“สามารถ” เตือนรถไฟฟ้าสีชมพู เสี่ยงโหรงเหรงผู้โดยสารไม่มาก เอกชนไม่กล้าลงทุน กลัวเจ๊ง แนะ รฟม. จัดลำดับเส้นทางตามความต้องการ ปชช. หวั่นซ้ำรอยสายสีม่วง แนะทำสายสีส้มก่อน “มัลลิกา” เสนอ นายกฯ ทวงคืนสมบัติชาติ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาฯ ยกปมไม่สร้างดาวเทียมแทนไทยคม 3 เป็นจุดเริ่มต้น
วันนี้ (2 ต.ค.) นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์” ถึงกรณีที่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กำลังประมูลหาเอกชนมาร่วมลงทุนก่อสร้างและบริหารจัดการเดินรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี วงเงิน 53,490 ล้านบาท โดยเป็นค่างานโยธา 20,135 ล้านบาท ว่า โครงการดังกล่าวมีเส้นทางเริ่มจากบริเวณทางแยกแครายซึ่งเป็นจุดเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - บางใหญ่ วิ่งบนถนนติวานนท์จนถึงห้าแยกปากเกร็ด แล้วเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนแจ้งวัฒนะ ผ่านเมืองทองธานี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ไปเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ - รังสิต ที่แยกหลักสี่ บนถนนวิภาวดี-รังสิต และเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ บริเวณอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญบนถนนพหลโยธิน ต่อจากนั้น จะวิ่งบนถนนรามอินทรา จนถึงมีนบุรี โดยมีปลายทางที่แยกถนนรามคำแหง - ร่มเกล้า ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม รถไฟฟ้าสายนี้เป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail)
นายสามารถ ระบุอีกว่า จากเส้นทางดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ชัดว่า รถไฟฟ้าสายสีชมพู มีเส้นทางเป็นส่วนหนึ่งของวงแหวน ทำหน้าที่ป้อนผู้โดยสารให้กับรถไฟฟ้าสายสีม่วง สีแดง สีเขียว และ สีส้ม เพื่อเดินทางเข้าสู่ตัวเมืองต่อไป กล่าวได้ว่า ผู้โดยสารส่วนใหญ่ต้องการเดินทางเข้าสู่ตัวเมือง มีส่วนน้อยเท่านั้นที่เดินทางระหว่างแคราย - เมืองทองธานี - ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ แจ้งวัฒนะ - มีนบุรี หมายความว่า ผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนใหญ่ จะต้องเปลี่ยนขบวนรถไฟฟ้าอย่างน้อยหนึ่งครั้ง จึงจะสามารถเดินทางเข้าสู่ตัวเมืองได้ ทำให้เกิดความไม่สะดวกและเสียเวลา อีกทั้งตลอดแนวเส้นทางมีแหล่งที่อยู่อาศัย และแหล่งทำงานที่มีคนหนาแน่นเฉพาะที่เมืองทองธานี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ และมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เท่านั้น ด้วยเหตุนี้จะทำให้รถไฟฟ้าสายสีชมพู มีผู้โดยสารไม่มากตามที่ รฟม. ได้คาดการณ์ไว้
