เมืองไทย 360 องศา
ก่อนอื่นต้องชมเชย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวมทั้งฝ่ายกุนซือทั้งหลายที่สามารถออกมาตรการช่วยเหลือชาวนาด้วยการออกมาตรการช่วยเหลือชาวนาเพื่อให้ชะลอการขายข้าวออกไปก่อน พร้อมกับการปรับปรุงคุณภาพข้าวเพื่อรอการขายให้ได้ราคาในโอกาสเหมาะสม ถือว่าออกมาได้รวดเร็วทันการณ์ และที่สำคัญทำให้ชาวนาส่วนใหญ่พอใจ
เมื่อเริ่มต้นด้วยความน่าพอใจก็ย่อมหมายความว่าม็อบชาวนาจะยังไม่เกิดในช่วงนี้ การจุดพลังด้วยแรงยุด้วยการสร้างเงื่อนไขความไม่พอใจจากราคาข้าวตกต่ำจึงยังไม่มีพลังพอในช่วงเวลาแบบนี้
อย่างไรก็ดี เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันก็ต้องฟังซ้ำถึงมาตรการของรัฐบาลที่เพิ่งออกมาและมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนทันที จากคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ย้ำว่าชาวนาจะได้รับเงินทั้งสิ้น 13,000 บาท ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย โดยมีหลักเกณฑ์การคิด ไม่ใช่เท่าไหร่ก็ได้ ต้องเอาราคามาเฉลี่ยซึ่งตอนนี้ราคาเฉลี่ยอยู่ประมาณ 9,700-12,000 บาท เมื่อคิดคำนวณแล้วราคาค่าเฉลี่ยควรเป็นตันละ 11,000 บาท โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะรับจำนำตามความเห็นชอบของ ครม.9,500 บาท แต่จะเพิ่มเติมค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพให้อีกตันละ 2,000 บาท ค่าขึ้นยุ้งเก็บรักษาตันละ 1,500 บาท รวมเป็น 13,000 บาท แต่หากไม่มียุ้งฉาง รัฐบาลจะช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและค่าปรับปรุงคุณภาพ โดยโอนเงินเข้าบัญชีตันละ 2,000 บาท แต่ไม่ได้ค่าขึ้นยุ้ง
“อันนี้ถือเป็นข้อยุติ หวังว่าพ่อแม่พี่น้องชาวนาคงพอใจระดับหนึ่ง และขอให้เห็นใจรัฐบาลบ้าง เพราะช่วงนี้มีความยากลำบากเกิดขึ้นหลายอย่าง ผลกระทบเกิดจากฝนและอะไรต่างๆ ... สิ่งสำคัญเราต้องช่วยกันคิดว่าจะทำงานในภาคการเกษตรต่อไปอย่างไร หากยังทำแบบเดิมก็มีปัญหา แม้เห็นใจพ่อแม่พี่น้องที่ทุกคนคุ้นเคยตั้งแต่เด็กจนโต ดังนั้นถึงได้บอกว่าเราต้องเรียนรู้ด้วยกัน และมีศูนย์เกษตรทฤษฎีใหม่ ศูนย์ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงศูนย์ปราชญ์ชาวบ้าน ตอนนี้ต้องหาวิธีการปลูกข้าวที่จำนวนไร่น้อยลง แต่ได้ผลผลิตมากกว่าเดิม และต้องดูตารางข้าวโลกในปัจจุบันด้วย อย่ามองแค่ในประเทศอย่างเดียว”
“เราต้องสร้างให้ชาวบ้านเข้มแข็งด้วยตัวเอง ทั้งปลูก ผลิต แปรรูป ขาย ส่วนโรงสีเดิมก็ต้องปรับตัว ทำอย่างไรให้เกิดความสุจริต โดยประชาชนต้องได้รับผลประโยชน์มากที่สุด เกษตรกรเองก็ต้องมีเครื่องมือตรวจสอบโดยกระบวนการท้องถิ่น”
ขณะเดียวกัน มาตรการที่ควบคู่ตามมาก็คือการ “คุมเข้ม” โดยสั่งการให้กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ และ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะลงไปสำรวจทุกโรงสีว่าสิ่งที่ทำมาทั้งหมดก่อนหน้านี้มีอะไรที่แปลกประหลาดแทรกซ้อนหรือเปล่า ถ้าไม่มีก็แล้วไป พร้อมกันนี้ต้องไปดูคลังข้าวที่บางโรงสีอาจเก็บข้าวไว้ตามนโยบายรัฐบาลที่ผ่านมา รับค่าจ้างดูแลข้าวมาเยอะ การดูแลจะดีหรือไม่ดีอย่างไร ก็ต้องไปว่ากันตรงนั้นด้วย ฉะนั้นต้องทำทั้งระบบ เราจะไปว่าใครดีหรือไม่คงลำบาก เพราะคนดีก็มี
“การแก้ไขปัญหาราคาข้าวจะให้พอใจทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์เป็นไปไม่ได้ ขอให้เข้าใจรัฐบาลมีงบประมาณจำกัด สิ่งไหนทำได้ก็ทำ แต่อะไรที่ผิดกฎหมายก็อย่าทำ อย่ามาบอกว่าเคยได้ราคาสูงกว่านี้ประชาชนได้ประโยชน์ แล้วมันผิดกฎหมายหรือไม่ นั่นคือสิ่งที่ต้องระมัดระวัง ถ้าผิดกฎหมายผมทำให้ไม่ได้ สิ่งที่ผมทำนั้นได้ปรึกษาหารือกับฝ่ายกฎหมายแล้วเขาบอกว่าทำได้ เพราะเราไม่ได้ไปช่วยทุกเมล็ดหรือเก็บไว้ในคลังของรัฐ”
