เมืองไทย 360 องศา
ตามกำหนดเวลาก็ต้องถือว่าอีกไม่นานนักจะต้องมีการประกาศรายชื่อสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพิ่มเติมเข้ามาอีก 30 คน เป็นจำนวน 250 คน หลังจากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ผ่านไปเรียบร้อยแล้ว เป็นการเพิ่มจำนวนจากเดิมที่มีจำนวนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติจำนวน 220
เอาเป็นว่าอีกไม่นานเกินรอก็คงจะเห็นหน้าค่าตากันแล้วว่าจะเป็นใครกันบ้าง และแน่นอนว่าเมื่อมีรายการแบบนี้มันก็ย่อมมีเสียงวิจารณ์ตามมาเป็นเรื่องปกติ มีเสียงเตือนทั้งจากพวกหวังดี พวกหวังดีแต่ประสงค์ร้าย รวมไปถึงพวกที่หวังร้ายล้วนๆ ต่างเริ่มดาหน้าออกมาให้เห็นกันบ้างแล้ว
ส่วนใหญ่เสียงท้วงติงเสียงวิจารณ์พอจับความออกมาว่า “เปลืองงบประมาณ” ไม่มีความจำเป็นเพราะยังเหลือเวลาของรัฐบาลชุดนี้อีกเพียงประมาณ 1 ปี กับอีก 2-3 เดือนเท่านั้น และที่น่าจับตาก็คือเป็นการแต่งตั้งเพื่อรองรับบรรดา “เพื่อนพ้องน้องพี่” ในกองทัพที่เกษียณอายุราชการในปีนี้เพื่อให้มีงานทำและช่วยค้ำจุนรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย เคยชี้แจงเอาไว้ว่ามีความจำเป็นต้องแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพิ่มเติม เนื่องจากในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของรัฐบาลจะมีพระราชบัญญัติมากมายหลั่งไหลเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งแยกเป็นกฎหมายตามนโยบายไม่ต่ำกว่าร้อยฉบับ และกฎหมายที่ต้องออกตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกราว 80 ฉบับ รวมแล้วก็เกือบสองร้อยฉบับ ซึ่งมีเนื้อหาและวันเวลาที่ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จ ดังนั้นจำเป็นต้องใช้บุคลากรจำนวนมาก มีความหลากหลาย การเพิ่มจำนวนจาก 220 คน เป็น 250 คน ถือว่าเป็นจำนวนที่พอสมควร
ที่น่าสนใจก็คือ ในการชี้แจงหลักการและเหตุผลในการยื่นขอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ในประเด็นที่เกี่ยวกับการเพิ่มจำนวนสมาชิกสภานิติบัญญัติฯ ดังกล่าวตัวแทนรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นอกเหนือจาก วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีที่เป็นตัวหลักแล้ว ยังมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมอยู่ด้วย
จะว่าไปแล้ว นอกจากเรื่องการแต่งตั้งจำนวนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพิ่มเติมอีก 30 คนแล้วยังมีเรื่องการ “ปรับคณะรัฐมนตรี” โดยคราวนี้ตามข่าวบอกว่าจะเป็นเพิ่มจำนวนรัฐมนตรีช่วยว่าการอีกสองตำแหน่ง รวมไปถึงการแต่งตั้งรัฐมนตรีใหม่ที่ต้องเข้าบริหารในกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่เพิ่งตั้งขึ้นมาใหม่ โดยจะต้องมีรัฐมนตรีว่าการคนใหม่เข้ามาแทน อุตม สาวนายน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีฯ ที่เพิ่งลาออกไป
ดังนั้น ทั้งสองเรื่องนี้จึงน่าติดตามและจับตาเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีใครติดโผรายการสำคัญทั้งสองรายการดังกล่าว
สำหรับรายการแรกที่เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 30 รายใหม่นั้น ที่ผ่านมาก็มีการแพลมรายชื่อออกมาเป็นรายงานข่าวมาแล้ว บอกว่าแทบทั้งหมดล้วนมาจากกองทัพ มีทั้งพวกนายกทหารที่เกษียณปีนี้และผสมปนเปไปกับพวกที่ยังรับราชการอยู่ มีถึงขั้นระบุชื่อตำแหน่งออกมาให้เห็นเสร็จสรรพ
อย่างไรก็ดี เมื่อยังไม่มีการประกาศรายชื่อออกมามันก็เป็นแค่รายงานข่าว จะไปวิจารณ์ล่วงหน้าก็คงทำได้ไม่เต็มปาก เพราะคนที่แต่งตั้งก็สามารถแก้ตัวได้ว่าก็ยังไม่ประกาศแล้วจะรู้ได้ไง ประมาณนี้ ซึ่งก็ต้องรอกันต่อไป เชื่อว่าอีกไม่นานนักก็จะได้เห็นกันแล้ว รวมทั้งรายชื่อในการปรับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ซึ่งตำแหน่งที่ค่อนข้างแน่นอนที่เกริ่นออกมาก่อนหน้านี้ก็คือ ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนตำแหน่งอื่นที่เหลือยังไม่ชัวร์ เพราะการปรับเที่ยวนี้อาจมีรายการสลับสับเปลี่ยนเก้าอี้รัฐมนตรีในคราวเดียวกันเพื่อความกระชับสอดคล้องกับเวลารัฐบาลที่เหลืออยู่เพียงน้อยนิดหรือไม่ ก็น่าติดตามเหมือนกัน
น่าติดตามเพราะว่าก่อนหน้านี้ วิษณุ เครืองาม เคยชี้แจงในสภาว่าสาเหตุที่ต้องเพิ่มจำนวนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพิ่มเข้ามาอีก 30 คนเพื่อรองรับการออกกฎหมายที่หลั่งไหลเข้ามาเกือบสองร้อยฉบับ ดังนั้นจึงต้องเพิ่มจำนวน สนช.ให้มีความหลากหลาย ซึ่งความหลากหลายที่ว่าจะเป็นแบบหลากหลายสาขาอาชีพ หรือว่าแบบ “หลากหลายกรมกอง”
และหวังว่ารายชื่อ สนช.ที่จะเพิ่มเข้ามาอีก 30 คนที่แม้คงจะปฏิเสธความจริงไม่ได้อยู่แล้วว่าต้องมี “นายทหาร” เข้ามามีสัดส่วนมากที่สุดอยู่แล้ว เพราะนี่คือ “รัฐบาลทหาร” เพียงแต่ว่าคงออกมาไม่น่าเกลียดประเภทเพื่อนพ้องน้องพี่แบบมากันพรึบยกแผง หรือคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่จะเข้ามาเป็นการตั้งรอเพื่อนหรือน้องที่เกษียณฯออกมาเพราะถ้าออกมาแบบนั้น และเกิดขึ้นในช่วงนี้ก็ต้องบอกว่าสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็เตรียมโมโหเอาไว้ล่วงหน้าได้เลย เพราะจะต้องโดนอีกดอกใหญ่แน่นอน!