“สมชัย” เปิด 5 ยุทธศาสตร์จัดเลือกตั้งสุจริต สนองพระยุคลบาท “ส่งเสริมคนดี สกัดคนชั่ว” คุมเข้มวัดผลรายงานทุก 3 เดือน เพิ่มเครือข่ายเอกชนสังเกตการณ์เลือกตั้งจาก 25% เป็น 75% ลดหน่วยเลือกตั้งทำไม่ถูกระเบียบให้เหลือ 0.01% จัดตั้งหมู่บ้านปลอดขายเสียง พัฒนาไอทีอำนวยความสะดวกใช้สิทธิ เพิ่มประสิทธิภาพงานสืบสวน สอบเสร็จใน 60 วัน ส่งศาลไม่เกิน 6 เดือน รองรับ รธน.ใหม่
วันนี้ (21 ต.ค.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ตนเปลี่ยนมาทำหน้าที่บริหารกลางได้ดูแลเกี่ยวกับการทำแผนการวางยุทธศาสตร์ การจัดสรรงบประมาณและกลไกการตรวจสอบการทำงานให้ประสบความสำเร็จ จึงได้หารือกับหลายฝ่ายกระทั่งมีแนวทางในการทำงานของ กกต.ในช่วง 1 ปีข้างหน้านี้เป็นการกำหนดยุทธศาสตร์และเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมโดยนำแนวคิดเกี่ยวกับการใช้ตัวชี้วัดในการทำงานว่าเมื่อทำแล้วมีความสำเร็จเพียงใด และสร้างหลักกิโลการตรวจสอบหรือไมล์สโตน กำหนดเป็น 5 ไมล์สโตนทุก 3 เดือน จนครบ 12 เดือน ต้องรายงานผลการทำงานว่าบรรลุเป้าหมายหรือไม่ หลังจากนั้นจะมีการวัดผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นว่าก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้การจัดการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรมอย่างไร โดยได้นำพระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อสนองแนวพระยุคลบาทในตอนหนึ่งว่า “การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้” ดังนั้น ยุทธศาสตร์ของ กกต.จึงมุ่งไปที่การกลั่นกรองบุคคลก่อนเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองด้วยการส่งเสริมคนดีให้ปกครองบ้านเมือง ป้องกันไม่ให้คนไม่ดี คนทุจริตหรือซื้อเสียง ใช้เงินเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งมียุทธศาสตร์สำคัญ 5 เรื่อง ประกอบด้วย
1. ยุทธศาสตร์การสร้างเครือข่ายป้องกันการทุจริตเลือกตั้ง โดยร่วมมือกับเครือข่ายศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาประชาธิปไตยตำบล (ศส.ปชต.) เครือข่าย รด.จิตอาสา เครือข่ายลูกเสือ กกต.และเครือข่ายองค์กรเอกชน ซึ่งที่ผ่านมาเหลือเพียงไม่ถึง 25% ถือว่าน้อยมาก ดังนั้นจึงต้องสร้างโครงสร้างในการจัดการและกลไกในการประสานงานเพื่อกำหนดทิศทางให้เครือข่ายเหล่านี้ช่วยสนับสนุนการทำงานของ กกต.ในการสอดส่องดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม โดยตั้งเป้าว่าจะต้องมีองค์กรเอกชนเข้าร่วมสังเกตการณ์ครบทุกจังหวัด จากเดิมในพื้นที่ภาคใต้ไม่มีเลย และต้องครอบคลุมทุกพื้นที่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของหน่วยเลือกตั้งทั้งประเทศ
2. ยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพนักจัดการเลือกตั้งมืออาชีพ โดยหนึงปีจากนี้ไปจะเตรียมบุคลากรประมาณหนึ่งแสนคนให้เป็นผู้ที่รู้จริง เข้าใจจริง ปฏิบัติได้จริงอย่างมืออาชีพ ซึ่งจะมีการออกประกาศนียบัตรให้เพื่อทำหน้าที่ในหน่วยเลือกตั้ง 1 แสนหน่วยเป็นหลักในหน่วยเลือกตั้ง โดยจะเป็นกลไกที่ช่วยแก้ปัญหาที่หน่วยเลือกตั้งเคยถูกวิจารณ์ในเชิงลบว่าทำหน้าที่ไม่ถูกระเบียบ สิ่งเหล่านี้ต้องเกิดขึ้นไม่เกินร้อยละ 0.01 หรือไม่เกิน 10 หน่วยจาก 1 แสนหน่วย
3. ยุทธศาสตร์จัดตั้งหมู่บ้านปลอดการซื้อสิทธิขายเสียง โดยตั้งเป้าหมายก่อนการเลือกตั้ง ส.ส.ในช่วงปลายปี 2560 ประเทศไทยจะมีหมู่บ้านปลอดการซื้อสิทธิขายเสียง อย่างน้อยหนึ่งหมู่บ้านต่อหนึ่งอำเภอ เป็นการนำร่องเพื่อเป็นต้นแบบให้แก่หมู่บ้านอื่นในการรณรงค์ต่อต้านการซื้อสิทธิขายเสียงอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เฉพาะช่วงที่จะมีการเลือกตั้งเท่านั้น
4. ยุทธศาสตร์การเพิ่มประสิทธิภาพการอำนวยความสะดวกประชาชน โดยกำหนดให้มีการพัฒนาระบบเทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกและสนับสนุนการเลือกตั้งคุณภาพ เช่น การพัฒนาแอปพลิเคชัน ฉลาดเลือกผู้แทน ให้ข้อมูลผู้สมัครและนโยบายพรรคการเมืองแก่ประชาชน การพัฒนาระบบการลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตจังหวัด และนอกราชอาณาจักร ตั้งเป้าหมายมีผู้ลงทะเบียนอย่างน้อย 4 แสนคน อีกทั้งจะมีการทดลองนำร่องการลงคะแนนเลือกตั้งทางอินเทอร์เน็ตสำหรับคนไทยในต่างประเทศจำนวน 3 ประเทศ และมีการเตรียมเครื่องต้นแบบลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์แบบหน้าจอสัมผัสทัชสกรีนซึ่งจะแล้วเสร็จภายใน 6 เดือนนี้
5. ยุทธศาสตร์การเพิ่มประสิทธิภาพสืบสวนสอบสวน การวินิจฉัย และการดำเนินคดีในศาล ซึ่งจะมีการจัดทำหลักสูตรอบรมวิชาชีพ พนักงานสืบสวนสอบสวนและประมวลจริยธรรมจำนวน 3 รุ่น รุ่นละ 110 คน รวม 330 คน เพื่อให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพรองรับกับกฎหมายที่ให้อำนาจ กกต.มากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายว่าหลังอบรมเสร็จสำนวนคดีจากทุกจังหวัดต้องจบในระดับจังหวัดภายใน 60 วัน สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญใหม่จากเดิมที่เคยใช้เวลา 6-7 เดือน และการจัดทำคำวินิจฉัยต้องแล้วเสร็จสามารถยื่นคำร้องต่อศาลก่อนครบกำหนดได้ภายใน 6 เดือน โดยสิ่งที่กำหนดไม่ใช่เป็นเพียงแค่เรื่องของเอกสารแต่เป็นเรื่องที่ปฏิบัติได้จริงและวัดผลลัพธ์ได้ เป็นการกำกับดูแลการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม