xs
xsm
sm
md
lg

สิ่งดีๆอีกอย่างที่น่าปลื้ม! รัฐบาลเสนอสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ แต่พระเจ้าอยู่หัวขอให้เอางบนี้สร้างถนนให้ประชาชนดีกว่า!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

ถนนลอยฟ้าบรมราชชนนีและสะพานพระราม ๘
นอกจากทรงบุกป่า ไต่เขา ลุยโคลน เสด็จไปช่วยแก้ปัญหาความเป็นอยู่ของราษฎรในถิ่นทุรกันดารแล้ว แม้แต่ในกรุงเทพฯ ปัญหาการจราจรและน้ำท่วมก็ไม่พ้นพระเจ้าอยู่หัว ทรงถือเป็นพระราชภาระที่จะขจัดปัดเป่าให้เช่นเดียวกับพสกนิกรที่อยู่ในชนบทไกล ทรงทราบว่าการจราจรในกรุงเทพมหานครเป็นเรื่องที่น่าวิตกยิ่ง แน่นขนัดแออัดด้วยรถยนต์ตั้งแต่เช้าจดค่ำ เป็นที่เลื่องลือจนนักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างพากันขยาดที่จะเข้ามาติดอยู่บนถนนด้วย แม้การแก้ปัญหาเรื่องนี้จะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลโดยตรง แต่ทรงใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญในสถานภาพประชาชนชาวไทยคนหนึ่ง พระราชทานพระราชดำริในเรื่องนี้ ทรงแนะนำรัฐมนตรีที่มีหน้าที่ควบคุมด้านการจราจร ให้ร่วมมือกันทำงานเพื่อแก้ปัญหา มีพระราชดำรัสว่า

“ไม่ว่าจะมีการปฏิรูปการเมืองอย่างไรก็ตาม ก็ยังช่วยแก้ปัญหาไม่ได้ เราต้องร่วมมือกันเพื่อจะแก้ปัญหา”

ในปี ๒๕๑๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสถาม พล.ต.ประถม บูรณศิริ ผู้อำนวยการกองวางแผน กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ถึงการจัดระบบทางหลวงเพื่อรองรับปัญหาการจราจรของกรุงเทพฯเนื่องจากการขยายตัวของเมือง พล.ต.ประถมกราบบังคมทูลเรื่องระบบ “ริง แอนด์ เรเดียล” (Ring & Radial) คือตัดถนนเป็นวงแหวนรอบกรุงเทพฯ ประมาณ ๒ หรือ ๓ รอบ และมีถนนพุ่งจากศูนย์กลางไปรอบทิศตัดกับวงแหวน โดยที่ถนนวงแหวนบางช่วงใช้แนวถนนเดิม ปรับให้ได้มาตรฐานเดียวกับถนนที่สร้างขึ้นใหม่

ต่อมาในปี ๒๕๑๔ รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร มีความประสงค์จะสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสรัชดาภิเษกสมโภชทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๒๕ ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชประสงค์จะให้สร้างถนนวงแหวนที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนแทน
วันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๑๔ เมื่อเสร็จการพระราชพิธีรัชดาภิเษกแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปวางศิลาฤกษ์ถนนวงแหวน ณ บริเวณเชิงสะพานกรุงเทพตัดกับถนนเจริญกรุง พระราชทานชื่อว่า “ถนนรัชดาภิเษก”

ถนนช่วงแรกเป็นส่วนสร้างใหม่ เปิดใช้ได้ในปี ๒๕๑๙ และได้ก่อสร้างร่วมกับปรับปรุงถนนที่มีอยู่เดิมครบ ๔ ช่วง บรรจบเป็นถนนวงแหวนสายแรกเมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๓๖ ใช้เวลาก่อสร้างถึง ๒๓ ปี เป็นถนนคอนกรีตยาว ๔๕ กิโลเมตร กว้าง ๒๕-๕๐ เมตร หรือ ๒-๔ ช่องจราจรพร้อมเกาะกลาง

