xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.แนะใช้ ม.44 ตัด ม.61 วรรคสองออกเลย จี้ฟังความเห็น สอบนม ร.ร.โผล่เขมร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“วิลาศ” เสนอใช้ ม.44 ตัด ม.61 วรรคสองของ พ.ร.บ. ประชามติออก ไม่ต้องรอศาล รธน. วินิจฉัย ชี้ กระบวนการทำประชามติ ขัด มติ ครม. 3 พ.ค. รธน.มาตรา 77 ให้รับฟังความเห็นประชาชนก่อนตรากฎหมาย ด้าน “ราเมศร” ยัน ไม่มีเหตุให้เลื่อนวันลงประชามติ ระบุ คำวินิจฉัยศาล รธน. ไม่มีผลให้กฎหมายประชามติเสียทั้งฉบับ บี้ กกต. เปิดกว้างทุกฝ่ายแสดงความเห็น ดึงดันต่อ ทำร่าง รธน. มีมลทิน

วันนี้ (5 มิ.ย.) นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส. กทม. พรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงกรณีการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ว่า ตนพยายามหลีกเลี่ยงที่จะแสดงความเห็นมาโดยตลอด เพราะไม่อยากเป็นขี้ปากของบางท่านที่มักจะออกมาพูดว่า นักการเมืองพูดแต่ผลประโยชน์ส่วนตน ทั้งที่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการทำประชามติครั้งนี้ เนื่องจากขัดหลักการการทำประชามติ เวลาที่ลงพื้นที่เยี่ยมประชาชนจะได้ยินตลอดว่า ถ้ารัฐธรรมนูญดีทำไมไม่เปิดให้มีการวิจารณ์ แม้แต่ กกต. และ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ก็ออกมาแถลงให้ระวังตัว โดยไม่มีการชี้ชัดว่าอย่างไรเรียกว่าปลุกระดม เช่น การใส่เสื้อบอกว่าอย่าใส่บ่อยจะเข้าข่ายปลุกระดม ในขณะที่ นายมีชัย ก็ชี้แจงแต่ข้อดีบอกคนเห็นต่างพูดได้ต้องไม่ผิดข้อเท็จจริง สรุปคือ อย่าทำเลยดีกว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อทาง คสช. มีการอนุญาตให้คนที่ไม่มีคดีไปต่างประเทศได้ เพราะสถานการณ์ดีขึ้น และผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พ.ร.บ. ประชามติมาตรา 61 วรรคสอง จึงคิดว่าเป็นโอกาสที่น่าจะแสดงความเห็นในเรื่องนี้

นายวิลาศ ยังได้อ้างถึงมติ ครม. วันที่ 3 พ.ค. 59 เกี่ยวกับความจำเป็นในการตราพระราชบัญญัติ ซึ่งมี 10 ข้อ โดยในข้อ 10 ระบุว่า การรับฟังความเห็น ได้เปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้อง หรือผู้ได้รับผลกระทบแสดงความคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างกฎหมายหรือไม่ ความคิดเห็นที่ได้รับเป็นอย่างไร ขณะเดียวกัน ร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 77 วรรคแรกเขียนว่ารัฐพึงดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายได้โดยสะดวกและเข้าใจกฎหมายได้ง่าย หมายความว่า กฎหมายที่จะออกมาต้องให้ประชาชนเข้าใจก่อน และในวรรคสองเขียนว่า ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับรัฐพึงจัดให้รับฟังความเห็นผู้เกี่ยวข้องวิเคราะห์ผลกระทบอย่างรอบด้านและเป็นระบบ เปิดเผยผลการรับฟังความเห็น และการวิเคราะห์ต่อประชาชนและนำมาประกอบกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน จะเห็นได้ว่า กระบวนการทำประชามติครั้งนี้ขัดทั้งมติ ครม. ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญด้วย ทั้งนี้ เห็นว่า หากห้ามวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ สุดท้ายอาจจะต้องเริ่มร่างกันใหม่ แต่ก็แก้ไขลำบาก สุดท้ายอาจจะต้องฉีกทิ้ง จึงอยากให้เปิดโอกาสให้มีการวิจารณ์ เพื่อให้การทำประชามติได้รับการยอมรับ ยิ่งห้ามก็ยิ่งมีการทำใต้ดินมั่วไปหมด ผลที่สุดจะทำให้เกิดปัญหามากกว่า จึงเสนอ คสช.และรัฐบาล ว่า ให้ทบทวนสิ่งที่เป็นอุปสรรคทั้งหมด เพราะใช้มาตรา 44 หลายอย่างแล้ว เพื่อความคล่องตัวก็น่าจะทำเรื่องนี้อีกสักเรื่อง เพื่อความเร่งด่วนแก้ไขให้ครบวงจรด้วยการเปิดกว้างให้ประชาชนเข้าถึงเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง

“ผมเห็นว่า มาตรา 61 วรรคสอง ที่มีปัญหาซึ่งกำลังจะต้องเข้าสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญจะต้องใช้เวลาอีกเป็นเดือน หากใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งยกเลิกไปเลยก็จบรวมถึงคำสั่งอื่น ๆ ที่เป็นอุปสรรคด้วย ก็ควรถือโอกาสรวบยอดไปเลย แต่ถ้าขีดเส้นการแสดงความเห็นก็ขัดเจตนารมณ์การทำประชามติ ผมอยากให้ กกต. ดูการทำประชามติของอังกฤษที่จะออกจากอียู ก็เปิดโอกาสให้แสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง เมื่อ กกต.ไปดูงานมาแล้วก็ควรนำมาใช้บ้าง” นายวิลาศ กล่าว

