MGR Online - เลขาฯ ปปง.รับหนังสือโจทก์จี้เอาผิดแก๊งโกง กรุงไทยปล่อยกู้กฤษดามหานคร ชำระหนี้แบงก์กรุงเทพ เมื่อปี 46 หลังศาลมีคำพิพากษา ให้ชำระหนี้ 4.5 พันล้านบาท แต่กลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องในการทำผิดบางคนยังลอยนวล
วันนี้ (23 ธ.ค.) เวลา 10.00 น. นายวันชัย บุนนาค ทนายความ เข้ายื่นหนังสือต่อ พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อให้ทาง ปปง.ดำเนินคดีอย่างตรงไปตรงมากรณีธนาคารกรุงไทยปล่อยสินเชื่อให้แก่กลุ่มบริษัทในเครือกฤษดามหานคร เพื่อการชำระหนี้คืนแก่ธนาคารกรุงเทพ เมื่อเดือน ธ.ค.ปี 2546
นายวันชัยเปิดเผยว่า กรณีของการปล่อยสินเชื่อโดยธนาคารกรุงไทยปล่อยสินเชื่อให้แก่กลุ่มกฤษดามหานคร เพื่อกลับไปรีไฟแนนซ์กับธนาคารกรุงเทพ ซึ่งที่มาของการปล่อยสินเชื่อเพื่อรีไฟแนนซ์นั้นเนื่องจากกลุ่มกฤษดามหานครเป็นหนี้ธนาคารกรุงเทพ โดยช่วงรีไฟแนนซ์ในปี 2546 มีเงินต้นค้างชำระอยู่กว่า 7,800 ล้านบาท และมีดอกเบี้ยค้างชำระกว่า 5,000 ล้านบาท แต่ปรากฏหลักฐานก่อนที่จะมีการอนุมัติสินเชื่อเพียงไม่กี่วัน โดยทางธนาคารกรุงเทพได้ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ฉบับที่ 2 กับกลุ่มกฤษดามหานคร ซึ่งมีเงื่อนไขในสัญญาว่าหากมีการชำระหนี้เสร็จภายในเดือน ธ.ค.ปี 2546 ธนาคารกรุงเทพจะรับชำระหนี้เพียง 4,500 ล้านบาท และก็จะอนุมัติให้ไถ่ถอนหลักประกันที่นำมาจำนองไว้ทั้งหมด
ขณะเดียวกัน จากหลักฐานที่สามารถรวบรวมได้ทั้งหมดปรากฏว่า เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2546 กลุ่มกฤษดามหานครซึ่งเป็นลูกหนี้ที่ไปขอรีไฟแนนซ์กับธนาคารกรุงไทย ได้เบิกเงินกู้วงเงินเกือบ 8,000 ล้านบาท ก่อนนำไปเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้ให้กับธนาคารกรุงเทพเจ้าหนี้เดิมบางส่วนเป็นเงินประมาณ 4,500 ล้าน ก็จะเหลือวงเงินที่ไปขอรีไฟแนนซ์อีกประมาณ 3,500 ล้านบาท วงเงินที่เหลือดังกล่าวตกเป็นข้อสังเกตให้ทางคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ส่งดำเนินคดีอาญาต่อผู้เกี่ยวข้องในส่วนของธนาคารกรุงไทย และกลุ่มกฤษดามหานคร โดยศาลได้มีการพิพากษาตัดสินคดีไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ที่เดินทางมาในวันนี้เพื่อต้องการนำหลักฐานข้อมูลต่างๆ ให้ทาง ปปง.ซึ่งรับผิดชอบพิจารณาคดีทางแพ่งได้ทราบว่า ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกระทำความผิดไม่ได้มีเพียงธนาคารกรุงไทย และกลุ่มกฤษดามหานคร แต่ยังมีกลุ่มบุคคลที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีนี้ และคดีเกี่ยวกับการฟอกเงิน ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) คือ กลุ่มธนาคารกรุงเทพ และผู้บริหารธนาคารกรุงเทพ ที่กระทำการลดหนี้จากจำนวนกว่า 14,000 ล้านบาท พร้อมกับมีการรับชำระหนี้เป็นเงินจำนวน 4,500 ล้านบาท และส่วนที่เหลือก็ยังไม่มีการเรียกเก็บ จึงเห็นว่าทาง ปปง.ก็ควรจะเดินการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา
เบื้องต้น ร.ต.อ.ไพรัตน์ เทศพานิช เลขานุการกรมสำนักงาน ปปง.เป็นตัวแทนรับหนังสือดังกล่าว พร้อมเปิดเผยว่าจะนำเรื่องเสนอต่อเลขาธิการ ปปง.เพื่อดำเนินกาพิจารณาข้อเท็จจริงต่อไป
คดีนี้ อัยการสูงสุด คือ นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี, ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ อดีตประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย, นายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย, กรรมการบริหาร, คณะกรรมการสินเชื่อ,เจ้าหน้าที่สินเชื่อของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน), กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทในเครือกฤษดามหานคร และ 3 บริษัทในเครือกฤษดามหานคร เป็นจำเลยที่ 1-27 ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, ความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงาน ในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502, ความผิด พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505, ความผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และ ความผิด พ.ร.บ.บริษัท มหาชน จำกัด พ.ศ. 2535
คำฟ้องสรุปพฤติการณ์ของจำเลยว่า ผู้บริหารธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้สินเชื่อกลุ่ม บมจ.กฤษดามหานคร ที่มีสถานะอยู่ในกลุ่มลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคาร เนื่องจาก ผอ.ฝ่ายกลั่นกรองสินเชื่อธุรกิจนครหลวง เคยจัดอันดับความเสี่ยงของกลุ่มกฤษดามหานครในอันดับ 5 คือไม่สามารถอนุมัติสินเชื่อให้ได้ แต่ได้มีการอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทในกลุ่มกฤษดามหานครถึง 3 กรณี
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2558 พิพากษาให้จำคุก ร.ท.สุชาย, นายวิโรจน์, นายมัฌชิมา และ นายไพโรจน์ รัตนะโสภา คนละ 18 ปี ตามความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 ม.4 ซึ่งเป็นบทหนักสุด ส่วนจำเลยที่ 5, 8-11, 13-17 ซึ่งเป็นพนักงานของธนาคารกรุงไทย ผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 ม.4 จำคุกจำเลยทั้ง 10 คนในส่วนนี้ คนละ 12 ปี
สำหรับนายวิชัย กฤษดาธานนท์ เจ้าของโครงการหมู่บ้านกฤษดามหานคร และจำเลยที่ 18-27 ซึ่งนิติบุคคล และผู้บริหารบริษัทในเครือกฤษดานคร มีความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 โดยให้ปรับจำเลยที่ 18-22 ซึ่งเป็นนิติบุคคล รายละ 26,000 บาท และให้จำเลยที่ 23-27 จำคุกคนละ 12 ปี และให้จำเลยที่ 20, 25 และ 26 รวมกันคืนเงิน 10,004,467,480 บาท แก่ธนาคารกรุงไทย ผู้เสียหาย
ส่วนจำเลยที่เป็นกลุ่มนักการเมือง คือ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 1 หลบหนีคดี ศาลฎีกาฯ จึงให้ออกหมายจับติดตามตัวมาดำเนินคดี โดยให้จำหน่ายคดีเฉพาะส่วนของนายทักษิณไว้เป็นการชั่วคราว
อ่านข่าวเกี่ยวเนื่อง
ศาลจำคุก 18 ปี อดีตบิ๊กกรุงไทยปล่อยกู้ “กฤษดา” มิชอบ “แม้ว” จำเลยที่ 1 หนีจำหน่ายคดีไว้ก่อน