ย้อนรอย ไล่ออก! “32 นายก อบต. พื้นที่ มหาสารคาม” ผู้ว่าฯ สารคาม ส่งถึงมือ “พล.อ.ไพบูลย์ - ศอตช.” ชัดร่วมทุจริตสอบบรรจุพนักงานส่วนตำบล ปี 57 หลัง คสช. ใช้ ม.44 ระงับปฏิบัติหน้าที่เพื่อสอบสวนยาวนานกว่า 9 เดือน เผย 32 รายหมดสิทธิ์ลงเล่นการเมืองตลอดชีวิต ผู้ว่าฯ แนบท้ายฟัน แพ่ง อาญา และวินัย คาด เป็นคดีต้น ๆ เข้าสู่กระบวกการพิจารณาของ “ศาลปราบโกง”
ภายหลังการกระชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุม คตช. ครั้งที่ 4/2559 ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2559 พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ได้รับหนังสือด่วนลงวันที่ 2 ก.ย. 2559 จาก นายโชคชัย เดชอมรธัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เรื่อง การสั่งให้นายก อบต. ของจังหวัดมหาสารคาม พ้นจากหน้าที่ หลังกระทำการทุจริตสอบแข่งขันบุคคลเพื่อบรรจุเป็นพนักงานส่วนตำบลรวม 32 ราย
กรณีที่ ทางหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีคำสั่งประกาศรายชื่อรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐอยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติมครั้งที่ 3 ลงวันที่ 5 มกราคม 2559 ให้ระงับการปฏิบัติราชการ หรือหน้าที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลในเขตพื้นที่มหาสารคามรวม 32 ราย เนื่องจากมีพฤติกรรมร่วมกันทุจริตการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุแต่งตั้งบุคคลเป็นพนักงานส่วนตำบลประจำปี 2557
หนังสือส่งถึง ศอตช. ยังระบุว่า ต่อมาทางคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของจังหวัดมหาสารคาม ได้ดำเนินการตรวจสอบแล้ว ปรากฏว่า นายกองค์การบริการส่วนตำบลทั้ง 32 ตำบล ได้กระทำการทุจริตจริง ในการสอบแข่งขันดังกล่าว โดยมีหลักฐานชัดเจน กรณีพฤติการณ์กระทำผิดต่อความไม่สงบเรียบร้อย หรือสวัสดิการของประชาชน หรือละเลยไม่ปฏิบัติตาม หรือไม่ปฏิบัติตาม หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่จริง ผู้ว่าฯ มหาสารคาม จึงได้มีคำสั่งให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลพ้นจากปฏิบัติหน้าที่ทั้ง 32 ราย พร้อมจะได้ดำเนินการทั้งทางแพ่ง อาญา และวินัย
มีรายงานว่า จากหนังสือส่งถึง ศอตช. จะทำให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทั้ง 32 ราย ขาดคุณสมบัติไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีก ตามระเบียบคุณสมบัติทั่วไปตามมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามเบื้องต้นสำหรับพนักงานส่วนตำบล ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2545 ตาม วรรค 12 ไม่เป็นผู้ถูกลงโทษให้ออก หรือปลดออก เพราะกระทำผิดวินัยกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น หรือกฎหมายอื่น
สำหรับ กลุ่มที่ 3 ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ทางหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีคำสั่งประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐอยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติมครั้งที่ 3 ลงวันที่ 5 มกราคม 2559 ให้ระงับการปฏิบัติราชการ หรือหน้าที่ มีรายชื่อดังนี้
1. นายทองใบ บาระพรม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลลาดพัฒนา อำเภอเมืองมหาสารคาม 2. นายสมบูรณ์ คำสอนทา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแอ่ง อำเภอเมืองมหาสารคาม 3. นายธารณ ภักดีสุวรรณ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกก่อ อำเภอเมืองมหาสารคาม 4. นายสัมพันธ์ เนื่องโคตะ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลปะหลาน อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย 5. นายสุคล สีสมัย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเหล่า อำเภอโกสุมพิสัย 6. นายบุญทัน สินธุเสน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขื่อน อำเภอโกสุมพิสัย 7. นายเกริกฤทธิ์ อามาตร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเลิงใต้ อำเภอโกสุมพิสัย
