คดีมหากาพย์ ปปง. สั่งอายัดทรัพย์สิน 9 รายการ สอบเส้นทางการเงิน “สุชาย - วิโรจน์” และพรรคพวก ผู้ต้องหาคดีแบงก์กรุงไทย ปล่อยกู้ 9 พันล้าน ให้ “กฤษดามหานคร” หลังถูกตัดสิน “คดีหลัก” ให้จำคุก 18 ปี ฐานอนุมัติสินเชื่อสร้างความเสียหายให้กับรัฐ ส่อ “ฟอกเงินหรือรับของโจร” เผย คดีนี้มีอายุความ 15 ปี ตั้งแต่ปี 2546 คาดหมดอายุความปี 2561 นี้
วันนี้ (6 ม.ค.) มีรายงานว่า ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงาน ปปง. เรื่อง ให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิจากการกระทำความผิดมูลฐาน ด้วย คณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติในการประชุมครั้งที่ ๒๒/๒๕๕๙ เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๙ ให้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ราย ร้อยโท สุชาย เชาว์วิศิษฐ กับพวก ไว้ชั่วคราวจำนวน ๙ รายการ พร้อมดอกผล มีกำหนดไม่เกิน ๙๐ วัน (เก้าสิบวัน) อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๔ แห่งระเบียบคณะกรรมการธุรกรรมว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายในความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. ๒๕๕๙
จึงขอให้ผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินจากการกระทำความผิดมูลฐานในรายคดีข้างต้น และไม่อาจดำเนินการเพื่อขอคืนทรัพย์สินหรือชดใช้คืนความเสียหายดังกล่าวได้ตามกฎหมายอื่น หรือดำเนินการตามกฎหมายอื่นแล้ว แต่ไม่เป็นผล ยื่นคำร้อง พร้อมหลักฐานแสดงรายละเอียดแห่งความเสียหายและจำนวนความเสียหายที่ได้รับต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงาน ปปง. ภายในกำหนดเวลา ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ ตามแบบคำร้องขอให้ศาลนำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไปคืน หรือชดใช้ให้แก่ผู้เสียหายในความผิดมูลฐานซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ที่ www.amlo.go.th
ประกาศ ณ วันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๐
วนิดา แช่มพวงงาม
พนักงานเจ้าหน้าที่ สํานักงาน ปปง.
มีรายงานว่า ในคดีนี้ได้มีภาคประชาชนเรียกร้องให้รัฐบาลชี้แจงข้อเท็จจริงในกรณี ร้อยโท สุชาย เชาว์วิศิษฐ อดีตประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย นายวิโรจน์ นวลแข อดีตผู้จัดการธนาคารกรุงไทย และผู้บริหารธนาคารกรุงไทย ที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ตัดสินให้จำคุก 18 ปี ฐานอนุมัติสินเชื่อกว่า 9,000 ล้านบาท ให้แก่บริษัท กฤษดามหานคร ที่นำไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว
อย่างไรก็ตาม พบว่า คดีดังกล่าวอาจจะเป็นการฟอกเงิน หรือรับของโจร ที่เป็นคดีอาญาเกี่ยวเนื่องเกี่ยวพันกับการทุจริต (คดีมูลฐานหลัก) ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะผู้ฟ้องไม่มีอำนาจสอบสวน เนื่องจากผู้เกี่ยวข้องตามรายชื่อที่ปรากฏในธุรกรรมการเงินไม่ได้เป็นข้าราชการพนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
โดยคดีนี้ คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ที่ผ่านมา ได้มีมติให้รับโอนสำนวนมาสอบสวนตาม พ.ร.บ. การสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งมีอายุความ 15 ปี เท่ากับยังเหลือเวลาในการสอบสวนจนถึงปี 2561 และ ล่าสุด ปปง. ก็สั่งอายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหาไว้แล้ว โดยคดีนี้ มีผู้แทนจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และผู้แทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมเป็นที่ปรึกษาคณะพนักงานสอบสวนของดีเอสไอ
“ทั้งนี้ ปปง. กำลังเร่งตรวจสอบเส้นทางการเงิน เพื่อติดตามว่าเงินกู้จากแบงก์กรุงไทย ถูกจำหน่ายจ่ายโอนไปให้ใคร โดยเป้าหมายหลักในการสืบค้นทรัพย์สิน จะเป็นที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ของผู้ต้องหา”
สำหรับคดีนี้ เมื่อปลายปี 2559 ภาคประชาชนได้เข้ายื่นหนังสือต่อ พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อให้ทาง ปปง. ดำเนินคดีอย่างตรงไปตรงมา กรณีธนาคารกรุงไทยปล่อยสินเชื่อให้แก่กลุ่มบริษัทในเครือกฤษดามหานคร เพื่อการชำระหนี้คืนแก่ธนาคารกรุงเทพ เมื่อเดือน ธ.ค. ปี 2546
