xs
xsm
sm
md
lg

“สุรินทร์” คาดสหรัฐฯ เน้นเจรจาทวิภาคีเพิ่ม ชี้ไทยส่อกระทบส่งออก จี้เร่งสร้าง ศก.อาเซียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน (แฟ้มภาพ)
อดีตเลขาธิการอาเซียน ชี้ตลาดอเมริกาจะปิดมากขึ้น หันไปแก้ปมในชาติ อาจกระทบธุรกิจส่งออกไทย ลงทุนต่างแดนลด ละพึ่งพากรอบพหุภาคี แต่เน้นเจรจาทวิภาคแทน โลกจะกลายเป็นเรื่องตัวใครตัวมัน จี้ไทยปรับตัว เร่งสร้างประชาคม ระบบเศรษฐกิจอาเซียนให้สำเร็จ ทำของให้ติดตลาด อาจพึ่งพาจีนเพิ่ม

วันนี้ (9 พ.ย.) นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวถึงผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ว่าตลาดอเมริกาจะเป็นตลาดปิดมากขึ้น ปกป้องตัวเองมากขึ้น หันไปสนใจปัญหาของตัวเองมากขึ้น ส่วนกลุ่มประเทศอาเซียนที่พึ่งธุรกิจส่งออกจะมีทางเลือกลดลง รวมถึงกรอบความสัมพันธ์ทำงานร่วมกัน กรอบพหุภาคีจะลดความสำคัญลง และจะได้กลายเป็นเรื่องฉายเดี่ยว และมีการเจรจาแบบทวิภาคีมากยิ่งขึ้น กรอบข้อตกลงในอดีต เช่น TPP WTO เป็นต้น ตลอดจนการลงทุนทางการค้าที่ผ่านมาในกลุ่มเสรีนิยมคงจะต้องลดกระแสลง

นายสุรินทร์กล่าวอีกว่า ไทยจะต้องปรับตัวอย่างมาก กลุ่มประเทศอาเซียนจะต้องสร้างระบบเศรษฐกิจอาเซียนให้มีประสิทธิภาพ และมีผลสำเร็จ เพราะเราเป็นประเทศส่งออกด้วยกันทั้งนั้น จะเกิดผลกระทบต่อการลงทุน เกิดการย้ายโรงงาน การจ้างงานในไทย เมื่อสหรัฐฯกลับไปผลิตสินค้าเอง สินค้าของเขาจะมีราคาแพงกว่าเรา วิธีที่เขาจะสู้กับเราได้ คือ ต้องติดตลาด ดังนั้น การส่งออกของเราจะได้รับผลกระทบ การลงทุนที่ได้รับจากสหรัฐฯจะลดลง ไทยจะต้องพึ่งพาตลาดของประเทศจีนมากยิ่งขึ้น แต่กระนั้นจีนก็ไม่สามารถรองรับผลผลิตได้เหมือนอดีต ฉะนั้นจะกลายเป็นได้รับผลกระทบแบบลูกโซ่

นายสุรินทร์กล่าวต่อว่า เรื่องการพัฒนาแหล่งทุนของตัวเองที่ขณะนี้ยังอิหลักอิเหลื่อ เพราะกลุ่มประเทศของเราหวังพึ่งพิงการลงทุนจากต่างประเทศมากกว่า ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน การลงทุนภายในยังรีรอ ไม่เกิดขึ้น เงินจากข้างนอกจะลดลง ทุกประเทศต้องปรับตัวเพื่อรองรับความไม่แน่นอนและการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ตลาดทุนทั่วโลกจะอยู่ในภาวะที่ปั่นป่วนไม่แน่นอน จนกว่าจะเกิดความชัดเจน ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร

“กรอบข้อตกลงพหุภาคีทั้งหลาย กรอบเจรจาจากยุโรปจะชะลอ เพราะฉะนั้นเวทีโลกในด้านเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์จะอยู่ในลักษณะชะงักงัน ไม่รู้จะเดินไปทางไหน ถ้านายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา บอกว่า ต่อไปนี้เขาไม่มีในฐานะที่จะรับภาระให้จีน เกาหลี ไต้หวันแล้วก็จะทำให้เกิดช่องว่าง สุญญากาศทางอำนาจ เราก็ไม่รู้ว่าจีนจะมีปฏิกิริยาอย่างไร แต่ประเทศในภูมิภาคคงจะต้องเฝ้าติดตามและเตรียมตัวรับสถานการณ์อย่างใจจดจ่อ เพราะเป็นการพลิกผันเกินความคาดหวังของทุกคน” อดีตเลขาธิการอาเซียนกล่าว

นายสุรินทร์กล่าวด้วยว่า ไทยจะหวังพึ่งตลาดส่งออกไม่ได้มากนัก ที่เคยคิดว่าจะมีก็อาจตกลง ที่เคยคิดว่ามีอยู่แล้วก็อาจจะไม่เติบโตเท่าเดิม ที่หวังว่าจะเติบโตขึ้นคงต้องร่นระยะเวลาลงจนกว่าสถานการณ์จะมีความชัดเจน เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่น เวทีภูมิภาค เวทีพหุภาคี อาจลดความสำคัญลง และอาจมีการเจาะเป็นรายประเทศแบบทวิภาคีมากขึ้น ประเทศไทยจำเป็นต้องตั้งรับว่าจะวางยุทธศาสตร์อย่างไรในการรับมือสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น จะไม่พึ่งพากลไกต่างๆ ในภูมิภาคที่เราร่วมสร้าง และสหรัฐฯก็มีส่วนร่วมสร้างเช่นกัน ข้อตกลงต่างๆ ที่พยายามสร้างขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องข้อตกลงทะเลจีนใต้ จะลดความสำคัญลง จะกลายเป็นโลกที่แต่ละประเทศปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง ตัวใครตัวมัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้โลกพยายามจะหลีกเลี่ยง อย่างไรก็ตาม 40-50 ปีที่ผ่านมา โลกพยายามจะสร้างเครือข่ายที่เป็นพหุภาคี มีข้อตกลงจากหลายภาคส่วน หลายประเทศสมาชิก เพื่อให้เป็นเอเปก อีสต์เอเชีย เพื่อให้เป็นอาเซียน อีโคโนมิก คอมมูนิตี กลุ่มต่างๆ เหล่านี้จะถูกลดบทบาทลง และสหรัฐฯ จะเดินหน้าฉายเดี่ยว เหมือนประเทศอังกฤษ เมื่อเขาหลุดจากกลุ่มประเทศอียู นายกรัฐมนตรีของเขาก็เดินทางไปแต่ละประเทศขอเจรจาเดี่ยว สหรัฐฯก็จะมาในลักษณะเช่นเดียวกัน

นายสุรินทร์กล่าวเพิ่มเติมว่า อำนาจต่อรองของเราที่เคยหวังว่ากลุ่มอาเซียนจะเป็นฐานอำนาจ เราหวังว่าจะเข้า TPP เพื่อเข้าเป็นส่วนหนึ่งเขตเศรษฐกิจร่วม ความหวังนั้นจะหายไป เรื่องรอการลงทุนที่จะเคลื่อนย้ายมาจะไม่เกิดขึ้น หรือหวังพึ่งตลาดของสหรัฐฯก็จะยากขึ้น เป็นช่วงการปรับตัวและเปลี่ยนโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและเศรษฐกิจที่ค่อนข้างรุนแรง อาเซียนต้องรีบเร่งสร้างประชาคมของตัวเองขึ้นมาทดแทนให้ได้ รีรอไม่ได้ เพราะเราไม่มีทางเลือกที่เคยมีแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น