ถนนรัชดาภิเษกประกอบด้วยถนนที่สร้างขึ้นใหม่และถนนที่ปรับขยายให้ได้มาตรฐาน

ส่วนที่สร้างขึ้นใหม่ ๔ ช่วง ได้แก่
ช่วงที่ ๑ จากถนนสุขุมวิท ถึงสะพานกรุงเทพ
ช่วงที่ ๒ จากแยกมไหสวรรย์ ถึงสามแยกท่าพระ
ช่วงที่ ๓ จากสี่แยกวงสว่าง ถึงแยกรัชวิภา ถนนพหลโยธิน
ช่วงที่ ๔ จากแยกรัชโยธิน ถนนพหลโยธิน ถึงแยก อสมท.
ส่วนที่อยู่ในแนวถนนเดิมและใช้ชื่อถนนเดิม ได้แก่
ถนนจรัลสนิทวงศ์ ช่วงสะพานพระราม ๗ ถึงสี่แยกท่าพระ
ถนนพระรามที่ ๓ ช่วงสะพานกรุงเทพ ถึงคลองเตย
ถนนอโศกมนตรี หรือสุขุมวิท ๒๑ ช่วงถนนสุขุมวิท ถึงถนนเพชรบุรีตัดใหม่
ถนนอโศก-ดินแดง ช่วงถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ถึงถนนพระราม ๙
ถนนวงศ์สว่าง ช่วงสี่แยกวงศ์สว่าง ถึงสะพานพระราม ๗

เมื่อถนนรัชดาภิเษกแล้วเสร็จ ทำให้กาจราจรกรุงเทพมหานครคล่องตัวขึ้นมาก บางช่วงรถวิ่งได้เร็วจนเป็นอันตรายต่อคนข้ามถนน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานพระราชทรัพย์ก่อสร้างสะพานลอยข้ามถนนที่บริเวณหน้าศาลอาญา เปิดใช้เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘

ถนนจากโครงการพระราชดำริอีกสายหนึ่งก็คือ ทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี ทั้งนี้ระหว่างปี ๒๕๓๔-๒๕๓๘ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงพระประชวร และเสด็จพระราชดำเนินไปประทับที่โรงพยาบาลศิริราชหลายครั้ง แต่ละครั้งนาน ๒-๓ เดือน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมอย่างสม่ำเสมอ ได้ทอดพระเนตรเห็นปัญหาการจราจรติดขัดครั้งละนานๆ มีรถจากฝั่งพระนครรอขึ้นสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าจำนวนมาก เมื่อการจราจรจุดนี้ติดขัด จึงส่งผลไปถึงถนนสายอื่นๆในกรุงเทพฯด้วย

ขณะเดียวกันบริเวณสี่แยกอรุณอมรินทร์ตัดกับถนนบรมราชชนนี กับสี่แยกถนนจรัลสนิทวงศ์ที่ตัดกับถนนบรมราชชนนี ก็อยู่ใกล้กันมาก ปริมานรถในย่านนี้จึงคับคั่งระบายขึ้นถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้ามาฝั่งพระนครไม่ทัน

ในปี ๒๕๓๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวร เสด็จพระราชดำเนินไปประทับที่โรงพยาบาลศิริราชหลายครั้ง ระหว่างประทับรับการรักษา ได้มีพระราชดำริหลายประการเกี่ยวกับปัญหาการจราจร รวมทั้งโครงการสร้างทางคู่ขนานลอยฟ้า ถนนบรมราชชนนี ซึ่งเป็นโครงข่ายถนนจตุรทิศ มีพระราชประสงค์ให้กรุงเทพมหานครและหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาจราจร เช่น กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม กรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย ร่วมมือกันสร้างทางคู่ขนานลอยฟ้า ถนนบรมราชชนนี เป็นทางยกระดับสูง ๑๒ เมตร กว้าง ๔ ช่องจราจร ระยะทาง ๑๔ กิโลเมตร คร่อมและคู่ขนานไปกับถนนบรมราชชนนี จากสี่แยกอรุณอมรินทร์ ไปถึงจุดเลยแยกย่านพุทธมณฑลสาย ๒ ไป ๕๐๐ เมตร สร้างขึ้นเมื่อปี ๒๕๓๘ เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรเชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าฝั่งพระนคร ซึ่งส่งผลต่อถึงถนนราชดำเนินและถนนหลานหลวง รวมทั้งฝั่งธนบุรีที่ส่งผลถึงถนนบรมราชชนนีและถนนจรัลสนิทวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินไปวางศิลาฤกษ์คานสะพานเมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๓๙ และเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปทรงเปิดทางคู่ขนานลอยฟ้า ถนนบรมราชชนนี โดยประทับรถยนต์พระที่นั่งไปตามเส้นทางนั้น เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๔๑

ทางคู่ขนานลอยฟ้า ถนนบรมราชชนนี ช่วยระบายรถในพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ ให้ข้ามสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าไปสู่ฝั่งธนบุรี และกระจายไปตามถนนในย่านนั้นได้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันก็ระบายรถที่เคยอัดอยู่ที่สี่แยกอรุณอมรินทร์และแยกจรัลสนิทวงศ์ให้ข้ามมายังฝังพระนครได้ล่องตัวขึ้นมาก

