xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะใส” ค้านให้ มท.จัดเลือกตั้ง แนะบูรณาการร่วมสังคม ให้ กกต.เผยคำวินิจฉัยส่วนตน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (แฟ้มภาพ)
รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต ค้านย้อนยุคให้มหาดไทยจัดเลือกตั้ง จวกมักง่าย ไม่สามารถทำให้โหวตเที่ยงธรรมได้ เชื่อมีปัญหามากกว่าเดิม แนะเพิ่มบทบาทประชาสังคมร่วม ให้อิสระจากการเมือง สร้างเครือข่ายเลือกตั้งที่โปร่งใส ไม่ใช่ขอความร่วมมือช่วงสั้นๆ ต้องบูรณาการสร้างตาสับปะรดทั่วไทย และเผยคำวินิจฉัยส่วนตนเหมือนศาลรัฐธรรมนูญ

วันนี้ (18 ก.ย.) นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยที่จะแก้ปัญหารการจัดการเลือกตั้งที่ไม่สุจริต โดยกลับไปใช้กลไกของกระทรวงมหาดไทย และให้ กกต.เป็นแค่ผู้กำกับเท่านั้นแนวคิดนี้แก้ปัญหาแบบมักง่ายและสะท้อนว่าเราไม่สามารถออกแบบกลไกการจัดการเลือกตั้งที่สุจริตเที่ยงธรรมที่มีทางเลือกมากกว่า กกต. หรือมหาดไทย

“ผมไม่ปฏิเสธว่าการจัดการเลือกตั้งโดย กกต.ที่ผ่านมามีปัญหา แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่าการจัดการโดยมหาดไทยก็มีปัญหาไม่น้อยไปกว่ากันหรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ ที่สำคัญถ้าประเมินผลงาน กกต.ในชุดแรกๆ ทำไมได้รับการยอมรับสูงกว่าชุดหลังอันนี้ต่างหากที่ต้องวิเคราะห์และทบทวนเพื่อปรับปรุงการทำงานของ กกต.” นายสุริยะใสกล่าว

นายสุริยะใสกล่าวว่า ถ้าเรายอมรับกันว่ามันมีปัญหาทั้ง 2 ส่วน ก็ต้องหาทางออกที่ 3 ไม่ใช่อยู่ในสภาวะหนีเสือปะจรเข้ กลับไปกลับมาวนในอ่างกันอยู่แบบนี้ ผมเสนอทางที่ 3 คือเพิ่มบทบาทประชาสังคมหรือประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น ทั้งในระดับการจัดการเลือกตั้ง การตรวจสอบทุจริตและไปจนถึงกระบวนการสอบสวนวินิจฉัย เช่น รื้อสัดส่วนที่มาของ กกต.จังหวัดให้หลากหลายและเป็นอิสระจากอิทธิพลทางการเมืองมากกว่านี้ และ กกต.ต้องมีแผนในการจัดตั้งหรือสร้างเครือข่ายการเลือกตั้งที่โปร่งใส เช่น องค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตยหรือพีเน็ต ไม่ใช่ขอความร่วมมือจากประชาชนแค่ช่วงเลือกตั้งสั้นๆ ซึ่งไม่มีประสิทธิภาพจริง ในหลายๆ ประเทศมีกลไกประชาสังคมเข้ามากำกับควบคุมการเลือกตั้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายสุริยะใสกล่าวอีกว่า และในขณะเดียวกันก็สร้างภาคีเครือข่ายในรูปแบบพหุภาคี บูรณาการทุกภาคฝ่าย มีทั้ง กกต.ประชาสังคมและกลไกราชการที่ไม่ใช่แค่มหาดไทยก็สามารถเข้าร่วมได้ ความร่วมมือแบบพหุภาคีนี้จะทำให้เกิดเครือข่ายตาสับปะรดทั่วประเทศไม่ใช่อยู่ในมือหรือผูกขาดโดย กกต.หรือมหาดไทยเท่านั้น และเครือข่ายตาสับปะรดไม่ควรเป็นกลไกเฉพาะกิจ นอกจากนี้ควรให้กระบวนการสอบสวนวินิจฉัยต้องโปร่งใสและอิสระมากกว่านี้ เช่น กำหนดให้ กกต.ต้องเขียนคำวินิจฉัยส่วนตนคล้ายๆ ศาลรัฐธรรมนูญและเปิดเผยเพื่อให้สังคมตรวจสอบคำวินิจฉัยของ กกต.แต่ละคนได้ว่ามีหลักวินิจฉัยที่เป็นเหตุเป็นผลหรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น