กรณีของการปล่อยสินเชื่อโดยธนาคารกรุงไทย ปล่อยสินเชื่อให้แก่กลุ่มกฤษดามหานคร เพื่อกลับไปรีไฟแนนซ์กับธนาคารกรุงเทพ ซึ่งที่มาของการปล่อยสินเชื่อเพื่อรีไฟแนนซ์นั้น เนื่องจากกลุ่มกฤษดามหานครเป็นหนี้ธนาคารกรุงเทพ โดยช่วงรีไฟแนนซ์ในปี 2546 มีเงินต้นค้างชำระอยู่กว่า 7,800 ล้านบาท และมีดอกเบี้ยค้างชำระกว่า 5,000 ล้านบาท แต่ปรากฏหลักฐานก่อนที่จะมีการอนุมัติสินเชื่อเพียงไม่กี่วัน โดยทางธนาคารกรุงเทพได้ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ฉบับที่ 2 กับกลุ่มกฤษดามหานคร ซึ่งมีเงื่อนไขในสัญญาว่าหากมีการชำระหนี้เสร็จภายในเดือน ธ.ค. ปี 2546 ธนาคารกรุงเทพ จะรับชำระหนี้เพียง 4,500 ล้านบาท และก็จะอนุมัติให้ไถ่ถอนหลักประกันที่นำมาจำนองไว้ทั้งหมด
ขณะเดียวกัน จากหลักฐานที่สามารถรวบรวมได้ทั้งหมด ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2546 กลุ่มกฤษดามหานครซึ่งเป็นลูกหนี้ที่ไปขอรีไฟแนนซ์กับธนาคารกรุงไทย ได้เบิกเงินกู้วงเงินเกือบ 8,000 ล้านบาท ก่อนนำไปเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้ให้กับธนาคารกรุงเทพเจ้าหนี้เดิมบางส่วนเป็นเงินประมาณ 4,500 ล้าน ก็จะเหลือวงเงินที่ไปขอรีไฟแนนซ์อีกประมาณ 3,500 ล้านบาท วงเงินที่เหลือดังกล่าวตกเป็นข้อสังเกตให้ทางคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ส่งดำเนินคดีอาญาต่อผู้เกี่ยวข้องในส่วนของธนาคารกรุงไทย และ กลุ่มกฤษดามหานคร โดยศาลได้มีการพิพากษาตัดสินคดีไปแล้ว
ภาคประชาชนกลุ่มนี้ยังได้นำหลักฐานข้อมูลต่างๆ ให้ทาง ปปง. ซึ่งรับผิดชอบพิจารณาคดีทางแพ่งได้ทราบว่า ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกระทำความผิดไม่ได้มีเพียงธนาคารกรุงไทย และ กลุ่มกฤษดามหานคร แต่ยังมีกลุ่มบุคคลที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีนี้ และคดีเกี่ยวกับการฟอกเงิน ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) คือ กลุ่มธนาคารกรุงเทพ และผู้บริหารธนาคารกรุงเทพ ที่กระทำการลดหนี้จากจำนวนกว่า 14,000 ล้านบาท พร้อมกับมีการรับชำระหนี้เป็นเงินจำนวน 4,500 ล้านบาท และส่วนที่เหลือก็ยังไม่มีการเรียกเก็บ จึงเห็นว่า ทาง ปปง. ก็ควรจะเดินการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา
คดีนี้ อัยการสูงสุด คือ นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี, ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ อดีตประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย, นายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย, กรรมการบริหาร, คณะกรรมการสินเชื่อ, เจ้าหน้าที่สินเชื่อของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน), กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทในเครือกฤษดามหานคร และ 3 บริษัทในเครือกฤษดามหานคร เป็นจำเลยที่ 1 - 27 ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, ความผิด พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดของพนักงาน ในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502, ความผิด พ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505, ความผิด พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และ ความผิด พ.ร.บ. บริษัท มหาชน จำกัด พ.ศ. 2535
คำฟ้องสรุปพฤติการณ์ของจำเลยว่า ผู้บริหารธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้สินเชื่อกลุ่ม บมจ.กฤษดามหานคร ที่มีสถานะอยู่ในกลุ่มลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคาร เนื่องจาก ผอ.ฝ่ายกลั่นกรองสินเชื่อธุรกิจนครหลวง เคยจัดอันดับความเสี่ยงของกลุ่มกฤษดามหานครในอันดับ 5 คือ ไม่สามารถอนุมัติสินเชื่อให้ได้ แต่ได้มีการอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทในกลุ่มกฤษดามหานครถึง 3 กรณี
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2558 พิพากษาให้จำคุก ร.ท.สุชาย, นายวิโรจน์, นายมัฌชิมา และ นายไพโรจน์ รัตนะโสภา คนละ 18 ปี ตามความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 ม.4 ซึ่งเป็นบทหนักสุด ส่วนจำเลยที่ 5, 8-11, 13-17 ซึ่งเป็นพนักงานของธนาคารกรุงไทย ผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 ม.4 จำคุกจำเลยทั้ง 10 คนในส่วนนี้ คนละ 12 ปี
สำหรับ นายวิชัย กฤษดาธานนท์ เจ้าของโครงการหมู่บ้านกฤษดามหานคร และจำเลยที่ 18 - 27 ซึ่งนิติบุคคล และผู้บริหารบริษัทในเครือกฤษดานคร มีความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 โดยให้ปรับจำเลยที่ 18 - 22 ซึ่งเป็นนิติบุคคล รายละ 26,000 บาท และให้จำเลยที่ 23 - 27 จำคุกคนละ 12 ปี และให้จำเลยที่ 20, 25 และ 26 รวมกันคืนเงิน 10,004,467,480 บาท แก่ธนาคารกรุงไทย ผู้เสียหาย
ส่วนจำเลยที่เป็นกลุ่มนักการเมือง คือ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 1 หลบหนีคดี ศาลฎีกาฯ จึงให้ออกหมายจับติดตามตัวมาดำเนินคดี โดยให้จำหน่ายคดีเฉพาะส่วนของนายทักษิณไว้เป็นการชั่วคราว