สินหรือเป็นกรรมสิทธิ์ของ ปตท. และได้ข้อตกลงให้เอกชนดำเนินการเองยืมป้าย เพื่อไม่ต้องชำระภาษีป้าย ถูกต้องหรือไม่ ทั้งในแง่กฎหมายและหลักจริยธรรมทางธุรกิจ
เปิดปม อสส.ตีความรอบที่ 3 “ปตท.ต้องจ่ายภาษีป้ายหรือไม่”
มีรายงานด้วยว่า สำนักข่าวอิศราได้เผยแพร่เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2558 กรณีเรื่องภาษีป้ายของ บริษัท ปตท. นั้น มีประเด็นสำคัญอยู่ที่การถกเถียงว่า ปตท.นั้น สมควรได้รับสิทธิยกเว้น ไม่ต้องเสียภาษีป้าย ตาม พ.ร.บ.ป้าย มาตรา 8 (7) หรือไม่ เพราะเมื่อ ปตท.ได้แปลงสภาพเป็น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ตาม พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ มีนักกฎหมายมองว่าสิทธิ และประโยชน์ทางภาษีอากรของ ปตท.ยังคงอยู่หรือหมดไป ตาม มาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ ฉบับที่ 2 พศ.2550 ถ้าคงอยู่ ปตท.ก็ไม่ต้องชำระภาษีป้าย แต่ถ้าหมดไป ปตท.ก็ต้องเสียภาษีป้าย แต่ ปตท.ยืนยันว่า ควรได้รับสิทธิ เพื่อแปรสภาพมาจากรัฐวิสาหกิจของรัฐ
ในช่วงที่ผ่านมาสมัยที่นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ และนายอรรถพล ใหญ่สว่าง สองอดีตอัยการสูงสุด ได้มีการวินิจฉัยข้อพิพากออกมาแล้ว มีทั้งเห็นว่า ปตท.ไม่ต้องเสียภาษีป้าย และต้องเสียภาษีป้าย ทำให้นายตระกูล วินิจฉัยภาค อดีตอสส. ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาชี้ขาดอีกครั้ง โดยมี ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ อสส.คนปัจจุบันเป็นประธานคณะทำงาน
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2558 สำนักข่าวอิศราได้เผยแพร่ เรื่อง “เปิดปมข้อพิพาทภาษีป้าย 'ปตท.' ต้นตอศึกความเห็น อสส. “จุลสิงห์ VS. อรรถพล” ว่า ในช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2558 นายตระกูล วินิจนัยภาค อดีตอัยการสูงสุด ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาข้อพิพาทระหว่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ รวมถึงกรุงเทพมหานคร กรณีการเสียภาษีป้ายของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ว่า จะได้รับสิทธิในการยกเว้นการเสียภาษีป้ายหรือไม่ อย่างไร โดยมี ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อสส.คนปัจจุบัน เป็นประธาน นั้น พบว่า ปัญหาข้อพิพาทระหว่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ รวมถึงกรุงเทพมหานคร กรณีการเสียภาษีป้ายของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ดังกล่าว เป็นปัญหาค้างเก่าที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2551 และยังไม่หาข้อสรุปได้จนถึงปัจจุบัน
โดยคู่กรณีของ ปตท.คือ เทศบาล ต.คลองตำหรุ อำเถอเมือง จ.ชลบุรี ซึ่งมีการเรียกเกฺ็บภาษีป้ายจาก ปตท. เป็นเงินจำนวน 33,176 บาท แต่ ปตท.เห็นว่า ปตท.ควรได้รับการยกเว้นภาษีดังกล่าว จึงมีการทำเรื่องอุทธรณ์ขอคืนเงินภาษีดังกล่าว แต่ทางเทศบาลต.คลองตำหรุ ยืนยันว่าการประเมินถูกต้องแล้ว
ทั้งนี้ ภายหลังจากที่เทศบาล ต.คลองตำหรุ ยืนยันว่าการประเมินถูกต้องแล้ว ปตท.ได้ทำหนังสือถึงอัยการสูงสุดในยุคที่มีนายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ เป็นอัยการสูงสุด ให้พิจารณาชี้ขาดข้อกฎหมายในเรื่องนี้ ซึ่งได้ยุติว่าเทศบาล ต.คลองตำหรุ ต้องคืนเงินภาษีให้แก่ ปตท. เพราะได้รับสิทธิการยกเว้นภาษีป้ายตาม พ.ร.บ.ภาษีป้าย พ.ศ.2510
อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาล่วงมาถึงในยุคนายอรรถพล ใหญ่สว่าง เข้ามาดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ได้มีการพิจารณาข้อกฎหมายเรื่องนี้ใหม่ และกลับความเห็นว่าเทศบาลต.คลองตำหรุ ไม่ต้องคืนเงินภาษีให้แก่ ปตท. ขณะที่คู่กรณีเรียกเก็บภาษีป้ายของ ปตท.ก็ขยายไปยังหน่วยงานท้องถิ่นอีกหลายแห่งร่วมถึงกรุงเทพมหานคร (กทม.) ด้วย
สำนักข่าวอิศราอ้างแหล่งข่าวจากสำนักงานอัยการสูงสุด ที่กล่าวยืนยันว่าผลจากการที่การวินิจฉัยข้อกฎหมายเรื่องนี้ มีความข้ดแย้งกัน และผ่านมาเป็นระยะเวลานานก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ จึงทำให้ นายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด ที่เพิ่งรับตำแหน่งไป ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาข้อพิพาทเรื่องนี้อีกครั้ง โดยมี ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อสส.คนปัจจุบัน เป็นประธาน
โดยระบุในคำสั่งอย่างชัดเจนว่า “กรณีนี้เป็นประเด็นข้อกฎหมายที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในระหว่างพนักงานอัยการที่เกี่ยวข้องในการวินิจฉัยข้อพิพาก เป็นระยะเวลายาวนาน ไม่อาจหาข้อยุติโดยปราศจากข้อสงสัยได้ อีกทั้งในสมัยนายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ เป็นอัยการสูงสุด และต่อมาในสมัยนายอรรถพล ใหญ่สว่าง เป็นอัยการสูงสุด ได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทดังกล่าวขัดแย้งกันในหลักกฎหมาย”
มีรายงานว่า ก่อนที่ ปตท.จะจดทะเบียนเป็น บมจ. คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความโดยยกความเห็นจากนายอมร จันทรสมบูรณ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่า “...ในกรณีป้ายของ ปตท.นี้ เนื่องจาก ปตท.เป็นองค์การที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และปรากฏข้อเท็จจริงตามหนังสือหารือกระทรวงมหาดไทยในเรื่องนี้ว่า ป้ายที่เป็นปัญหานี้เป็นป้ายของ ปตท.ที่ให้ผู้แทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยืมไปติดตั้งโดยได้จัดทำสัญญายืมอุปกรณ์การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมสำหรับผู้แทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไว้ระหว่างกัน ดังนั้น ป้ายของ ปตท.ที่ให้ผู้แทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยืมไปนี้จึงได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีป้ายตามมาตรา 8 (7)*(9) แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้ายฯ แม้ว่าจะมิได้ติดตั้งไว้ที่สำนักงานของ ปตท. หรือสถานีบริการน้ำมันที่ ปตท.ดำเนินการเองก็ตาม...”
เผยปี 2559 ปตท.มีปั๊มน้ำมันทั่วประเทศ 1,625 แห่ง
มีรายงานว่า ปตท.เผยแพร่ข้อมูลจากเว็ปไซด์ถึงทิศทางการทำธุรกิจน้ำมันในปีนี้ 2559 ว่า ทาง ปตท.มีแผนที่จะขยายสถานีบริการน้ำมันทั้งในประเทศ แบ่งเป็นสถานีบริการน้ำมันในประเทศ 100 แห่ง จากปัจจุบันอยู่ที่ 1,450 แห่ง ซึ่งจะทำให้มีสถานีบริการน้ำมันเพิ่มขึ้นเป็น 1,575 แห่ง เมื่อหักจำนวนสถานีบริการที่ต้องปิดกิจการไป 25 แห่ง ซึ่งการลงทุนปั๊มในประเทศจะใช้เงินแห่งละ 30 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีสถานีบริการน้ำมันขนาดเล็ก (คอมแพ็กต์ โมเดล) ในถนนสายรองอีก 50 แห่ง ใช้เงินลงทุน 12-15 ล้านบาทต่อแห่ง หรือต้องใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 3.75 พันล้านบาท
ขณะที่ปัจจุบันประเทศไทยมีข้อมูลจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แยกเป็น 1. องค์การบริหารส่วนจังหวัด 76 แห่ง 2. เทศบาล 2,441 แห่ง เทศบาลนคร30 แห่ง เทศบาลเมือง 178 แห่ง เทศบาลตำบล 2,233 แห่ง 3. องค์การบริหารส่วนตำบล 5,334 แห่ง 4. องค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา) 2 แห่ง รวมทั้งสิ้น 7,853 แห่ง