xs
xsm
sm
md
lg

ปิดตำนาน คตร. “บิ๊กตู่” สั่งยุบ เหตุซ้ำซ้อนองค์กรตรวจสอบ พบ 3 ปี ตรวจงบกว่าแสนล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ปิดตำนาน คตร. “บิ๊กตู่” สั่งยุบคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ที่มี พล.อ.ชาตอุดม ติตถะสิริ เป็นประธานกรรมการ ระบุสาเหตุยุบเพราะปัจจุบันได้มีหน่วยงาน หรือองค์กรภาครัฐ ที่มีอํานาจหน้าที่ตามกฎหมาย หรือได้รับมอบหมายให้ทําหน้าที่ในลักษณะเดียวกันหลายแห่ง เผย คตร.3 ปี เข้าตรวจสอบโครงการงบมากกว่า 1 พันล้านบาท จากคดีดังทั้งงบ สสส.จัดซื้อฝูงบินใหม่การบินไทย วงเงิน 2.4 แสนล้านบาท โครงการผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ 800 ชุมชน 800 เมกะวัตต์ มูลค่า 4 หมื่นล้านบาท และการขยายสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2

วันนี้ (7 ธ.ค.) มีรายงานว่า ราชกิจานุเบกษา เผยแพร่คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 70/2559 เรื่องการยกเลิกคําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 45/2557 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มีใจความว่า

“ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีนโยบายสําคัญและเร่งด่วนในการป้องกันและขจัดปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ เพื่อทําหน้าที่ในการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ โดยมุ่งเน้นที่แผนงาน หรือโครงการที่สําคัญของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ให้เป็นไปด้วยความโปร่งใส และถูกต้องภายใต้กรอบงบประมาณของรัฐ แต่โดยที่ในปัจจุบันได้มีหน่วยงานหรือองค์กรภาครัฐ ที่มีอํานาจหน้าที่ตามกฎหมาย หรือได้รับมอบหมายให้ทําหน้าที่ในลักษณะเดียวกับคณะกรรมการดังกล่าวอีกหลายแห่ง

จึงสมควรปรับปรุงกลไก หรือเครื่องมือในการป้องกันและขจัดปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและลดความซ้ําซ้อน อันเป็นประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดิน อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคําสั่งดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ให้ยกเลิก

(๑) คําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๔๕/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ลงวันที่ ๓ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗

(๒) คําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๒๒/๒๕๕๗ เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๔๕/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๕๗

(๓) คําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๒๓/๒๕๕๗ เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๒๒/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗

(๔) คําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๖/๒๕๕๘ เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๔๕/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๘

(๕) คําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๔/๒๕๕๙ เรื่อง การปรับปรุงองค์ประกอบ คณะกรรมกาติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ลงวันที่ ๑๗ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙

ข้อ ๒ บรรดาบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คําสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรีใดที่อ้างถึงคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ให้ถือว่าอ้างถึงคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติหรือผู้ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย

ข้อ ๓ ในกรณีเห็นสมควรนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีอาจเสนอให้คณะรักษา ความสงบแห่งชาติแก้ไขเปลี่ยนแปลงคําสั่งนี้ได้ ข้อ ๔ คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

สั่ง ณ วันที่ ๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ”

มีรายงานว่า คำสั่งเพื่อยกเลิกคำสั่งทั้ง 5 ฉบับดังกล่าว เป็นการยุบคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ที่มี พล.อ.ชาตอุดม ติตถะสิริ เป็นประธานกรรมการ และมีกรรมการประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นรองประธาน คนที่หนึ่ง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นรองประธาน คนที่สอง ผอ.สำนักงบประมาณ เป็นรองประธาน คนที่สาม, เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, อธิบดีกรมบัญชีกลาง, ผอ.กองประเมินผล สำนักงบประมาณ, เจ้ากรมจเรทหารบก, พล.ต.วิระ โรจนวาศ, ประธานอนุกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ 9 คณะ เป็นกรรมการ ปลัดบัญชีทหารบก เป็นกรรมการ/เลขานุการ, ผู้แทน คสช. เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการคนที่หนึ่ง ผู้แทน คสช. เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการคนที่สอง

โดยคณะกรรมการดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่ ติดตาม และตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐให้เป็นไปด้วยความโปร่งใสและถูกต้องภายใต้กรอบงบประมาณของรัฐ ควบคู่กับการติดตามและตรวจสอบตามปกติของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐ โดยมุ่งเน้นแผนงานหรือโครงการที่สำคัญซึ่งอยู่ในอำนาจของรัฐมนตรีและหัวหน้าส่วนราชการที่มีผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและการพัฒนาประเทศ

มีอำนาจรายงานผลการดำเนินการ และเสนอแนะความเห็นให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติทราบโดยเร็ว เพื่อพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป เสนอแนะเพื่อให้มีการดำเนินการในลักษณะที่เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ ทั้งนี้ ตามระเบียบแบบแผนของทางราชการและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เข้าไปในสถานที่ของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ หรือสถานที่อื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ในการติดตามและตรวจสอบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เชิญข้าราชการ บุคคล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาชี้แจงหรือส่งเอกสารให้ตามความเหมาะสม และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการใดๆ ตามที่คณะกรรมการหรือหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมอบหมาย

ทั้งนี้ ยังรวมถึงการยุบอนุกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ 9 คณะ และคณะอนุกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ประจำกลุ่มกระทรวง จำนวน 6 คณะด้วย

มีรายงานว่า เมื่อปี 2557 คตร.เข้าตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่ที่ยังคงค้างการเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 57 โดยเฉพาะโครงการที่มีมูลค่าเกินกว่า 1 พันล้านบาท ซึ่งมีจำนวน 8 โครงการ และ 1 หน่วยงาน

ขณะที่โครงการที่ คตร.ได้เข้าดำเนินการตรวจสอบ ได้แก่ โครงการซึ่งเป็นแผนงานขนาดใหญ่ที่วงเงินเกิน 1,000 ล้านบาท โดยตรวจสอบโครงการซึ่ง คตร.ได้พิจารณาจากเอกสารผลการรายงานจากฝ่ายต่างๆ เพื่อจัดชุดตรวจไปติดตามและตรวจสอบแล้วจัดทำเป็นข้อเสนอให้หัวหน้า คสช.ต่อไป

โดยพบว่า คตร.ประสบความสำเร็จในการตรวจสอบ เช่น การสรุปผลงบประมาณกว่าพันล้านบาทและยุติการตรวจสอบ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จนนำมาสู่การปลด บอร์ด สสส. ชุดใหญ่, การเข้าไปตรวจสอบสัญญาโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ (IPP) ของบริษัท Independent Power Development ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง บ.กัลฟ์ เอนเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ กับ บ.มิตซุยแอนด์คัมปะนี (ไทยแลนด์) จำกัด กำลังผลิต 5,000 เมกะวัตต์ (MW), การตรวจสอบโครงการทางหลวงที่ล็อกสเปกงานสร้างถนน งบประมาณ 4.5 พันล้านบาท, ตรวจสอบโครงการโมบายแล็บคาร์ กสทช. วงเงิน 11.2 ล้านบาท

ทั้งนี้ ยังมี 8 โครงการที่ คตร.ได้เข้ามาตรวจสอบ ได้แก่ 1. โครงการจัดหารถรุ่นใหม่สำหรับบริการเชิงพาณิชย์ จำนวน 115 คัน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) 2. โครงการจัดหารถจักร จำนวน 126 คัน ของ ร.ฟ.ท. 3. โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 (ปี พ.ศ. 2554 - 2560) ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) 4. โครงการจ้างให้บริการระบบตรวจสอบและคัดกรองผู้โดยสารล่วงหน้าของ ทอท. 5. กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ของสำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน 6. โครงการจัดการเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ของกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งได้สั่งยกเลิกโครงการดังกล่าวแล้ว 7. โครงการสร้างโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ 8. โครงการสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลของ กสทช.

ทั้งนี้ รวมไปถึงโครงการจัดซื้อฝูงบินใหม่ของการบินไทย วงเงิน 2.4 แสนล้านบาท โครงการผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ 800 ชุมชน 800 เมกะวัตต์ มูลค่า 4 หมื่นล้านบาท และการขยายสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 ที่จะใช้งบประมาณปี 2558




กำลังโหลดความคิดเห็น