ขณะที่ อภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ อธิบายเพิ่มเติมว่า โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2559/2560 จะเริ่มตั้งแต่ 1 พ.ย. 2559 - 28 ก.พ. 2560 หรือประมาณ 5 เดือน โดยมีเป้าหมายเป็นเกษตรกร 2 ล้านราย โดยวงเงินดำเนินการทั้งหมดอยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท โดยรายละเอียดในการดำเนินโครงการทั้งหมดนั้น ธ.ก.ส.จะรับผิดชอบ รวมทั้งหลังจากนี้จะมีมาตรการเสริมเพื่อดูแลเสถียรภาพราคาข้าวด้วย เช่น พาณิชย์จะเข้าไปเข้มงวดกับโรงสีที่ใช้เครื่องตรวจวัดความชื้นของข้าวเพื่อไม่ให้เกิดการเอาเปรียบเกษตรกร รวมถึงมาตรการด้านการตลาดต่างๆ ด้วย
เป็นอันว่าเป็นมาตรการช่วยเหลือชาวนาแบบรวดเร็วและครบทุกองค์ประกอบ นั่นคือใช้ทั้งการแทรกแซงดึงราคาในตลาด งบประมาณเข้ามา ใช้กลไกรัฐ และกำลังพล (ทหาร) เข้ามาตรวจสอบกดดันบรรดาโรงสีของพวกนักการเมืองในท้องถิ่นที่มีเจตนาทุบราคาข้าวเพื่อหวังผลทางการเมืองซึ่งเวลานี้การเมืองที่ว่านั้นก็น่าจะเป็นการเมืองของพวกพรรคเพื่อไทยนั่นแหละ
ดังนั้น หากบอกว่าเป็นการออกมาตรการที่ครบวงจร นั่นคือทั้งช่วยเหลือดึงราคาข้าว เร็ว และมาพร้อมกับการตรวจสอบบรรดาโรงสีตัวแสบในพื้นที่ก็เชื่อว่าทำให้ไม่มีใครกล้าขยับในช่วงนี้
ที่สำคัญสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เน้นย้ำก็คือนี่คือวิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ใช่ไปรับซื้อข้าวทุกเมล็ดเหมือนกับที่รัฐบาลก่อนอ้างว่าเป็นการจำนำ แต่เป็นการคำนวณราคาเฉลี่ย เป็นการจำนำเอาไว้ก่อน หรือชะลอขายและปรับปรุงคุณภาพ (ลดความชื้น)
อย่างไรก็ดี มาตรการที่ออกมาจะสามารถหยุดม็อบการเมืองเอาไว้ได้ เนื่องจากเมื่อพิจารณาจากปฏิกิริยาตอบกลับแล้วส่วนใหญ่พอใจ แต่ก็คงเชื่อว่าไม่ใช่เป็นการถาวร หรือยังไว้วางใจไม่ได้ เพราะเมื่อพิจารณาจากความเป็นจริงที่กำลังเกิดขึ้นก็คือสต๊อกข้าวยังมีอยู่มาก นั่นคือสต๊อกที่ค้างเอาไว้จากโครงการรับจำนำข้าวในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังเหลืออีกกว่า 8 ล้านตัน ขณะเดียวกันอีกไม่นานจะต้องสมทบกับข้าวนาปีที่กำลังจะทะลักออกมาภายในกลางเดือนพฤศจิกายนอีกซึ่งปีนี้ก็มีปริมาณข้าวมากเกินคาดเสียอีก ทั้งที่เจอกับภัยแล้ง มันก็ยังเสี่ยงตราบใดที่ยังไม่อาจระบายข้าวไปได้เร็ว
สิ่งที่ต้องจับตาก็คือ การระบายข้าวของรัฐบาลจะทำได้ดีแค่ไหน รวมไปถึงการเข้ามาช่วยเหลือกลุ่มสหกรณ์ต่างๆ ขายข้าวให้ได้ราคา การใช้กลไกของรัฐ เช่นกองทัพในการรับซื้อเพื่อบริโภค การให้หน่วยงานรัฐวิสากิจ เช่น ปตท.เปิดทางให้กลุ่มชาวนาได้มาขายข้าวสารในปั๊มน้ำมันทั่วประเทศ การสนับสนุนให้ชาวนารวมกลุ่มขายข้าวผ่านโซเชียลฯ ถือว่าเป็นอีกวิธีหนึ่งที่สร้างความเข้มแข็งให้ชาวนาอย่างยั่งยืน ที่สำคัญเป็นการตีฝ่าวงล้อมที่แน่นหนาออกมาจากบรรดานายทุนโรงสีที่เอาเปรียบมานาน และยังลดนิสัยแบมือขอ แต่สอนให้ยืนด้วยลำแข้ง ซึ่งวิธีการที่ดีที่สุดเท่าที่นึกได้ในตอนนี้ก็คือการฟื้นฟูระบบสหกรณ์ตามแนวทางของพระเจ้าอยู่หัว ให้กลับมาใช้การได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกครั้งนั่นเอง
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากแนวทางการช่วยเหลือของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐบาลในเบื้องต้นก็ถือว่ามาถูกทาง และรับรู้ปัญหาของชาวนาและกลไกตลาด ก็ได้แต่ภาวนาว่าในทางปฏิบัติจริงจะไม่เกิดปัญหาจนสรัางเงื่อนไขใหม่ให้ฝ่ายตรงข้ามยกขึ้นมาอ้างปลุกระดมอีกก็แล้วกัน!