xs
xsm
sm
md
lg

มาตรการชะลอขายข้าวเบรกม็อบการเมืองแค่ชั่วคราว-ระวังนาปีทะลัก !!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ก่อนอื่นก็ต้องชมเชย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวมทั้งฝ่ายกุนซือทั้งหลาย ที่สามารถออกมาตรการช่วยเหลือชาวนา เพื่อให้ชะลอการขายข้าวออกไปก่อน พร้อมกับการปรับปรุงคุณภาพข้าว เพื่อรอการขายให้ได้ราคาในโอกาสเหมาะสม ก็ถือว่าออกมาได้รวดเร็วทันการณ์ และที่สำคัญ ทำให้ชาวนาส่วนใหญ่พอใจ
เมื่อเริ่มต้นด้วยความน่าพอใจ มันก็ย่อมหมายความว่าม็อบชาวนาจะยังไม่เกิดในช่วงนี้ การจุดพลังด้วยแรงยุด้วยการสร้างเงื่อนไขความไม่พอใจ จากราคาข้าวตกต่ำ จึงยังไม่มีพลังพอในช่วงเวลาแบบนี้
อย่างไรก็ดี เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันก็ต้องฟังซ้ำถึงมาตรการของรัฐบาลที่เพิ่งออกมา และมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน ทันที จากคำพูดของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ย้ำว่า ชาวนาจะได้รับเงินทั้งสิ้น 13,000 บาท ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย โดยมีหลักเกณฑ์การคิด ไม่ใช่เท่าไหร่ก็ได้ ต้องเอาราคามาเฉลี่ย ซึ่งตอนนี้ราคาเฉลี่ยอยู่ประมาณ 9,700-12,000 บาท เมื่อคิดคำนวณแล้ว ราคาค่าเฉลี่ยควรเป็นตันละ 11,000 บาท โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะรับจำนำตามความเห็นชอบของ ครม. 9,500 บาท แต่จะเพิ่มเติมค่าเก็บเกี่ยว และปรับปรุงคุณภาพให้อีกตันละ 2,000 บาท ค่าขึ้นยุ้งเก็บรักษาตันละ 1,500 บาท รวมเป็น 13,000 บาท แต่หากไม่มียุ้งฉาง รัฐบาลจะช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยว และค่าปรับปรุงคุณภาพ โดยโอนเงินเข้าบัญชี ตันละ 2,000 บาท แต่ไม่ได้ค่าขึ้นยุ้ง
"อันนี้ถือเป็นข้อยุติ หวังว่าพ่อแม่พี่น้องชาวนาคงพอใจระดับหนึ่ง และขอให้เห็นใจรัฐบาลบ้าง เพราะช่วงนี้มีความยากลำบากเกิดขึ้นหลายอย่าง ผลกระทบเกิดจากฝน และอะไรต่างๆ"
"สิ่งสำคัญเราต้องช่วยกันคิดว่าจะทำงานในภาคการเกษตรต่อไปอย่างไร หากยังทำแบบเดิม ก็มีปัญหา แม้เห็นใจพ่อแม่พี่น้องที่ทุกคนคุ้นเคยตั้งแต่เด็กจนโต ดังนั้นถึงได้บอกว่า เราต้องเรียนรู้ด้วยกัน และมีศูนย์เกษตรทฤษฎีใหม่ ศูนย์ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงศูนย์ปราชญ์ชาวบ้าน ตอนนี้ต้องหาวิธีการปลูกข้าวที่จำนวนไร่น้อยลง แต่ได้ผลผลิตมากกว่าเดิม และต้องดูตารางข้าวโลกในปัจจุบันด้วย อย่ามองแค่ในประเทศอย่างเดียว"
"เราต้องสร้างให้ชาวบ้านเข้มแข็งด้วยตัวเอง ทั้งปลูก ผลิต แปรรูป ขาย ส่วนโรงสีเดิม ก็ต้องปรับตัว ทำอย่างไรให้เกิดความสุจริต โดยประชาชนต้องได้รับผลประโยชน์มากที่สุด โดยเกษตรกรเองก็ต้องมีเครื่องมือตรวจสอบโดยกระบวนการท้องถิ่น"
ขณะเดียวกันมาตรการที่ควบคู่ตามมาก็คือการ "คุมเข้ม" โดยสั่งการให้ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ และ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะลงไปสำรวจทุกโรงสี ว่าสิ่งที่ทำมาทั้งหมดก่อนหน้านี้มีอะไรที่แปลกประหลาดแทรกซ้อนหรือเปล่า ถ้าไม่มีก็แล้วไป พร้อมกันนี้ต้องไปดูคลังข้าว ที่บางโรงสีอาจเก็บข้าวไว้ตามนโยบายรัฐบาลที่ผ่านมา รับค่าจ้างดูแลข้าวมาเยอะ การดูแลจะดีหรือไม่ดีอย่างไร ก็ต้องไปว่ากันตรงนั้นด้วย ฉะนั้นต้องทำทั้งระบบ เราจะไปว่าใครดีหรือไม่คงลำบาก เพราะคนดีก็มี
"การแก้ไขปัญหาราคาข้าวจะให้พอใจทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์เป็นไปไม่ได้ ขอให้เข้าใจรัฐบาลมีงบประมาณจำกัด สิ่งไหนทำได้ก็ทำ แต่อะไรที่ผิดกฎหมาย ก็อย่าทำ อย่ามาบอกว่าเคยได้ราคาสูงกว่านี้ประชาชนได้ประโยชน์แล้วมันผิดกฎหมายหรือไม่ นั่นคือสิ่งที่ต้องระมัดระวัง ถ้าผิดกฎหมายผมทำให้ไม่ได้ สิ่งที่ผมทำนั้นได้ปรึกษาหารือกับฝ่ายกฎหมายแล้ว เขาบอกว่าทำได้ เพราะเราไม่ได้ไปช่วยทุกเมล็ด หรือเก็บไว้ในคลังของรัฐ"
