อดีต ส.ส. ปชป. เตรียมร้องเรียน ป.ป.ช.- สตง. สอบการประปาส่วนภูมิภาค จัดซื้อคลอรีนเหลวบวกราคาสูงเกินจริง พร้อมระบุ “เสรี ศุภราทิตย์” ไม่ได้แก้ปัญหาทุจริต หนำซ้ำตั้งคนไม่โปร่งใสเป็นที่ปรึกษา แนะ นายกฯ - รมว.มหาดไทย เปลี่ยนบอร์ดประปาภูมิภาคใหม่หมด พร้อมชำแหละ 7 ปัญหา เตือนหากไม่แก้ พวกเหลือบไรสูบจนขาดสภาพคล่องแน่
วันนี้ (4 ก.ย.) นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส. กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงความคืบหน้าในการติดตามการแก้ปัญหาทุจริตในการประปาส่วนภูมิภาค ว่า ตนได้ให้เวลากับ นายเสรี ศุภราทิตย์ ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค ให้ดำเนินการแก้ไขมาหลายเดือนแล้ว แต่พบว่าไม่ได้มีการแก้ปัญหาที่ตนให้ข้อมูลว่ามีการทุจริต และยังมีการกล่าวเท็จว่าดำเนินคดีกับบางคดีแล้ว ดังนั้น ตนจะเริ่มปฏิบัติการพิเศษด้วยการร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในวันพุธที่ 7 ก.ย. นี้ เริ่มจากการจัดซื้อคลอรีนเหลวที่มีการบวกราคาสูงเกินจริง ทั้งค่าขนส่งต่อท่อ เช่น บริเวณภาคตะวันออก ในเขตที่ 1 ค่าขนส่งอยู่ที่ 1,260 บาทต่อท่อ ค่าแก๊ส 1,250 บาท ที่น่าประหลาดใจ คือ มีการมั่วตัวเลขในการบวก 2 ส่วนนี้ อีก 50 บาท คือ จากราคา 2,510 บาท เป็น 2,560 บาท
“ผู้ว่าการการประปาฯ กำลังเดินเข้าสู่ดงเสือคนเดียว ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ใครโกง ใครทุจริต ทำให้มีการตั้งพวกเสือไปเป็นที่ปรึกษา คณะทำงาน และคนติดตาม เรื่องเกี่ยวกับการประปาส่วนภูมิภาคที่ผมจะร้องนั้น มากกว่าปัญหาที่เกิดขึ้นใน กทม. เสียอีก ผมขอเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ให้พิสูจน์ว่าจะเอาจริงกับการแก้ปัญหาทุจริตในรัฐวิสาหกิจให้เห็นโดยเร็ว ด้วยการจัดการกับบอร์ดการประปาส่วนภูมิภาคที่หมดอายุตั้งแต่มีนาคม 2559 ต้องรีบตั้งใหม่ เพราะบอร์ดชุดนี้บางส่วนรวมทั้งประธานบอร์ดมีปัญหาการทุจริต แต่ก็ไม่มีการดำเนินการ จึงควรเปลี่ยนบอร์ดชุดนี้ก่อน” นายวิลาศ กล่าว
นายวิลาศ กล่าวด้วยว่า ได้รวบรวมปัญหาการทุจริตในการประปาส่วนภูมิภาคออกเป็น 7 กลุ่มปัญหา คือ 1. โครงการของการประปาส่วนภูมิภาค เวลาร่างทีโออาร์เกือบทุกโครงการ โดยเฉพาะเขต 3 ไม่เคยสำรวจเลยแม้แต่โครงการเดียว ให้ไปตายเอาดาบหน้า สร้างความเสียหายอย่างมาก จนกระทบไปถึงประชาชน เช่น โครงการวางท่อประปาชุมชนโคนมหนองโพ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ซึ่งผู้รับจ้างว่าท่อไปแล้ว 4,600 เมตร เหลืออีก 2,200 เมตร เข้าเขตชุมชน เทศบาลไม่ให้วาง ทำให้เดินหน้าต่อไม่ได้ ทั้งที่มีการเบิกเงินไปแล้ว และชาวบ้านก็ไม่ได้ใช้น้ำ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการไม่ส่งมอบพื้นที่กลายเป็นช่องทางเอื้อประโยชน์ของพนักงานการประปาส่วนภูมิภาค เช่น โครงการที่สมุทรสาคร เซ็นสัญญาก่อสร้างภายใน 240 วัน แต่ฝ่ายกฎหมายร่างคำร้องขอขยายสัญญาอีก 510 วัน โดยอ้างว่ามีปัญหาเรื่องการมอบพื้นที่ ซึ่งตนกำลังตรวจสอบว่า บริษัท สยามปทุมกรุ๊ป จำกัด ที่ได้ประโยชน์เป็นใครมาจากไหน จึงมีการเอื้อประโยชน์กันเช่นนี้
2. ไม่มีระเบียบแบบแผนเกี่ยวกับการดำเนินโครงการ หรือแม้ว่าจะมีรายละเอียด แต่ในการปฏิบัติจริงกลับไม่ได้ดำเนินการตามนั้น 3. ทุกโครงการฮั้วหมด เพราะในเวลาที่ซื้อซองประกวดราคามากกว่า 20 บริษัท แต่เวลายื่นซองเหลือแค่ 2 บริษัท แสดงให้เห็นว่ามีการฮั้วกัน 4. ทุกโครงการของการประปาส่วนภูมิภาค จะมีบริษัทประจำตัวรองผู้ว่าฯ บริษัทประจำตัวผู้อำนวยการเขต คือ มีการล็อกสเปกให้บางบริษัทเพื่อทำมาหากิน 5. การสร้างสถานีสูบน้ำที่กลายเป็นหอดูดาว เช่น ที่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ใช้งบประมาณกว่า 100 ล้านบาท สร้างเสร็จแล้วแต่สูบน้ำไม่ขึ้นแม้แต่หยดเดียว
6. โครงการโมบายแพลน หรือแผนการประปาเคลื่อนที่ ซึ่งตั้งแต่ทำมาไม่เคยย้าย เนื่องจากเครื่องพัง และค่าโยกย้ายแพงกว่าการสร้างเครื่องใหม่ อีกทั้งมีเจ้าพ่อเป็นอดีตรองผู้ว่าฯ ชื่อ “ถาวร” ตั้งทีมงานที่มีข้าราชการระดับ 9 เป็นลูกมือ ร่วมกับบริษัทรับเหมารายหนึ่ง วิ่งเต้นเสนอโครงการดังกล่าวไปเรื่อย ๆ ซึ่งคนเหล่านี้เดินตามผู้ว่าการการประปาฯ และ 7. การทุจริตเกี่ยวกับขาตั้งมิเตอร์
“ถ้าไม่รีบแก้ไขภายใน 2 ปี การประปาส่วนภูมิภาคจะเกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง เพราะงบการเงินของการประปาส่วนภูมิภาคเริ่มมีปัญหา เนื่องจากหลายโครงการดำเนินการไปแล้ว แต่ใช้ไม่ได้จริง ทำให้การประปาส่วนภูมิภาคเกิดความเสียหายอย่างมาก และในสัปดาห์หน้าผมยังมีเรื่องการทุจริตเกี่ยวกับเรือตรวจการณ์ของ กทม. มาแถลงด้วย” นายวิลาศ กล่าว