xs
xsm
sm
md
lg

อัศจรรย์ที่นอนถุงนมโรงเรียน ป้องกันแผลกดทับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ทีมสหวิชาชีพได้เคาะประตูบ้านเพื่อสำรวจความเป็นอยู่ โดยเฉพาะเกี่ยวกับการเจ็บไข้ได้ป่วยของชาวเทศบาลตำบลโคกสำโรง จ.ลพบุรี พบว่า หลายครอบครัวมีผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งมีทั้งผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องอาศัยญาติช่วยดูแลทุกอย่าง อีกส่วนมีผู้ป่วยบางรายพอช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง

ปัญหาหนึ่งที่พบบ่อยในผู้ป่วยติดเตียง นั่นก็คือ แผลกดทับ ที่เกิดจากการหมักหมม นอนอยู่ท่าเดียวเป็นเวลานาน

นางทับทิม ศรีวิไล พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ เทศบาลตำบลโคกสำโรง กล่าวว่า การแก้ปัญหาและป้องกันผู้ป่วยติดเตียงไม่ให้เกิดแผลกดทับ “ที่นอนลม” ราคาจำหน่ายตามท้องตลาดประมาณ 10,000 - 15,000 บาท แต่ครอบครัวผู้ป่วยส่วนใหญ่มีฐานะยากจนไม่มีเงินซื้อที่นอนลม จึงนำปัญหานี้เข้าที่ประชุมและหารือกับ นายเชาว์ รัตนกาญจน์ นายกเทศมนตรีตำบลโคกสำโรง ตอนแรกที่ประชุมได้มีการเสนอให้หางบประมาณเพื่อนำมาจัดซื้อ แต่สุดท้ายได้ข้อสรุปว่าใช้งบจัดซื้อไม่ได้ เนื่องจากผิดระเบียบ

จึงระดมสมองว่าจะมีวิธีไหนบ้าง ซึ่งมีข้อเสนอหลากหลายแต่มาลงตัว “นำถุงนมโรงเรียนมาประดิษฐ์เป็นที่นอน” นางทับทิม เล่าว่า กว่าจะประสบความสำเร็จกระทั่งนำมาให้ผู้ป่วยติดเตียงใช้ได้จริงนั้น ได้มีการลองผิดลองถูกอยู่ระยะหนึ่ง

เริ่มจากกลุ่มจิตอาสาซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น อสม. ของโคกสำโรง จิตอาสาที่มีความเชี่ยวชาญตัดเย็บผ้าจะนำผ้ามาตัดเย็บผ้าเป็นช่องๆ ขนาดใส่ถุงนมได้พอดี ส่วนจิตอาสาอีกจำนวนหนึ่งจะไปขนถุงนมจากโรงเรียน 4 แห่งที่ได้มีการประสานขอไว้ล่วงหน้าแล้ว เมื่อได้ถุงนมมาแล้วจะนำมาล้างทำความสะอาด นำถุงตากแดดประมาณ 3 - 4 วัน จากนั้นนำถุงนมใส่น้ำ ชั่งน้ำหนัก 2 ขีดแล้วซีน 3 ชั้น ชั้นสุดท้ายจะใช้ถุงใส่แกง ต้องทำทั้งหมด 155 ถุง จากนั้นก็นำถุงนมมาใส่ลงตามช่องบนผืนผ้าที่เตรียมไว้แล้วเย็บ

สำหรับที่นอนถุงนมสามารถรองรับน้ำหนักผู้ป่วยได้ 100 กิโลกรัม ที่สำคัญ ผู้ป่วยบอกว่าที่นอนถุงนม นอนแล้วรู้สึกผ่อนคลาย ลดอาการปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อตามร่างกาย โดยอธิบายว่าน้ำช่วยนวดกล้ามเนื้อและรู้สึกเย็นสบายไม่ร้อน อย่างไรก็ตาม เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียงให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเมื่อผลการทดลองทำที่นอนถุงนมสำเร็จ จึงได้ทำโครงการเสนอของบประมาณ 10,000 บาท จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

“ลองคำนวณที่นอนถุงนม เฉลี่ยราคาอยู่ที่ 300 บาทต่อผืน เนื่องจากไม่มีค่าแรง แต่มีพลังสามัคคีของกลุ่มจิตอาสา ดังนั้น เมื่อเทียบกับที่นอนลมที่ขายกันราคา 10,000 - 15,000 บาท นับว่าถูกมาก”

นางทับทิม กล่าวต่อว่า ที่นอนถุงนมนอกจากจะช่วยลดปัญหาแผลกดทับผู้ป่วยติดเตียง ยังช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดโลกร้อนอีกด้วย คือนำถุงนมโรงเรียน จัดว่าเป็นขยะและย่อยสลายยาก ใช้เวลาหลายสิบปีกว่าจะย่อยสลาย เมื่อนำถุงนมกลับมารีไซเคิลให้เกิดประโยชน์ถือว่ายิ่งกว่าคุ้ม

นางทับทิม กล่าวด้วยว่า เราไม่ห่วงเรื่องจดลิขสิทธิ์ “ที่นอนถุงนม” กลับต้องการเผยแพร่ขั้นตอนการทำให้แก่ทุกคน คือสอนแบบไม่มีหวงวิชา หรือถ้าหากชุมชนไหนมีไอเดียใหม่ก็สามารถมาแลกเปลี่ยนความรู้กันได้ เพราะมีเป้าหมายเดียวกัน เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย ไม่เกิดแผลกดทับ ประหยัดค่าใช้จ่ายให้แก่บุตรหลาน ญาติผู้ป่วย ถ้าหากช่วยบรรเทาความทุกข์ ความเดือดร้อนทั้งผู้ป่วยและญาติ เท่านี้พวกเราก็มีความสุขแล้ว

นอกจากร่วมกันประดิษฐ์ที่นอนถุงนม ทีมสหวิชาชีพยังผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปดูแลผู้ป่วยถึงบ้าน ทำกายภาพบำบัด ให้คำแนะนำเรื่องอาหารให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละคน ผู้ป่วยรายใดอาการหนักจะส่งต่อโรงพยาบาลให้ด้วย

ด้าน นางพนิต มโนการ รองผู้อำนวยการ สปสช. เขต 4 กล่าวว่า โครงการนี้ สปสช. จัดสรรงบกองทุนระดับท้องถิ่น 10,000 บาท เพื่อใช้ประโยชน์แก่ผู้ป่วยในท้องถิ่น โดยมีนายก อบต. เป็นประธาน ทั้งนี้ จุดเด่นของโคกสำโรง คือ ความเข้มแข็ง ความสามัคคี เขามีการต่อยอดสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ มาช่วยเหลือผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีสิ่งประดิษฐ์หมอนจากหลอดกาแฟ ซึ่งผู้ป่วยหนุนนอนแล้วจะไม่รู้สึกเมื่อยต้นคอ นอกจากนี้ ยังมีผ้าอ้อมทำจากหลอดกาแฟ ช่วยลดค่าใช้จ่ายสามารถซักแล้วนำกลับมาใช้อีก โดยไม่ต้องซื้อผ้าอ้อมผู้ใหญ่

...สิ่งประดิษฐ์ที่ชาวโคกสำโรงคิดค้นล้วนแล้วแต่มีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย ลดค่าใช้จ่าย เชื่อว่าจะมีการต่อยอดและผลงานใหม่ ๆ ออกมาอีกหลายชิ้น 

ติดตาม Facebook Fanpage ของ "Quality of Life" ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น