โครงข่ายถนนจตุรทิศ เป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่พัฒนาขึ้นช่วงปี ๒๕๓๘-๒๕๕๐ เป็นเส้นทางคมนาคมที่บางช่วงปรับปรุงจากถนนเส้นเดิม บางช่วงก็สร้างขึ้นใหม่ รวมทั้งทางยกระดับ ในแนวตะวันตก-ตะวันออก และทิศเหนือ-ทิศใต้ ทำให้เกิดเป็นโครงข่ายถนนจตุรทิศ หรือ ๔ ทิศ เพิ่มความคล่องตัวในการเดินทางไปยังมุมเมืองต่างๆของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาการจราจรของกรุงเทพฯในปี ๒๕๓๘ ด้วย อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานโยธา กรุงเทพมหานคร

โครงข่ายถนนจตุรทิศ ทำให้การเดินทางไปมาระหว่างมุมเมืองต่างๆ ไม่ต้องผ่านเข้ามาในพื้นที่ใจกลางเมืองที่การจราจรหนาแน่นติดขัด จากทิศตะวันตก คือทางคู่ขนานลอยฟ้า ถนนบรมราชชนนี ต่อไปยังสะพานพระราม ๘ มุ่งหน้าไปทิศตะวันออกโดยสร้างถนนขึ้นใหม่ในปี ๒๕๓๘ จนถึงปัจจุบัน ๔ ช่วง จนถึงถนนพระราม ๙ ในเขตพื้นที่ตะวันออก คือ

ช่วงที่ ๑ เป็นทางยกระดับบริเวณถนนศรีอยุธยา
ช่วงที่ ๒ ถนนเลียบบึงมักกะสัน
ช่วงที่ ๓ ถนนเลียบบึงมักกะสันถึงแยก อสมท.
ช่วงที่ ๔ ถนนใต้ทางด่วนจากแยก อสมท.ถึงถนนพระราม ๙
โครงข่ายถนนจตุรทิศเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในระบบคมนาคมของประเทศไทย ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างปี ๒๕๓๘-๒๕๕๐ ส่งผลต่อเศรษฐกิจ สังคม อย่างมาก

นอกจากนี้ยังมีถนนวงแหวนอุตสาหกรรม ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อปี ๒๕๕๐ เชื่อมโยงพื้นที่ทางด้านใต้ของกรุงเทพมหานคร ช่วยให้การจราจรพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง

ถนนวงแหวนอุตสาหรรม เกิดจากพระราชดำริในการบรรเทาปัญหาการจราจรในเขตอุตสาหกรรม ประกอบด้วยถนนและสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง ๒๕ กิโลเมตร ก่อสร้างระหว่างปี ๒๕๓๙-๒๕๔๙ เป็นโครงข่ายครอบคลุมเขตอุตสาหกรรมพระประแดง เขตอุตสาหกรรมปู่เจ้าสมิงพราย ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมทางตอนใต้ของกรุงเทพมหานคร กับท่าเรือคลองเตย ส่วนหนึ่งของเส้นทางเป็นสะพานขึงเคเบิล ๒ สะพานต่อเนื่องกัน ซึ่งเป็นแบบใหม่ของสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา มีทางลง ๓ จุด คือที่ถนนปู่เจ้าสมิงพราย ถนนพระรามที่ ๓ และถนนสุขสวัสดิ์ อยู่ในความรับผิดชอบของกรมโยธาธิการ กรมทางหลวงชนบท และกรุงเทพมหานคร

พระราชดำริเกี่ยวกับการสร้างถนนวงแหวนอุตสาหกรรมนี้ เนื่องจากการขนส่งในย่านอุตสาหกรรมแห่งนี้ ไม่มีเส้นทางหลีกเลี่ยงเข้าเมือง ต้องเข้าไปเพิ่มความแออัดให้การจราจรในเมือง ทั้งยังเป็นการทำให้ถนนชำรุดโดยไม่จำเป็น

การสร้างได้แบ่งงานออกเป็น ๓ ส่วน คือ

งานสร้างถนน ระยะทาง ๗.๘ กิโลเมตร เป็นเส้นทางเชื่อมโยงถนนพระรามที่ ๓ ถนนทางรถไฟสายเก่า และถนนปู่เจ้าสมิงพราย