ขณะที่ อภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ อธิบายเพิ่มเติมว่า โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2559/2560 จะเริ่มตั้งแต่ 1 พ.ย.59-28 ก.พ.60 หรือประมาณ 5 เดือน มีเป้าหมายเป็นเกษตรกร 2 ล้านราย โดยวงเงินดำเนินการทั้งหมดอยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท รายละเอียดในการดำเนินโครงการทั้งหมดนั้น ธ.ก.ส.จะรับผิดชอบ รวมทั้งหลังจากนี้ จะมีมาตรการเสริมเพื่อดูแลเสถียรภาพราคาข้าวด้วย เช่น พาณิชย์จะเข้าไปเข้มงวดกับโรงสีที่ใช้เครื่องตรวจวัดความชื้นของข้าวเพื่อไม่ให้เกิดการเอาเปรียบเกษตรกร รวมถึงมาตรการด้านการตลาดต่างๆ ด้วย
ก็เป็นอันว่าเป็นมาตรการช่วยเหลือชาวนาแบบรวดเร็วและครบทุกองค์ประกอบ นั่นคือใช้ทั้ง การแทรกแซงดึงราคาในตลาด งบประมาณเข้ามา ใช้กลไกรัฐ และกำลังพล (ทหาร) เข้ามาตรวจสอบกดดันบรรดาโรงสีของพวกนักการเมืองในท้องถิ่น ที่มีเจตนาทุบราคาข้าวเพื่อหวังผลทางการเมือง ซึ่งเวลานี้การเมืองที่ว่านั้นก็น่าจะเป็นการเมืองของพวกพรรคเพื่อไทย นั่นแหละ
ดังนั้น หากบอกว่าเป็นการออกมาตรการที่ครบวงจร นั่นคือ ทั้งช่วยเหลือดึงราคาข้าว เร็ว และมาพร้อมกับการตรวจสอบบรรดาโรงสีตัวแสบในพื้นที่ ก็เชื่อว่าทำให้ไม่มีใครกล้าขยับในช่วงนี้
ที่สำคัญ สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เน้นย้ำก็คือ นี่คือวิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ใช่ไปรับซื้อข้าวทุกเมล็ดเหมือนกับที่รัฐบาลก่อนอ้างว่าเป็นการจำนำ แต่เป็นการคำนวนราคาเฉลี่ย เป็นการจำนำเอาไว้ก่อน หรือชะลอขาย และปรับปรุงคุณภาพ (ลดความชื้น)
อย่างไรก็ดี มาตรการที่ออกมาจะสามารถหยุดม็อบการเมืองเอาไว้ได้ เนื่องจากเมื่อพิจารณาจากปฏิกิริยาตอบกลับแล้วส่วนใหญ่พอใจ แต่ก็คงเชื่อว่าไม่ใช่เป็นการถาวร หรือยังไว้วางใจไม่ได้ เพราะเมื่อพิจารณาจากความเป็นจริงที่กำลังเกิดขึ้นก็คือ สต็อกข้าวยังมีอยู่มาก นั่นคือสต็อกที่ค้างเอาไว้จากโครงการรับจำนำข้าวในยุครัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังเหลืออีกกว่า 8 ล้านตัน ขณะเดียวกัน อีกไม่นานจะต้องสมทบกับข้าวนาปีที่กำลังจะทะลักออกมาภายในกลางเดือนพฤศจิกายนอีก ซึ่งปีนี้ก็มีปริมาณข้าวมากเกินคาดเสียอีก ทั้งที่เจอกับภัยแล้ง มันก็ยังเสี่ยง ตราบใดที่ยังไม่อาจระบายข้าวไปได้เร็ว
ดังนั้น สิ่งที่ต้องจับตาก็คือการระบายข้าวของรัฐบาลจะทำได้ดีแค่ไหน รวมไปถึงการเข้ามาช่วยเหลือกลุ่มสหกรณ์ต่างๆ ขายข้าวให้ได้ราคา การใช้กลไกของรัฐ เช่น กองทัพในการรับซื้อเพื่อบริโภค การให้หน่วยงานรัฐวิสากิจ เช่น ปตท.เปิดทางให้กลุ่มชาวนาได้มาขายข้าวสารในปั๊มน้ำมันทั่วประเทศ การสนับสนุนให้ชาวนารวมกลุ่มขายข้าวผ่านโซเชียลฯ ถือว่าเป็นอีกวิธีหนึ่งที่สร้างความเข้มแข็งให้ชาวนาอย่างยั่งยืน ที่สำคัญเป็นการตีฝ่าวงล้อมที่แน่นหนาออกมาจากบรรดานายทุนโรงสีที่เอาเปรียบมานาน และยังลดนิสัยแบมือขอ แต่สอนให้ยืนด้วยลำแข้ง ซึ่งวิธีการที่ดีที่สุดเท่าที่นึกได้ในตอนนี้ก็คือ การฟื้นฟูระบบสหกรณ์ตามแนวทางของพระเจ้าอยู่หัว ให้กลับมาใช้การได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกครั้งนั่นเอง
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากแนวทางการช่วยเหลือของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐบาลในเบื้องต้นก็ถือว่ามาถูกทาง และรับรู้ปัญหาของชาวนาและกลไกตลาด ก็ได้แต่ภาวนาว่าในทางปฏิบัติจริงจะไม่เกิดปัญหาจนสรัางเงื่อนไขใหม่ให้ฝ่ายตรงข้ามยกขึ้นมาอ้างปลุกระดมอีกก็แล้วกัน !!
กำลังโหลดความคิดเห็น