ด้าน นายราเมศร รัตนะเชวง ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มาตรา 61 วรรคสอง ของกฎหมายประชามติขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ว่า ตนมีข้อคิดเห็นเกี่ยวกับข้อกฎหมายกรณีที่นายกรัฐมนตรีบอกว่า อาจจะมีการเลื่อนประชามติออกไปนั้น ในกฎหมายประชามติมี 66 มาตรา ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแค่มาตราเดียว หากมีปัญหาจะใช้ไม่ได้เฉพาะมาตรานั้น ไม่ได้ทำให้กฎหมายสูญสิ้นทั้งฉบับ จนต้องเลื่อนการลงประชามติออกไป การที่หลายฝ่ายเบี่ยงเบนว่าอาจต้องเลื่อนการทำประชามตินั้น ไม่มีเหตุผลรองรับที่ถูกต้อง

นายราเมศร กล่าวว่า หากกฎหมายมาตรา 61 วรรคสอง ขัดรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการลงประชามติ แต่เป็นมาตราที่จำกัดสิทธิประชาชนในการวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ การทำประชามติครั้งนี้ผิดจากที่เคยเกิดขึ้นโดยทั่วไป เป็นไปได้อย่างไรที่ไม่มีการให้ข้อมูลกับประชาชนอย่างเพียงพอก่อนเดินเข้าคูหาลงมติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ มีที่ไหนห้ามไม่ให้จัดเวทีอภิปรายเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ โดยให้มีเวทีเฉพาะที่ คสช. ควบคุม และกำหนดได้ สิ่งเหล่านี้ผิดเจตนารมณ์การทำประชามติอย่างแท้จริง จึงเห็นว่า ควรเปิดกว้างในการให้ข้อมูลกับประชาชนอย่างเพียงพอในการตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่การชี้นำของฝ่ายที่เกี่ยวข้องกลับดำเนินการให้ประชาชนเห็นด้วยกับ คสช. และ กรธ. โดยชี้นำเฉพาะส่วนดี ไม่พูดถึงข้อเสียที่แฝงอยู่ ซึ่งผลสำรวจความเห็นประชาชนก็ออกมาชัดเจนว่ายังไม่มีข้อมูลเพียงพอต่อการลงประชามติครั้งนี้ เวลาที่เหลือ 63 วัน นับจากวันนี้ องค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องเลิกความคิดด้วยจิตใจที่คับแคบ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญขอเรียกร้องให้เร่งเผยแพร่สารสำคัญโดยต้องไม่เสนอแต่ส่วนที่ดีแต่ต้องเสนอเสียงสะท้อนของฝ่ายที่เห็นต่างด้วย เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจในการออกเสียงลงประชามติต่อไป ทั้งนี้ หากยังเดินหน้าเช่นนี้ ก็จะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีมลทิน

นายราเมศร ยังกล่าวถึงกรณีที่พบว่า มีการนำนมโรงเรียนไปจำหน่ายในประเทศเพื่อนบ้าน ว่า เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องที่นมในโครงการในประเทศไทย จะไปขายในกัมพูชา เพราะผิดทั้งหลักเกณฑ์ ประกาศ และ กฎหมาย จึงอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสนใจเป็นพิเศษด้วยการตั้งคณะกรรมการกลางตรวจสอบให้กระจ่างชัดว่ากรณีดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร มีกระบวนการนำนมออกนอกประเทศไปได้อย่างไร เพราะหากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการกันเอง อาจจะมีการทำแบบลูบหน้าปะจมูกได้

“นโยบายนี้เกิดขึ้นสมัย นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี พ.ศ. 2535 เพื่อพัฒนาร่างกายของนักเรียนให้มีความสมบูรณ์แข็งแรง และยังมีนโยบายเชื่อมโยงเกี่ยวกับการศึกษา เรื่องกองทุนกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา จึงอยากให้เห็นว่านักการเมืองทำอะไรไว้บ้าง โครงการเหล่านี้ไม่ใช่ประชานิยม อยากให้นายกฯให้ความสนใจต้องเร่งตั้งกรรมการสอบสวนใน 4 เรื่อง คือ ความโปร่งใสการทุจริต ควรมีการศึกษาเรี่องคุณภาพนม พิจารณาเรื่องการผูกขาดของผู้ผลิตนมเข้าโครงการ และจำนวนการผลิตและงบประมาณที่เพียงพอต่อเด็กนักเรียน” นายราเมศร กล่าว

นายราเมศร กล่าวว่า การที่บริษัทที่ผลิตนมโรงเรียนไปจำหน่ายในต่างประเทศ อ้างว่าทำถูกต้องนั้น ไม่ใช่ข้ออ้างที่จะทำให้ยุติเรื่อง แต่ต้องตั้งกรรมการสอบเพื่อให้เกิดความโปร่งใส เพราะมีหลักเกณฑ์ชัดเจน ว่า นมโรงเรียนจะนำไปจำหน่ายไม่ได้ การอ้างว่าขายในประเทศไม่ได้ แต่ขายในต่างประเทศได้ เป็นข้อพิรุธ รวมถึงการผลิตเกิน ว่า เป็นการผลิตรอโควตาหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องตรวจสอบ เพราะเป็นนโยบายพื้นฐานที่มีความสำคัญกับเยาวชน หากพบว่าบริษัททำผิดก็ต้องตัดออกจากกระบวนการผลิตนมโรงเรียนด้วย



กำลังโหลดความคิดเห็น