งานสะพาน เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ๒ ช่วงต่อเนื่องกันแห่งแรกของประเทศ เชื่อมถนนปู่เจ้าสมิงพราย ถนนพระรามที่ ๓ และถนนสุขสวัสดิ์ มีความยาว ๔.๒ กิโลเมตร กว้าง ๗ ช่องจราจร สูง ๕๔ เมตร เพื่อให้เรือเดินสมุทรขนส่งสินค้าผ่านลอดได้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์ถนนวงแหวนอุตสาหกรรม ในวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๔๓ และเปิดเดินรถอย่างเป็นทางการในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๙ ช่วยให้การจราจรย่านอุตสาหกรรมแห่งนี้คล่องตัวขึ้นทันที

นอกจากนี้ ยังมีถนนวงแหวนรอบนอกของกรุงเทพมหานครอีกสายหนึ่ง คือ ถนนกาญจนาภิเษก มีระยะทาง ๑๕๖ กิโลเมตร ก่อสร้างระหว่างปี ๒๕๒๒-๒๕๕๐ จากชานเมืองกรุงเทพมหานคร ผ่านจังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ พระนครศรีอยุธยา วนกลับมายังกรุงเทพมหานคร ช่วยเพิ่มความคล่องตัวให้ถนนวงแหวนรอบใน คือถนนรัชดาภิเษก เป็นทางเลือกให้ผู้เดินทางระหว่างจังหวัด เดินทางผ่านกรุงเทพฯโดยไม่ต้องผ่านเข้ามาในเมือง

การก่อสร้างถนนวงแหวนรอบนอกเริ่มขึ้นในปี ๒๕๒๒ ภายหลังได้รับพระราชทานนามว่า “ถนนกาจนาภิเษก” ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี และมีพระราชพิธีกาญจนาภิเษกในปี ๒๕๓๙ ต่อมากรมทางหลวงได้เปลี่ยนหมายเลขทางหลวงของถนนกาญจนภิเษก จากทางหลวงหมายเลข ๓๗ เป็นทางหลวงพิเศษหมายเลข ๙ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ และเนื่องจากถนนวงแหวนรอบนอกผ่านจังหวัดปริมณฑลของกรุงเทพมหานคร ๔ จังหวัด จึงปรับการดูแลรับผิดชอบเข้าสู่ระบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง
ถนนกาญจนาภิเษก แบ่งเป็น ๓ ด้าน ได้แก่

ถนนกาญจนาภิเษกด้านตะวันตก (บางปะอิน-บางขุนเทียน) ระยะทาง ๖๘ กิโลเมตร กว้าง ๑๐-๑๒ ช่องจราจร ปรับปรุงจากแนวถนนเดิม คือถนนตลิ่งชัน-สุพรรณบุรี

ถนนกาญจนาภิเษกด้านตะวันออก (บางปะอิน-บางพลี) ระยะทาง ๖๓ กิโลเมตร กว้าง ๔-๘ ช่องจราจร

ถนนกาญจนาภิเษกด้านใต้ (บางพลี-บางขุนเทียน) ระยะทาง ๓๔ กิโลเมตร เนื่องจากดินในแนวสร้างถนนอ่อนมาก จึงสร้างเป็นทางยกระดับกว้าง ๖-๘ ช่องจราจร เปิดใช้งานเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ ทำให้ถนนวงแหวนรอบนอกบรรจบกันครบทุกด้าน

นอกจากนี้ในเส้นทางวงแหวนรอบนอก ได้มีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ๑ แห่งที่ตำบลบางจาก อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ได้รับนามพระราชทานว่า “สะพานกาญจนาภิเษก”

ส่วนจราจรโครงการพระราชดำริ เกิดขึ้นเมื่อปี ๒๕๓๖ เพื่อให้ตำรวจจราจรสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้า อันเกิดจากการจราจรติดขัดได้ทันท่วงที เช่น ช่วยระบายรถในจุดที่เป็นคอขวด หรือประสานนำทางผู้ป่วยไปโรงพยาบาล แต่ที่ได้รับการชื่นชมจากประชาชนมากก็คือ การช่วยทำคลอดในรถระหว่างทางไปโรงพยาบาล

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงติดตามข่าวสารปัญหาการจราจรของกรุงเทพฯที่เกิดขึ้น อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากเครือข่ายวิทยุตำรวจจราจรที่มีรายงานอยู่ตลอดเวลา มีพระราชประสงค์จะช่วยเหลือประชาชนเป็นการเฉพาะหน้า ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ร่วมกับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท เป็นทุนประเดิม และพระราชทรัพย์อีกหลายครั้งเพื่อให้กรมตำรวจนำไปซื้อรถจักรยานยนต์ ต่อมาได้พัฒนาเป็นจราจรโครงการพระราชดำริ พร้อมพระราชทานแนวทางแก้ไขปัญหาการจราจร ๕ ประการ คือ