8. นายสวัสดิ์ คำมาตย์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลประชาพัฒนา อำเภอวาปีปทุม 9. นางสาวสมกมล ภูวนกมลกรรม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโนนแดง อำเภอบรบือ 10. นายบัวลา ทัศไพร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดอนงัว อำเภอบรบือ 11. นายวีระศักดิ์ โพธิ์เฮือง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบรบือ อำเภอบรบือ 12. นายสมคิด บุญประสงค์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองโก อำเภอบรบือ 13. นายรัชพล ณไธสง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองกุง อำเภอนาเชือก 14. นายสนั่น บุญคะสีทา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกพระ อำเภอกันทรวิชัย 15. นายทองคำ ชะศรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลมะค่า อำเภอกันทรวิชัย 16. นายอภิชาติ วงศ์อาษา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลขามเฒ่าพัฒนา อำเภอกันทรวิชัย
17. นายธนะสิทธิ์ ฉัตรธนะพานิช นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเชียงยืน อำเภอเชียงยืน 18. นายสุรัชฐ์ จันทะรัง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลยางสีสุราช อำเภอยางสีสุราช 19. นายหมั่น แสงสิทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองแวง อำเภอกุดรัง 20. นายไกรษร มธิศิริกุล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลราษฎร์พัฒนา อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย 21. นายรังสรรค์ จันทร์สุวรรณ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองเตา อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย 22. นายสุภาพ ผาบพุทธา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขวาไร่ อำเภอโกสุมพิสัย 23. นายยุทธภูมิ กุรัตน์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแพง อำเภอโกสุมพิสัย
24. นายประสิทธิ์ สีแก้วสิ่ว นายกองค์การบริหารส่วนตำบลวังยาว อำเภอโกสุมพิสัย 25. นายสุชาติ ถามูลตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบอน อำเภอโกสุมพิสัย 26. ดาบตำรวจ พิเชษฐ ทศช่วย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองคูขาด อำเภอบรบือ 27. นายภูวดล มุลนี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลวังใหม่ อำเภอบรบือ 28. นายสมบูรณ์ นาเพีย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขวาไร่ อำเภอนาเชือก 29. นายกิตติชัย พันธไชย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคันธารราษฎร์ อำเภอกันทรวิชัย 30. นายสวาท ปาธิสัตย์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดงดวน อำเภอนาดูน 31. นายวรวิทย์ ปักกาโล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกู่สันตรัตน์ อำเภอนาดูน และ 32. พันจ่าเอก คมสันต์ บุญศร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองเรือ อำเภอนาเชือก
สำหรับพฤติกรรมดังกล่าว สืบเนื่องจากมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นพนักงานส่วนตำบล จำนวน 31 อบต. โดยแบ่งเป็นใช้ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ เป็นหน่วยงานกลาง จำนวน 19 แห่ง ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานส่วนตำบล 167 คน แต่มีการตรวจคะแนนพบว่า มีผู้สอบผ่านซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการบรรจุแต่งตั้งพนักงานส่วนตำบลเพียง 1 คน และใช้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหน่วยงานกลาง จำนวน 12 แห่ง มีการบรรจุพนักงานส่วนตำบลไปแล้ว 101 คน แต่มีการตรวจคะแนนแล้ว พบว่า มีผู้สอบผ่านซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งเพียง 4 คน
