อดีต ส.ส. กทม. ปชป. ชำแหละ กทม. ไม่เลิก ปูดโกงเรือตรวจการณ์ กทม. ผลาญงบกว่า 26 ล. พังตั้งแต่ออกจากอู่ ไฟไหม้กลางทาง ใช้งานไม่ได้ จอดทิ้งสนิมกินนาน 1 ปี พบพิรุธ กำหนดสเปกต่ำเอื้อประโยชน์ ส่อฮั้วประมูล ย้อนวัตถุประสงค์ช่วยผู้ประสบภัย แต่กับติดกระจกรอบลำแถมสิ่งบันเทิงครบ แย้มมีอีกชุดผลาญงบ 300 ล. เตรียมยื่น ป.ป.ช. จัดการพุธนี้
วันนี้ (11 ก.ย.) นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส .กทม. พรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงปัญหาการทุจริตโครงการจัดซื้อเรือตรวจการณ์ของ กทม. ว่า สำนักเทศกิจของ กทม. ได้มีการเสนอให้ กทม. จัดซื้อเรือจำนวน 3 ลำ โดยได้ออกทีโออาร์ คือ ลำที่ 1 เป็นเรือตรวจการณ์ไฟเบอร์กลาสความยาว 38 ฟุต ขนาดเครื่อง 250 แรงม้า ราคา 6.5 ล้าน ลำที่ 2 ขนาดความยาว 45 ฟุต 300 แรงม้า ราคา 11 ล้าน และลำที่ 3 เป็นเรือตรวจการณ์อเนกประสงค์ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ดีเซล 450 แรงม้า ราคา 26.5 ล้านบาท ซึ่งในส่วนเรือลำที่ 1 และลำที่ 2 ตนจะไม่ให้ความสำคัญเท่าไหร่ เพราะราคาไม่มากนัก และ การกำหนดทีโออาร์ที่ดูแลไม่น่ามีข้อสงสัยอะไร แต่สำหรับลำที่ 3 ตนจำเป็นต้องเจาะลึกว่ามีการฮั้วกันอย่างไร โดยเริ่มต้นจากการเขียนเสป็คเอื้อประโยชน์ เช่น ไม่มีข้อกำหนดเหมือนที่เรือ 2 ลำแรกมี ทั้งทีราคาสูงกว่า เช่น ในทีโออาร์ของสองลำที่ถูกมีการระบุว่า ต้องมีประสบการณ์ต่อเรือไม่น้อยกว่าสิบปี แต่ลำที่แพงที่สุดกลับไม่มีข้อนี้ มีการกำหนดวัตถุประสงค์ในการจัดซื้อเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ ทั้งที่ไม่มีเครื่องช่วยและติดกระจกรอบลำ ดูแล้วน่าจะเป็นเรือสำหรับนั่งกินลมชมวิวมากกว่า
นายวิลาศ กล่าวว่า การต่อเรือก็ผิดสัญญาเพราะไม่ใช่เรือสำเร็จรูปจากโรงงานภายใน หรือต่างประเทศ แต่ไปต่อเรือที่วิทยาลัยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมต่อเรือ ต.หัวรอ อ.เมือง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และมีการรับมอบเรือแล้วแต่วิ่งจากอู่ต่อเรือจากแม่น้ำลพบุรี เข้ากรุงเทพฯ ระหว่างทางเกิดไฟไหม้ต้องลากกลับไปที่อู่ต่อเรือ ซึ่งยังจอดอยู่จนถึงทุกวันนี้เกือบหนึ่งปีแล้ว สภาพเรือพบว่าหลังคาเริ่มรั่ว มีการนำซิลิโคนไปยาเอาไว้ แม้แต่ป้ายชื่อเทศกิจ กทม. ก็เริ่มร่อนอีกทั้งมีสนิมขึ้น และยังมีการถอดเครื่องเรือไปโอเวอร์ฮอลล์ที่อู่มหาชัย
“จึงมีคำถามว่าเหตุใดเรือใหม่จึงเกิดไฟไหม้ในขณะที่จะหมดประกันภายในเดือนกันยายนนี้ แต่ทราบมาว่า หลังจากผมเปิดประเด็นไปมีการขยายระยะเวลาประกันให้อีกหนึ่งปี ชัดเจนว่า มีการออกสเปกอ่อนเมื่อเทียบกับเรืออีกสองลำที่ราคาถูกกว่า ในเรือทีตู้เย็น ทีวี เคาน์เตอร์บาร์ มีลำโพง ไมโครโฟนไม่รู้ว่าเอาไว้ร้องคาราโอเกะหรือไม่ แต่ไม่เห็นมีอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำแต่อย่างใด” นายวิลาศ กล่าว
นายวิลาศ กล่าวด้วยว่า นอกจากกำหนดสเปกอ่อนเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชนแล้ว ยังพบความเชื่อมโยงที่น่าจะส่อว่าเป็นการฮั้วประมูล ตั้งแต่การเสนอราคากลางซึ่งมีบริษัทเอกชน 5 ราย โดยพบว่า มีอย่างน้อย 2 บริษัท เป็นบริษัทลูกของบริษัท ริเวอร์เอ็นจิเนียริ่ง ที่ได้งาน กทม. มาอย่างต่อเนื่อง และเจ้าของบริษัทดังกล่าว คือ บิดาของเจ้าของบริษัท แกรนด์ไลน์อินโนเวชั่น ที่ได้รับงานต่อเรือลำละ 26.5 ล้านบาทนี้ ส่วน 2 บริษัทที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ริเวอร์เอ็นจิเนียริ่ง ที่เป็นบริษัทคู่เทียบ คือ บริษัท วาสติเอ็นจิเนีย จำกัด มีผู้จัดการชื่อ พลอยชนก ปานจับ โดยเอกสารที่ออกจากบริษัทนี้ออกมาจากบริษัท ริเวอร์ฯ ทั้งหมด และห้างหุ้นส่วนจำกัดเอสทีการช่าง มีหุ้นส่วนที่มีอำนาจลงนามคือ หลานของบริษัท ริเวอร์เอ็นจิเนียริ่ง
“จากพฤติกรรมจัดซื้อจัดจ้าง การกำหนดราคากลาง การหาคู่เทียบ ล้วนมีปัญหาและผิดกติกา จึงต้องเล่นงานยกเข่ง เพราะดูเหมือนบ้านเมืองไม่มีขื่อแป จะทำอะไรก็ได้ เรือลำละ 26.5 ล้าน จอดไว้เฉย ๆ ทั้งที่ควรกระวีกระวาดนำมาใช้ เหมือนได้อะไรสมประโยชน์แล้วก็จอดทิ้งไว้ เพราะไม่หวังเอามาใช้แต่หวังได้อย่างอื่นตอบแทนใช่หรือไม่ นี่เป็นเรือชุดอุ่นเครื่องแต่ยังมีเรืออีกชุด 300 กว่าล้านบาท ที่ผมจะนำมาเปิดเผยต่อไป และจะดำเนินการส่งเรื่องเรือตรวจการณ์ที่มีปัญหานี้ให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบในวันพุธที่ 14 ก.ย. นี้ เช่นกัน เพื่อหาตัวผู้รับผิดชอบ ที่แน่ ๆ คือ ผอ.สำนักเทศกิจ แต่เรื่องนี้ไม่ถึงระดับ ผว. เพราะไม่ได้มีส่วนหรือลงนาม แต่มีระดับรองผู้ว่าฯที่เกี่ยวข้อง แต่จะสาวถึงหรือไม่คงต้องให้เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช.” นายวิลาศ กล่าว