xs
xsm
sm
md
lg

ค่าครองชีพ-ชาวนา ศึกใหญ่ตั้งเค้าชนรัฐบาล คสช.!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา



คำสั่งด่วนของ กฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 31 ตุลาคม ที่มีไปถึงผู้ว่าราชการทั่งประเทศ ยกเว้นผู้ว่าฯ 14 จังหวัดภาคใต้ สั่งการให้ทำทุกวิถีทาง ทั้งศาสตร์และศิลป์ เพื่อหาทางระงับยับยั้งไม่ให้ชาวนาเคลื่อนไหวประท้วงราคาข้าวที่กำลังตกต่ำอย่างหนักอยู่ในขณะนี้

โดยในคำสั่งดังกล่าวได้ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด แจ้งให้ชาวนาอย่าเพิ่งรีบขายข้าวในช่วงนี้ โดยให้เข้าร่วมโครงการสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ให้ชาวนาชะลอการขายข้าวออกไปเพื่อรอราคาที่เหมาะสม โดยในระหว่างนี้จะได้เงินชดเชยกิโลกรัมละ 10 บาท และให้ชาวนาเก็บรักษาข้าวเอาไว้ให้มีความชื้นที่ระดับ 15 เปอร์เซ็นต์

พิจารณาจากความหมายของคำสั่งดังกล่าว ย่อมพอมองเห็นได้ว่าเวลานี้เริ่มมีการเคลื่อนไหวของทั้งบรรดาที่ได้รับความเดือดร้อนจากราคาข้าวเปลือกตกต่ำที่ตามรายงาน ระบุว่า ตกต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี นั่นก็แสดงว่า พวกเขากำลังเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส ขณะเดียวกัน ในความเดือดร้อนดังกล่าวมันก็ย่อมมีพวก “ชาวนาเทียม” ที่ผสมโรงกันเข้ามา เพื่อเป้าหมายทางการเมืองต้องการฉวยโอกาสถล่มรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยเป้าหมายเฉพาะหน้าเอาแค่ดิสเครดิต หรือถ้าเกิดฟลุ๊กขึ้นมา “จุดติด” ก็เอาถึงขั้นล้มไปเลยก็ยิ่งกำไร

อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ ก็คือ เวลานี้ราคาข้าวตกต่ำจริง ๆ ตกต่ำจนน่าใจหาย ตามรายงาน ราคา ณ วันที่ 26 ต.ค. 2559 ข้าวเปลือกหอมมะลิ ความชื้น 15% จ.บุรีรัมย์ ราคาอยู่ 9,000 บาทต่อตัน ลดลงจากวันที่ 19 ต.ค. 2559 ที่มีราคา 10,000 บาทต่อตัน ส่วนที่ จ.นครราชสีมา ข้าวเปลือกหอมมะลิ ความชื้น 30% วันที่ 26 ต.ค. ราคาอยู่ที่ 6,800 - 7,000 บาท/ตัน ขณะที่ราคา ณ วันที่ 19 ต.ค. ที่ความชื้น 15% อยู่ที่ 9,800 - 10,000 บาทต่อตัน

สำหรับราคาข้าวเปลือกเจ้า 5% ได้ปรับตัวลดลงเช่นกัน โดยราคา ณ วันที่ 26 ต.ค. ข้าวเปลือกเจ้า 5% ความชื้น 15% ที่ จ.สุพรรณบุรี ราคา 7,400 - 7,700 บาทต่อตัน ปรับลดลงจากวันที่ 19 ต.ค. ที่มีราคา 8,700 บาทต่อตัน หรือลดลง 1,000 บาทต่อตันเช่นเดียวกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาซื้อขายข้าวล่วงหน้า ณ เดือน ธ.ค. 2559 โดยเป็นราคาที่ผู้ส่งออกซื้อข้าวสารหอมมะลิจากผู้ประกอบการโรงสีจะอยู่ที่ 15,800 บาทต่อตัน หรือ 15.80 บาท/กิโลกรัม (กก.) เมื่อทอนเป็นราคาข้าวเปลือกหอมมะลิจะอยู่ที่ 8,000 กว่าบาทต่อตัน เนื่องจากราคาส่งออกข้าวหอมมะลิที่ซื้อขายล่วงหน้าต่ำกว่า 500 เหรียญสหรัฐฯต่อตันแล้ว หรืออยู่ที่ประมาณ 490 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ถือว่าเป็นราคาต่ำสุดมากกว่า 10 ปีขึ้นไป เนื่องจากตลาดเกิดภาวะตื่นตระหนกจากผลผลิตข้าวที่เพิ่มมากขึ้นเกือบทุกประเทศ ทำให้มีการกดราคาซื้อข้าว

