อดีต ส.ส.ปชป.ชำแหละโครงการอบรมองค์กรอิสระไม่เหมาะสม เสนอ “ประยุทธ์” ใช้ ม.44 เลิกโครงการ ชี้สร้างเครือข่ายไร้ประโยชน์ต่อชาติ ผลาญงบประมาณ เตรียมล่ารายชื่ออดีต ส.ส.เสนอ “มีชัย” ปฏิรูปองค์กรอิสระ มีกรรมการกลางควบคุมการใช้งบประมาณ หลังพบทำตามอำเภอใจ
วันนี้ (13 ธ.ค.) นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงโครงการอบรมขององค์กรอิสระต่างๆ ว่า เป็นการดำเนินการที่ไม่เหมาะสม เพราะหลักสูตรที่จัดจะเพิ่มปริมาณนักธุรกิจเป็นหลักเพื่อนำประกาศนียบัตรมาสร้างเครือข่ายเท่านั้น เนื่องจากนักธุรกิจเป็นผู้สนับสนุนหลายอย่าง เช่น ของที่ระลึก เวลาไปต่างจังหวัด หรือต่างประเทศ เงินไม่พอ คนเหล่านี้จะสนับสนุน และมีการทำของที่ระลึกบางรุ่นเป็นเข็มขัดทองลงยา ถือว่ารับของเกิน 3 พันบาท ทั้งที่กรรมการองค์กรอิสระควรจะทราบว่ารับไม่ได้ นอกจากนี้ องค์กรอิสระยังเรียนไขว้กันไปไขว้กันมา เดินทางไปต่างประเทศทั้งที่ไม่ทราบว่าประเทศนั้นมีงานเกี่ยวกับองค์กรอิสระนั้นหรือไม่ เช่น ไปดูงานศาลรัฐธรรมนูญประเทศที่ไม่มีศาลรัฐธรรมนูญ เช่น การอบรมรุ่นล่าสุดจะไปประเทศอินเดีย ไม่มั่นใจว่าจะไปสอนประเทศอินเดียให้ตั้งศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ส่วนใหญ่จะมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ใกล้เกษียณไปเรียนเพื่อสร้างเครือข่าย บางคนจัดงานเกษียณพร้อมกับการรับประกาศนียบัตรไม่มีประโยชน์ต่อสังคม เป็นการผลาญเงินผลาญทองเล่น ทั้งนี้ ตนมีรายชื่อผู้อบรมหลักสูตรต่างๆ แต่ไม่มีความปรารถนาที่จะทำให้เกิดความเสียหาย หากต้องการให้ปรับปรุงแก้ไข
“แม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ แต่วันนี้ต้องพูดถึงเพราะการเป็นตุลาการจะให้คุณให้โทษพิพากษาตัดสินคดี แต่มีการจัดอบอรมพิเศษก็มีการสร้างงานสัมพันธ์ 2 เดือนต่อครั้งในบางองค์กรอิสระ ซึ่งกรรมการตุลาการก็ไปนั่งจิบไวน์กับผู้ร้องบ้าง ผู้ถูกร้องที่มาเข้าหลักสูตรอบรมจะทำให้เกิดความยุติธรรมได้อย่างไร ผมไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับการอบรมหลักสูตรพิเศษขององค์กรอิสระและศาล จึงขอเสนอให้นายกรัฐมนตรีใช้มาตรา 44 ยกเลิกจัดอบรมหลักสูตรพิเศษของทั้งองค์กรอิสระ และศาลยุติธรรม รวมทั้ง กทม.ซึ่งมีบางคนเดินทางทุกหลักสูตร เป็นคนที่ขายเครื่องจักรกลให้ กทม.ปีละหลายร้อยล้านบาท ส่วนศาลไม่ควรมีอบรมเพราะจะมีข้อครหานินทาในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการอบรมจนทำให้เกิดคำถามว่าความยุติธรรมตรงที่ไหน” นายวิลาศกล่าว
อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเลิกจ้างนายภุชงค์ นุตราวงศ์ อดีตเลขาธิการ กกต.ที่ออกมาเปิดโปงเกี่ยวกับความไม่โปร่งใสของ กกต.ว่า หลังจากได้รับข้อมูลดังกล่าวก็ไปตรวจสอบองค์กรอิสระอื่นๆ พบว่ามีความเป็นอิสระมากเกินไป เพราะสามารถทำได้เกือบทุกอย่างโดยอาศัยมติองค์กรอิสระหรือตุลาการ เช่น ไปต่างประเทศบ่อยมาก และเอานักธุรกิจเอกชนไปก็เพราะมีส่วนในการสนับสนุนในรายการที่เบิกจ่ายไม่ได้ เมื่อไปดูงานตามโปรแกรมดูงานแค่ครึ่งวันที่เหลือไปดูวัฒนธรรม อยากให้ดู พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรีเป็นตัวอย่างที่ทำงานต่างประเทศเสร็จก็เดินทางกลับมาปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทย ดังนั้น สิ่งที่ทำจึงไม่ใช่การดูงานแต่เป็นการหาเรื่องไป เลือกไปประเทศที่กรรมการองค์กรอิสระหรือตุลาการต้องการไปโดยให้ประเทศนั้นทำหนังสือเชิญมา โดยเริ่มต้นจากหน่วยงานรัฐเป็นคนเชิญ บางทีก็ติดต่อมหาวิทยาลัยให้เชิญเพื่อจะได้เดินทางไปโดยไปทั้งคณะ แต่มีกรรมการบางท่านที่ไม่ยอมไปเลย อย่างไรก็ตาม บางคนไปทุกงานทั้งที่เชิญมาแค่สองคนและยังเอาผู้ติดตามไปด้วย
นอกจากนี้ กรณีที่องค์กรอิสระออกระเบียบตั้งที่ปรึกษาเฉพาะราย ทั้งที่ไม่ต้องตั้งเฉพาะราย อีกทั้งยังมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเฉพาะรายด้วย ถ้าทำเช่นนี้อีกหน่อยศาลยุติธรรมก็จะขอมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำตัวด้วย นอกจากนี้มีการกำหนดอัตราเงินเดือนเองซึ่งที่ผ่านมาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเคยตัดสินให้ ป.ป.ช.มีความผิดกรณีขึ้นเงินเดือนตัวเองมาแล้ว แต่กรณีนี้เป็นการให้เงินเดือนตามมติของตัวเอง และสามารถแปรญัตติงบประมาณได้ด้วยตัวเองใช้มติกรรมการโอนงบประมาณไปทำเรื่องอื่นได้โดยไม่ต้องจ่ายคืนคลัง จึงเสนอว่าเมื่อจะปฏิรูปก็ขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญปฏิรูปองค์กรอิสระ และการบริหารงานบุคคลไม่ควรให้องค์กรแต่ละองค์กรไปพิจารณาแต่งตั้งกันเอง ควรมีกรรมการบริหารกลางองค์กรอิสระเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งนี้มีตัวเลขงบประมาณการอบรมบางองค์กรสี่ครั้งใช้งบประมาณถึง 11 ล้านบาท ถือเป็นการสิ้นเปลืองเพราะมีการเดินทางไปต่างประเทศทุกครั้ง