xs
xsm
sm
md
lg

“ประจิน” ถกกลุ่มพันธมิตรทางธุรกิจสหรัฐฯ เชื่อนโยบายพร้อมรับความท้าทายใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
รองนายกฯ หารือกับกลุ่มพันธมิตรทางธุรกิจสหรัฐอเมริกา เชื่อ การปฏิรูปประเทศต่อเนื่อง นโยบายประเทศไทย 4.0 คือ ช่วยให้ไทยพร้อมรับความท้าทายใหม่ พร้อมพัฒนาแรงงานที่มีความสามารถ ด้าน US-APEC เชื่อมั่นยินดีลงทุนต่อเนื่อง ชื่นชมนโยบาย

เมื่อวานนี้ (19 พ.ย.) พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี หารือกับกลุ่มพันธมิตรทางธุรกิจสหรัฐอเมริกา - เอเปก (U.S. - APEC Business Coalition) สรุปสาระสำคัญการหารือดังนี้ รองนายกรัฐมนตรี มีความยินดีที่ได้พบกับกลุ่มพันธมิตรทางธุรกิจสหรัฐอเมริกา - เอเปก ในวันนี้ ซึ่งมีคณะนักธุรกิจสหรัฐฯ จากกว่า 20 บริษัทชั้นนำจากหลายสาขาธุรกิจ อาทิ เหมืองแร่ พลังงาน การเงิน การตลาด และสุขภาพ เป็นต้น

รองนายกรัฐมนตรี ยินดีที่ได้เป็นตัวแทนนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการหารือในครั้งนี้ ถึงแม้ว่าไทยจะประสบการสูญเสียอันยิ่งใหญ่ แต่ก็ทำให้เห็นและตระหนักได้ว่า ไทยยังมีเพื่อนอยู่ทั่วทุกมุมโลกที่ได้เดินทางมาวางพวงมาลาถวายราชสักการะพระบรมศพ และลงนามแสดงความอาลัย โดยไทยพร้อมร่วมมือกับทุกประเทศ เพื่อเดินหน้าไปสู่ความรุ่งเรืองและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดังที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงให้แนวทางไว้

โอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้กล่าวแบ่งปันความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลกับภาคเอกชน และการเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจโลกของไทย จากการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะมีเสถียรภาพมากขึ้นในปี พ.ศ. 2560 นั้น ประเทศไทยยังคงเดินหน้าสู่ประชาธิปไตยและการปฎิรูปประเทศอย่างรอบด้าน

รองนายกรัฐมนตรี เชื่อมั่นว่า การปฏิรูปประเทศอย่างต่อเนื่อง และกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจใหม่ไทย หรือที่เรียกว่า ประเทศไทย 4.0 จะช่วยให้ไทยพร้อมรับกับความท้าทายใหม่ๆ รวมทั้งใช้ประโยชน์จากโอกาสใหม่ที่จะเกิดขึ้น เพื่อผลประโยชน์ของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

นโยบายประเทศไทย 4.0 คือ ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจของชาติ ที่มุ่งเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ ให้หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง โดยการปฏิรูปด้านการเมือง โดยกำหนด 10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต หรือ S-Curve เพื่อกำหนดแนวทางที่ชัดเจนสำหรับการพัฒนาและความร่วมมืออื่นๆ โครงสร้างพื้นฐาน

รัฐบาลได้ลงทุนเป็นจำนวนมาก เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพ (Physical Infrastructure) และโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล (Digital Infrastructure) ของประเทศ โดยมีแผนที่จะลงทุนกว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการยกระดับและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอีก 5 ปีข้างหน้า ทั้งทางด่วนยกระดับ ถนน รถไฟฟ้าความเร็วสูง และรางคู่ เป็นต้น รวมทั้งขยายระบบการเดินทางขนส่ง ทั้งทางเรือ และอากาศ เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าและบริการเศรษฐกิจดิจิทัล

รัฐบาลมีแผนในการพัฒนา Internet Gateway โดยได้ลงทุนในสายเคเบิลใต้น้ำใยแก้ว ที่จะเชื่อมโยงประเทศไทย กับอินเทอร์เน็ตโดยตรง ซึ่งนี้จะช่วยให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลของอาเซียน นอกจากนี้ รัฐบาลพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ไปยังหมู่บ้านในพื้นที่ชนบท ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถทำการค้าขายได้แบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) และยังได้พัฒนาระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-payment platform) ซึ่งจะช่วยให้การทำธุรกรรมมีความปลอดภัย และลดค่าใช้จ่ายการทำธุรกรรมระหว่างหน่วยงาน ธุรกิจ และบุคคล

โมเดล Thailand 4.0 และ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย การต่อยอด 5 อุตสาหกรรมเดิม ที่มีศักยภาพ (First S-curve) ประกอบด้วย 1) อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 2) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 3) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 4) การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 5) อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร และการเติม 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) ประกอบด้วย 1) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ 2) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ 3) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 4) อุตสาหกรรมดิจิทัล 5) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ทั้ง 10 อุตสาหกรรมดังกล่าว เป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ และเป็นที่สนใจของนักลงทุนทั่วโลก ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของไทยในอนาคต

การอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ

รัฐบาลได้ดำเนินการเพื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความสะดวกในการประกอบธุรกิจ มีการปฏิรูปภาษีและศุลกากร รวมถึงการขจัดปัญหาคอร์รัปชัน ทั้งนี้ รายงานผลการศึกษาเพื่อจัดอันดับความยาก - ง่าย ในการเข้าไปประกอบธุรกิจในประเทศต่างๆ ทั่วโลก หรือ Ease of Doing Business จัดทำโดยธนาคารโลกนั้น ในปีนี้ประเทศไทยได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่ 46 จากเดิมอยู่อันดับที่ 49

การพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม SMEs

SMEs และธุรกิจใหม่ (Startups) เป็นหัวใจหลักของระบบเศรษฐกิจไทย รัฐบาลดำเนินนโยบายการส่งเสริมธุรกิจ SMEs ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และโอกาส รวมถึงเพิ่มความสามารถในการเข้าสู่ตลาด โดยใช้ระบบ E-Commerce

การพัฒนาแรงงานที่มีความสามารถ

การพัฒนาทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากขาดแรงงานที่มีความสามารถ ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงแรงงาน ได้ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อพัฒนาทักษะ ความรู้และความสามารถของแรงงานไทย

โอกาสนี้ US-APEC แสดงความขอบคุณที่รองนายกรัฐมนตรีเปิดโอกาสให้เข้าพบ และได้แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจไทย และกล่าวแสดงความเสียใจต่อความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของประชาชนชาวไทย

US-APEC แสดงความเชื่อมั่นในศักยภาพของไทย และยินดีที่จะลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเห็นว่าไทยเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนที่สำคัญ และมีศักยภาพทางเศรษฐกิจอีกมาก พร้อมแสดงความชื่นชมนโยบายประเทศไทย 4.0 และเศรษฐกิจดิจิทัล ที่เป็นนโยบายสำคัญซึ่งจะช่วยพัฒนาประเทศไทยในอนาคต

ทั้งนี้ กลุ่มพันธมิตรทางธุรกิจสหรัฐอเมริกา - เอเปก เป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรธุรกิจชั้นนำแห่งสหรัฐอเมริกา ในการติดต่อด้านการค้าและเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจของสหรัฐฯ ในภูมิภาคดังกล่าว อีกทั้งยังขยายโอกาสในการเจรจาเรื่องเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงในการประชุม APEC


กำลังโหลดความคิดเห็น