ขณะที่ราคาส่งออกข้าวขาว 5% ได้ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน โดยราคาซื้อขายล่าสุดอยู่ที่ 347 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน จากการที่ผู้ส่งออกบางรายขายให้กับประเทศญี่ปุ่น ในราคาที่ต่ำมาก และน่าจะเป็นราคาต่ำสุดในรอบ 2 ปี โดยราคาส่งออกข้าวขาว 5% ของไทยในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งแทบจะไม่ห่างกันหรือราคาเท่ากัน คือ ราคาส่งออกข้าวขาว 5% ของไทยอยู่ที่ 350 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน เวียดนาม 350 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน อินเดีย 350 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน และปากีสถาน 345 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน

ถ้าพิจารณาเฉพาะตลาดข้าวในประเทศถือว่าเพียงแค่สัปดาห์สัปดาห์เดียวราคาร่วงมาถึงตันละ 1 พันบาท ขณะที่ข้าวนาปีกำลังทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป ทำให้มีการวิตกกันว่าราคาอาจจะตกลงมาอีก หากรัฐบาลยังไม่มีมาตรการพยุงราคาที่ได้ผล หรือทันเวลา

แน่นอนว่า บรรดาชาวนาที่แท้จริงที่ได้รับความเดือดร้อนเชื่อว่าหากรัฐบาลให้ความช่วยเหลือแบบตรงเป้าก็คงคลายความเดือดร้อน แต่ปัญหาจะอยู่ที่พวก “ชาวนาเทียม” ที่หากินกับชาวนาจริงมากกว่าคนพวกนี้ส่วนใหญ่ก็มักหากินกับ “ทุกข์ของชาวนา” มาเสมอ ในคราบของนักการเมืองที่เสียผลประโยชน์สูญเสียอำนาจ คนพวกนี้จะพยายามไม่ให้เรื่องจบลงง่าย ๆ ซึ่งพวกนี้แหละน่าเป็นห่วง

อย่างไรก็ดี ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติก็ทราบความเคลื่อนไหวดังกล่าวอย่างดี จึงได้เปิดโปงหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (กบข.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ที่ผ่านมา ระบุว่า มีพวกนักการเมืองบางกลุ่มกำลังสมคบกับพวกโรงสีบางแห่งที่เคยได้รับประโยชน์จากโครงการที่ผ่านมากำลังกดราคารับซื้อข้าวจากชาวนา เพื่อหวังผลทางการเมือง ขณะเดียวกัน ได้เตรียมมาตรการเร่งด่วนคือรัฐบาลเตรียมรับซื้อข้าวในราคาที่เหมาะสมและที่ชาวนาพอใจ

สำหรับกลุ่มการเมืองกลุ่มไหนนาทีนี้คงคาดเดากันไม่ยากว่าเป็นกลุ่มไหน ที่กำลังเดือดร้อนลุ้นคุกลุ้นตะรางจากโครงการข้าวในอดีต กำลังเคลื่อนไหวอย่างเต็มที่ เพราะหากทำให้รัฐบาลและคณะรักษาความสงบล้มคว่ำลงไปได้พวกเขาก็มีโอกาสกลับมามีอำนาจอีกรอบ และคดีความต่าง ๆ ก็อาจถูกเป่าออกไปได้ ดังนั้น จึงไม่มีเงื่อนไขใดเข้าทางเท่ากับความเดือดร้อนของชาวนา

ขณะเดียวกัน แม้ว่าเรื่องดังกล่าวมีการเมืองผสมโรงเข้ามา ซึ่งจะว่าไปแล้วไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เพราะมักเกิดขึ้นแบบนี้มาแทบทุกยุคสมัย แต่ตราบใดก็ตามหากชาวนา หรือเกษตรกรขายผลผลิตได้ราคาดี ไม่มีความเดือดร้อน จากเรื่องค่าครองชีพ ไม่มีปัญหาเดือดร้อนเรื่องปากท้องมากนัก พวกเขาก็จะไม่มีทางดิ้นรน หรือตกเป็นเครื่องมือของพวกนักการเมือง ดังนั้น ได้แต่หวังว่าเวลาที่เหลืออยู่ทางฝ่ายรัฐบาลจะสามารถหาทางแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงทีและตรงจุด ไม่เช่นนั้น ก็เสี่ยงจะเกิดเรื่องใหญ่บานปลายได้เหมือนกัน อย่างน้อยก็ทำลายเครดิตลงไปเรื่อย ๆ !!
กำลังโหลดความคิดเห็น