xs
xsm
sm
md
lg

“วรงค์” สวน พท.บิดเบือนเรียกค่าเสียหายจำนำข้าว เรียกร้องใช้ กม.เอื้อประโยชน์ตัวเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ (แฟ้มภาพ)
อดีต ส.ส.พิษณุโลก ปชป.ตอกแถลงการณ์เพื่อไทยทุกข้อ ซัดบิดเบือนเรียกค่าเสียหายจำนำข้าวชัดเจน จี้ยอมรับ กม. อย่าสองมาตรฐาน ชี้นโยบายเอื้อทุจริตเตือนไม่ฟังต้องมีคนรับผิดชอบ ป้อง รบ.ไม่ได้ใช้ กม.ยึดทรัพย์ทันที ให้ความเป็นธรรม ม.44 ไม่ได้แทรกแซงคดี ฉะไม่มีใครทำเรียกร้องใช้ กม.ที่เอื้อประโยชน์ตัวเอง

วันนี้ (13 ต.ค.) นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทย ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลยุติการเรียกค่าเสียหายทางแพ่งจากโครงการรับจำนำข้าวว่า ในแถลงการณ์ฉบับนี้มีการกล่าวอ้างอยู่หลายประการ 1. โครงการดังกล่าวเป็นนโยบายของรัฐบาลที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา ไม่อาจใช้เกณฑ์เรื่องกำไรหรือขาดทุนเพื่อกำหนดความเสียหายต่องบประมาณ ประเด็นนี้ถูกพูดซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยการดำเนินนโยบายสาธารณะที่ต้องใช้จ่ายงบประมาณไม่ควรคิดเป็นกำไรขาดทุนนั้นถูกต้อง ไม่มีใครว่า แต่การดำเนินนโยบายที่เอื้อต่อการทุจริต สร้างความเสียหายต่อชาติ และผลประโยชน์ส่วนนี้ไม่ถึงประชาชน หลายหน่วยงานเตือนแล้วเตือนอีกก็ไม่สนใจ ส่วนที่ไม่ถึงมือประชาชนนี่ต่างหากที่ต้องมีผู้รับผิดชอบ 2. การที่รัฐบาลออกคำสั่งทางปกครองเพื่อเรียกค่าเสียหาย ยึด อายัดทรัพย์สินอดีตนายกรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้องได้ทันทีโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมทางศาล จึงเป็นการกระทำที่ขาดความชอบธรรม ตนขอเรียนว่าเรื่องนี้ทางพรรคเพื่อไทยพยายามบิดเบือน เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้ใช้อำนาจในการยึด อายัดทรัพย์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ทันที กฎหมายยังให้โอกาสร้องขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครอง ท้ายที่สุดทุกอย่างก็อยู่ที่ดุลพินิจของศาล

3. ในแถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทยได้ระบุว่าคณะกรรมการดังกล่าวอยู่ในการบังคับบัญชาของรัฐบาลและคสช.ที่สามารถจะชี้นำได้ทุกอย่าง การตรวจสอบและการเรียกค่าเสียหายจึงขาดความเป็นกลาง ตนคิดว่าพรรคเพื่อไทยก็น่าจะรู้ว่า พ.ร.บ.รับผิดทางละเมิดนั้นมีความรัดกุม และให้ความเป็นธรรมอยู่แล้ว จึงกำหนดให้สามารถขอความเป็นธรรมผ่านศาลปกครองได้ภายใน 90 วัน และถ้าคิดว่าคณะกรรมการถูกชี้นำหรือแทรกแซงก็สามารถไปขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครองได้ 4. แทนที่รัฐบาลจะเรียกค่าเสียหายจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์โดยใช้กลไกทางคดีแพ่งปกติ แต่รัฐบาลกลับเลือกที่จะใช้วิธีออกคำสั่งทางปกครอง และอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ซึ่งตนเข้าใจว่าพรรคเพื่อไทยพยายามบิดเบือนว่า พ.ร.บ.รับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ไม่ใช่กฎหมายปกติ แต่กฎหมายดังกล่าวเอาไว้ใช้เรียกค่าเสียหายที่เกิดจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐกรณีประมาทอย่างร้ายแรง ที่สำคัญรัฐบาลควรเป็นผู้เลือกใช้กฎหมายที่มีอยู่ ที่เหมาะกับรูปคดี ข้อเท็จจริงเทียบกับข้อกฎหมาย ไม่ใช่ปล่อยให้จำเลยเป็นฝ่ายเรียกร้องขอเลือกใช้กฎหมาย ส่วนเรื่องมาตรา 44 ก็คงอ้างให้ดูว่าใช้อำนาจแทรกแซงการพิจารณาคดีซึ่งไม่เป็นความจริง เพียงแต่ให้กรมบังคับคดีทำหน้าที่แทนกระทรวงพาณิชย์เท่านั้น และ 5. แถลงการณ์มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมีเนื้อหาขัดหลักการประชาธิปไตย ขัดหลักนิติธรรม อย่างที่เรียนไว้มาตรา 44 ไม่ได้ไปแซกแทรงการพิจารณาคดีแต่อย่างใด น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังมีสิทธิขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครองได้ตามปกติ

“การแสดงออกของพรรคเพื่อไทยมีพฤติกรรมที่ยอมรับกฎหมายบางฉบับ และไม่ยอมรับกฏหมายบางฉบับ พยายามเรียกร้องขอเลือกใช้กฎหมายที่คิดว่าได้ประโยชน์แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งไม่มีที่ไหนเขาทำกัน อยากเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยเคารพกฎหมายทุกฉบับของประเทศ มิฉะนั้นพรรคเพื่อไทยก็จะยิ่งกว่าสองมาตรฐาน กลายเป็นผู้มีอภิสิทธิ์ที่เป็นผู้ขอเลือกใช้กฎหมายกับฝ่ายตนเอง ขณะที่จำเลยคนอื่นไม่มีสิทธิเรียกร้อง ที่สำคัญทุกอย่างก็จบที่กระบวนการของศาลตามที่พรรคเพื่อไทยต้องการ” นพ.วรงค์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น