จากกระบวนการสอบของทางจังหวัดมหาสารคาม พบว่า มีกระบวนการที่ถูกกล่าวหาว่า มีการทำกันเป็นเครือข่าย ระบุว่า มีการแก้ไขกระดาษคำตอบ ส่งผลคะแนนที่ไม่ตรงตามจริงให้ อบต. นำไปประกาศรายชื่อผู้สอบผ่าน จากนั้นกลายเป็นว่า “คนสอบไม่ผ่านได้บรรจุ ส่วนคนสอบผ่านกลับไม่ได้บรรจุ” ทั้งนี้ เฉพาะที่ อบต.แวงน่าง พบว่า มีการทุจริต ปลอมแปลงเอกสารประกาศผลคะแนนการสอบภาค ก. และภาค ข. โดยการปลอมแปลงลายมือชื่อและดวงตราประทับของ มรภ.กาฬสินธุ์ ซึ่งกรณีนี้มีการร้องศาลปกครองชั้นต้น จ.ขอนแก่น และศาลฯมีคำสั่งให้เพิกถอนบัญชีรายชื่อผู้สอบได้ โดยปัจจุบัน อบต.แวงน่าง ดำเนินการอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดอยู่
ต่อมา ได้มีการรายงานผลการสอบสวนไปยังคณะกรรมการกลางพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.กลาง) กระทรวงมหาดไทย และคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่กับผู้มีส่วนที่เกี่ยวข้อง และรายงานไปยัง พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะรองประธาน คตช. พิจารณาลงโทษทางปกครองกับผู้บริหาร อบต. ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จนมีการใช้ ม.44 ของหัวหน้า คสช. ตามบัญชีแนบท้ายคำสั่งนี้ ระงับการปฏิบัติราชการ หรือหน้าที่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดำรงตำแหน่งอยู่เป็นการชั่วคราวโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน
นอกจากนี้ ยังโยงไปถึง กลุ่มที่ 1 ผู้บริหารสถานศึกษา คือ นายอร่าม ศิริพันธุ์ หัวหน้าภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ กลุ่มที่ 4 ข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ นายยุทธเดช พลอยสังวาลย์ ท้องถิ่นจังหวัดนครพนม ซึ่งในอดีตเป็น เลขานุการ คณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล จ.มหาสารคาม ที่ถูกตรวจสอบว่า เป็น “หนึ่งในกรรมการผู้จัดสอบการแข่งขัน” ครั้งนั้น
ต่อมาที่ 24 ธ.ค. 2558 มีมติ ก กลาง ให้ อปท.ทั่วประเทศ “ห้ามเปิดสอบชั่วคราว” เป็นผลการประชุมคณะกรรมการ ก กลาง อปท. ร่วมกัน (อบต./ เทศบาล / อบจ.) ในการประชุมครั้งที่ 12 /2558 “มีมติห้าม อปท. ทั่วประเทศ ห้ามเปิดสอบแข่งขันเพื่อสรรหาบุคคลเข้ารับราชการใน อปท. ไม่เกี่ยวกับการสอบภายใน เลือก คัดเลือก เปลี่ยนสายงาน ฯลฯ ที่สามารถดำเนินการได้ตามประกาศหลักเกณฑ์ที่มีตามปกติ”
ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2559 ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ทำหนังสือด่วนมากที่ มท 0809.2/ว 1349 เรื่อง การกำกับการดำเนินการสอบแข่งขันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ภายหลัง กระทรวงมหาดไทย ได้รับแจ้งจาก ผู้ตรวจราชการแผ่นดิน กรณีมีเรื่องร้องเรียนการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการท้องถิ่นอยู่บ่อยครั้ง ว่า ไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล และบางกรณีอาจมีการเรียกรับประโยชน์ทั้งเป็นทรัพย์สินที่เป็นเงินและเป็นรูปแบบอื่น ประกอบกับที่ที่ประชุมร่วม 3 ก. คณะกรรมการกลางพนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัด คณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล คณะกรรมการกลางพนักงานองค์การบริหารส่วนตำบล (ก.จ., ก.ท. และ ก.อบต.) ครั้งที่ 5/2559 เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2559 และ การประชุมคณะกรรมการข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่น ครั้งที่ 6/2559 เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2559 ที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่มี นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน โดยในวาระที่ 4.4 เรื่องเพื่อพิจารณา “การขอกำหนดการจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น( กสถ.)” มีมติให้ยกเลิกมาตรการระงับการสอบแข่งขัน อปท. ชั่วคราวดังกล่าว