“ปริมาณผู้โดยสารตามที่ รฟม. ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาให้ศึกษาไว้ พบว่า ในปีแรกที่เปิดให้บริการ คือ ปี พ.ศ. 2562 ซึ่งถึงเวลานี้เปิดไม่ทันแน่ จะมีผู้โดยสารถึงวันละประมาณ 181,000 คน โดยผมมั่นใจว่า เมื่อสร้างเสร็จ และเปิดให้บริการจริง จะมีผู้โดยสารน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก การประมูลรถไฟฟ้าสายนี้ รฟม. ได้ประกาศเชิญชวนให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน ถึงแม้ว่าจะมีบริษัทซื้อซองเอกสารประกวดราคาหลายรายก็ตาม แต่เมื่อถึงเวลายื่นซองในวันที่ 7 พ.ย. อาจไม่มีบริษัทใดยื่นซอง หรือมีเพียงไม่กี่รายก็ได้ เป็นเพราะเอกชนรู้ดีว่าถ้าเขาลงทุนเป็นสัดส่วนจำนวนมาก จะขาดทุนแน่นอน เนื่องจากจะมีผู้โดยสารน้อย ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ประกอบกับเขาได้เห็นตัวอย่างจากรถไฟฟ้าสายสีม่วง ที่มีผู้โดยสารน้อยมาก ทำให้ รฟม. ต้องแบกภาระการขาดทุนถึงวันละประมาณ 3.5 ล้านบาท”
นายสามารถ ระบุต่อไปว่า ด้วยเหตุนี้ หาก รฟม. ไม่สามารถหาเอกชนมาร่วมลงทุนได้ ตนขอเสนอให้ รฟม. ชะลอการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูไว้ก่อน ไม่ต้องการให้ รฟม. ลงทุนก่อสร้างเองทั้งหมด เพราะจะประสบปัญหาการขาดทุนเช่นเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง เก็บเงินไว้ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายอื่น ที่คาดว่า จะมีผู้โดยสารมากดีกว่า เช่น สายสีส้ม เป็นต้น ทั้งนี้ ตนเห็นด้วยที่รัฐบาลเร่งก่อสร้างรถไฟฟ้าตามแผนแม่บท แต่จะต้องจัดลำดับความสำคัญของเส้นทางเสียใหม่ เส้นทางใดควรสร้างก่อน เส้นทางใดควรสร้างหลัง ไม่ใช่เลือกที่จะสร้างเส้นทางที่ไม่ต้องเวนคืนที่ดิน หรือเวนคืนน้อย แต่จะต้องพิจารณาถึงความต้องการในการเดินทาง ว่า มีผู้โดยสารมากน้อยเพียงใด อย่าสร้างไว้รอผู้โดยสาร เสียดายเงิน
ด้าน น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงเรียกร้องไปยังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อ.ประจินต์ จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ให้เร่งรัดทวงคืนสมบัติชาติตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในหลายคดี โดยขอให้เริ่มจากกระทรวงไอซีที หรือกระทรวงดิจิทัล ในปัจจุบันจากกรณีที่ไม่มีการสร้างดาวเทียมดวงใหม่แทนไทยคม 3 ซึ่งท้ายคำพิพากษา ระบุว่า เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทของผู้มีอำนาจในขณะนั้น แม้ว่าจะมีการยึดทรัพย์ไปแล้ว แต่ความเสียหายของรัฐที่เกิดขึ้น ยังไม่มีการดำเนินการเรียกคืนจากบริษัทเอกชน จึงอยากให้มีการเรียกค่าเสียหายคืนเหมือน เช่น กรณีคดีจำนำข้าว ซึ่งรัฐต้องหาข้อสรุปจากคำพิพากษาโดยตั้งคณะทำงานขึ้นมาดำเนินการ
“เสนอให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีคำสั่งให้บริษัทเอกชนที่ผิดสัญญามาจ่ายค่าเสียหายซึ่งคำนวณแล้วจะเป็นเงินหลายพันล้านบาท โดยกระทรวงไอซีทีต้องดำเนินการ และสั่งการให้เอกชนสร้างดาวเทียมดวงใหม่ชดเชย หรือต้องพิจารณาว่าต้องให้สัมปทานใหม่ เป็นเรื่องที่รัฐต้องหาข้อสรุป เพื่อให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ และต้องดูด้วยว่าหลังจากศาลมีคำพิพากษาแล้วตั้งแต่ปี 2553 มีใครละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ทวงคืนสมบัติชาติบ้างหรือไม่ เพื่อที่จะได้ดำเนินคดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วย” น.ส.มัลลิกา กล่าว