๑. แสวงหาแนวทางให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเคารพกฎจราจรและมีมารยาท
๒. ใช้จักรยานยนต์เป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็ว ไปแก้ปัญหาในจุดที่รถติด ทำหน้าที่เสมือนรถนำขบวนเมื่อรถติด
๓. ใช้จักรยานยนต์ช่วยดูแลการจราจรในถนน ให้รถเคลื่อนตัวไปได้เรื่อยๆตามความเหมาะสม
๔. ถนนที่เป็นคอขวด ให้จักรยานยนต์แก้ไขปัญหาให้รถเคลื่อนตัวไป เหมือนเทน้ำออกจากขวด
๕. ให้ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน ให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาการจราจร
กรมตำรวจได้ดำเนินการอบรมตำรวจจราจรตามโครงการหน่วยจราจรเคลื่อนที่เร็ว ด้านการปฐมพยาบาล การประชาสัมพันธ์ การทบทวนตัวบทกฎหมาย และได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๓๖ ปฏิบัติงานช่วยคลี่คลายปัญหาจราจรติดขัด ช่วยเหลือผู้ป่วย ผู้ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ เปิดเส้นทางสู่โรงพยาบาล สนับสนุนการแก้ไขปัญหาการจราจรตามถนนสายหลักในกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะจุดที่บีบแคบเป็นคอขวด ประสานผู้ควบคุมสัญญาณไฟตามแยกและศูนย์วิทยุ เพื่อเร่งระบายรถ ตรวจสอบสภาพการจราจรและปัญหาตามเส้นทาง เพื่อแก้ไขในเบื้องต้นทันที รวมทั้งประสานความร่วมมือระหว่างศูนย์วิทยุตำรวจทุกข่าย รับข้อมูลจากประชาชนทั้งส่วนของ สวพ.๙๑ และ จส.๑๐๐ นอกจากนี้จราจรในโครงการพระราชดำริยังเป็นหน่วยที่ได้รับมอบหมายภารกิจจัดการจราจร และอำนวยความสะดวกการจราจรในบริเวณพระบรมมหาราชวัง บริเวณสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต และภารกิจพิเศษบางประการ

ปัจจุบัน จราจรโครงการพระราชดำริ สังกัดกองกำกับการ ๖ (ปฏิบัติการพิเศษการจราจร) กองบังคับการตำรวจจราจร ถนนศรีอยุธยา มีหน่วยปฏิบัติภารกิจในความรับผิดชอบ ๓ ชุด คือ

๑. ชุดเคลื่อนที่เร็ว ให้ความช่วยเหลือนำผู้ป่วยและสตรีมีครรภ์ใกล้คลอด ให้ไปถึงโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด หากมีการคลอดฉุกเฉิน สามารถช่วยเหลือได้
๒. ชุดอำนวยความสะดวกการจราจร ปฏิบัติหน้าที่ประจำตามตามบริเวณที่การจราจรหนาแน่นในชั่วโมงเร่งด่วน และเป็นสายตรวจในเส้นทางจราจรสำคัญ
๓. ชุดตำรวจช่าง ให้การช่วยเหลือผู้ใช้รถใช้ถนนเมื่อรถยนต์ขัดข้องฉุกเฉิน แก้ไขเบื้องต้น ยกลากให้พ้นการกีดขวางทางจราจร ช่วยเหลือปลดล็อกเบรกรถขนาดใหญ่ เช่นรถประจำทาง

จราจรโครงการพระราชดำริ สามารถพบเห็นได้ในช่วงเวลาเร่งด่วนตามถนนสายสำคัญ เช่น ถนนพญาไท ถนนวิภาวดีรังสิต ถนนพหลโยธิน ฯลฯ เจ้าหน้าที่แต่งกายเช่นเดียวกับตำรวจจราจรทั่วไป มีปลอกแขนสีน้ำเงินเป็นสัญลักษณ์

นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยแก้ปัญหาการจราจรของกรุงเทพฯ ไม่น่าเชื่อว่าจะมีพระมหากษัตริย์องค์ใด ที่ทรงห่วงใยแบกงานเช่นนี้เป็นพระราชภาระไว้ด้วย
ถนนลอยฟ้าบรมราชชนนีช่วงขึ้นจากสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า
ถนนวงแหวนอุตสาหกรรมและสะพาพระราม ๙
ถนนรัชดาภิเษก
กำลังโหลดความคิดเห็น