มท. จี้ ผู้ว่าฯทั่วประเทศ เข้มงวดป้องกัน “โกงสอบพนักงาน อปท. รอบใหม่” หลังมีมติ กสถ. ยกเลิกมาตรการระงับการสอบแข่งขัน อปท. ชั่วคราว เผย “ผู้ตรวจราชการแผ่นดิน” ทำหนังสือถึงมหาดไทยให้กวดขัน หลังพบส่วนใหญ่ไม่เป็นธรรมาภิบาล เรียกรับประโยชน์ หวั่นซ้ำรอย “โกงสอบ อบต. มหาสารคาม” เผย อปท. ทั่วประเทศ 1,003 แห่ง จ่อขอเปิดสอบ 2,471 อัตรา ในปีนี้
วันนี้ (10 ก.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย ว่า เมื่อวันที่ 7 ก.ค. ที่ผ่านมา ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ทำหนังสือด่วนมากที่ มท 0809.2/ว 1349 เรื่อง การกำกับการดำเนินการสอบแข่งขันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ภายหลัง กระทรวงมหาดไทย ได้รับแจ้งจาก ผู้ตรวจราชการแผ่นดิน กรณีมีเรื่องร้องเรียนการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการท้องถิ่นอยู่บ่อยครั้ง ว่า ไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล และบางกรณีอาจมีการเรียกรับประโยชน์ทั้งเป็นทรัพย์สินที่เป็นเงินและเป็นรูปแบบอื่น ประกอบกับที่ที่ประชุมร่วม 3 ก. คณะกรรมการกลางพนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัด คณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล คณะกรรมการกลางพนักงานองค์การบริหารส่วนตำบล (ก.จ., ก.ท. และ ก.อบต.) ครั้งที่ 5/2559 เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2559 และ การประชุมคณะกรรมการข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่น ครั้งที่ 6/2559 เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2559 ที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่มี นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน
โดยในวาระที่ 4.4 เรื่องเพื่อพิจารณา “การขอกำหนดการจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่นของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น( กสถ.)” มีมติให้ยกเลิกมาตรการระงับการสอบแข่งขัน อปท. ชั่วคราว โดยกระทรวงมหาดไทย ขอให้คณะกรรมการข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ ได้ตรวจสอบความถูกต้องในการดำเนินการสอบแข่งขันของ อปท. ในเขตพื้นที่อย่างเข้มงวด โดยการกวดขัน สอดส่อง และกำกับดูแลให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลตามกฎหมาย
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ที่ประชุมร่วม 3 ก. (ก.จ., ก.ท. และ ก.อบต.) ได้รับทราบรายงานการแจ้งแนวทางปฏิบัติตามมติ ก.จ., ก.ท. และ ก.อบต. ในการประชุม ครั้งที่ 5/2559 เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2559 เรื่อง มาตรการระงับการจัดสอบแข่งขันไว้เป็นการชั่วคราว โดยมีมีติดังนี้
1) ให้ ก.จ.จ., ก.ท.จ. และ ก.อบต.จ. แล้วแต่กรณี ตรวจสอบขั้นตอนการดำเนินการสอบแข่งขัน และกระบวนการอื่นที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องโปร่งใสตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนการสอบแข่งขัน
2) ให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบขั้นตอนการดำเนินการ และข้อมูลการร้องเรียนเกี่ยวกับการสอบแข่งขันในพื้นที่ แล้วเสนอ ก.จ.จ., ก.ท.จ. และ ก.อบต.จ. เพื่อพิจารณาความเหมาะสมในการแจ้งยกเลิกมาตรการระงับการสอบแข่งขัน
3) เมื่อ ก.จ.จ., ก.ท.จ. และ ก.อบต.จ. ไม่พบเหตุการณ์ทุจริต หรือข้อบกพร่อง ก็ให้แจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปได้ โดยจัดทำทะเบียนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับความเห็นชอบ และบัญชีผู้สอบแข่งขันที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการในกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการบรรจุแต่งตั้งหรือรับรองบัญชีต่อไปได้
4) ให้ ก.จ.จ., ก.ท.จ. และ ก.อบต.จ. เผยแพร่ทะเบียนบัญชีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ผ่านการตรวจสอบและไม่ผ่านการตรวจสอบให้ทุกจังหวัดทราบ
5) ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตรวจสอบข้าราชการในสังกัดว่าเป็นบุคคลที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งจากบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ตามข้อ 3) หรือไม่ หากเป็นไปตามข้อ 3) ก็ให้หมายเหตุผลการตรวจสอบในทะเบียนประวัติและระบุหนังสือจังหวัดฉบับลงวันที่ให้ชัดเจน สำหรับกรณีที่เป็นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ที่อยู่ในข่ายยกเลิก ก็ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้นสังกัดออกคำสั่งโดยความเห็นชอบของ ก.จ.จ., ก.ท.จ. และ ก.อบต.จ. เพื่อสั่งให้พ้นจากตำแหน่งหรือพ้นจากราชการแล้วแต่กรณี
มีรายงานด้วยว่า ที่ประชุม มีมติรับหลักการ และเห็นชอบให้ดำเนินการสำรวจตำแหน่งอัตราว่าง และความประสงค์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีความต้องการให้ กสถ. ดำเนินการจัดสอบแข่งขันแทน โดยพบว่า มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แจ้งความประสงค์เข้ามา 1,003 แห่ง และอัตราว่าง (อัตราที่ขอให้ กสถ. จัดสอบบรรจุ) คือ 2,471 อัตรา โดยขั้นตอนการจัดสอบ กสถ. จะเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าการสอบแข่งขันจะจัดขึ้นภายในปี 2559 นี้
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2558 ที่ผ่านมา นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่น (ก.จ.จ. ก.ท.จ. และ ก.อบต. จังหวัด) ได้ทำหนังสือแจ้งให้ประธาน ก.จ.จ. ก.ท.จ. และ ก.อบต. จังหวัด และ ก.เมืองพัทยา รับทราบถึงมาตรการระงับการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว ระบุว่า ตามที่ คณะกรรมการ ก.จ.จ. ก.ท.จ. และ ก.อบต. จังหวัด ได้กำหนดมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับกระบวนการสอบแข่งขัน พ.ศ. 2558 เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โปร่งใส บนพื้นฐานของระบบคุณธรรมและเป็นการป้องกันการทุจริต โดยได้ขอความร่วมมือคณะกรรมการ ก.จ.จ. ก.ท.จ. และ ก.อบต. จังหวัด เข้มงวดกวดขันในการกำกับดูแลการดำเนินการสอบแข่งขันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภายในจังหวัดแล้ว
แต่ปรากฏว่า ในระยะที่ผ่านมา ยังคงมีข้อร้องเรียน หรือการดำเนินการที่ส่อไปในทางทุจริต หรือไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด จนอาจทำให้มีการยกเลิกการสอบแข่งขันขึ้นได้นั้น
สำนักงาน ก.จ.จ. ก.ท.จ. และ ก.อบต. จังหวัด ขอเรียนว่า กจ. ก.ท. และ ก.อบต. ในการประชุมครั้งที่ 12 /2558 เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2558 ได้พิจารณากรณีดังกล่าวแล้ว จึงมีมติว่าเพื่อเป็นการป้องกันมิให้ราชการเสียหายร้ายแรง และผู้สอบแข่งขันได้รับความเดือนร้อนจากผลการสอบแข่งขันที่ถูกยกเลิกเพิกถอน ประกอบกับในขณะนี้อยู่ระหว่างปรับระบบการบริหารงานบุคคลจากระบบจำแนกตำแหน่งตามค่างาน (ระบบซี) เป็นตามความสามารถ (ระบบแท่ง) ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงชื่อตำแหน่งและมาตรฐานกำหนดตำแหน่งอันอาจกระทบต่อเงื่อนไขการบรรจุแต่งตั้งผู้สอบแข่งขันได้ ในตำแหน่งที่ ก.จ. ก.ท. และ ก.อบต. มิได้กำหนดไว้ขึ้นได้
จึงอาศัยอำนาจตามมาตร 17 (11) มาตรา 24 วรรคท้าย มาตรา 26 วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ให้ ก.จ.จ. ก.ท.จ. ก.อบต. จังหวัด ก.เมืองพัทยา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง ระงับการดำเนินการสอบแข่งขันทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะอยู่ในขั้นตอนใด ตั้งแต่การขออนุมัติสอบแข่งขันจนถึงการประกาศผลไปพลางก่อนจนกว่า ก.จ. ก.ท.และ ก.อบต. จะมีมติแจ้งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น รวมทั้งการดำเนินการสอบแข่งขันที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้วให้ระงับการบรรจุแต่งตั้งเช่นเดียวกัน
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า การจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นพนักงานส่วนตำบลหลายแห่ง ระหว่างปี 2556 - 2557 - 2558 พบว่า มีการทุจริตจนมีคำสั่งตามาตรา 44 จากหัวหน้า คสช. ให้ผู้บริหารท้องถิ่นหลายพื้นที่ระงับการปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะในจังหวัดมหาสารคาม ที่ถูกระงับเกือบยกจังหวัด หลังจาก ป.ป.ช. พบว่า มีการเปลี่ยนคะแนนผู้สอบได้ และมีการปลอมลายเซ็นมหาวิทยาลัยที่เป็นหน่วยงานกลางในการจัดสอบ มีผู้ถูกกล่าวหาเป็นนายก อบต. ในพื้นที่ อ.เมือง มหาสารคาม รวมถึงอาจารย์ประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และท้องถิ่นจังหวัดเกี่ยวข้องรวม 34 ราย