เมืองไทย 360 องศา
อาจจะเรียกว่าไม่คาดคิดกันก็ได้ สำหรับการที่มีเจ้าหน้าที่จากอัยการสำนักงานพิเศษได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอถอนประกัน 5 แกนนำ นปช. คือ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นพ.เหวง โตจิราการ และนายนิสิต สินธุไพร จำเลยในคดีก่อการร้าย ซึ่งต่อมาศาลก็รับคำร้องและนัดไต่สวนวันที่ 18 มกราคมปีหน้า
สำหรับสาเหตุที่ต้องมีการยื่นคำร้องต่อศาลให้ถอนประกันในครั้งนี้ก็ไม่มีอะไรมาก เพราะพวกเขายังไม่หยุดเคลื่อนไหว ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งผู้นำรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ทั้งการให้สัมภาษณ์ ทั้งพูดผ่านรายการพีซทีวี รายการมองไกล เหล่านี้ ซึ่งในสถานการณ์ปกติทั่วไปอาจไม่มีปัญหา แต่คราวนี้เมื่อยังอยู่ในสถานการณ์พิเศษมันก็ “ต้องโดน” เป็นเรื่องธรรมดา
แน่นอนว่า หากให้เดาถึงสาเหตุที่มีการยื่นถอนประกันครั้งนี้ ก็น่าจะมาจากสาเหตุสะสมมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่ก่อนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาจนถึงการวิพากษ์วิจารณ์ทางด้านการเมือง ที่มีการกล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างรุนแรง ในเรื่องการสืบทอดอำนาจ มีความคิดที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนนอก กล่าวหาเรื่องการซื้อขายตำแหน่งสำหรับการแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติเพิ่มเติมอีก 30 ตำแหน่ง รวมไปถึงการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลอยู่ตลอดเวลา แน่นอนว่า ในสถานการณ์แบบนี้มันย่อมมีความผิดอยู่แล้ว และขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายอำนาจรัฐจะหยิบยกมา “เอาจริง” หรือไม่เท่านั้น
และคราวนี้ก็เห็นชัดแล้วว่า “เอาจริง” แต่ถึงอย่างไรก็ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาล ซึ่งคราวนี้ก็เป็นศาลอาญาเสียด้วย ไม่ใช่ศาลทหาร และไม่ใช่มาจากคำสั่งพิเศษ ตามมาตรา 44 แต่อย่างใด
แน่นอนว่า ไม่ผิดความคาดหมายเช่นเดียวกีนที่พลันรู้ว่าถูกยื่นถอนประกัน เพราะทำผิดเงื่อนไขการประกันตัว พวกเขาก็โวยวายทันที โดยเฉพาะคำพูดของ จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช.ที่ย้ำวาทกรรมว่า “สองมาตรฐาน” อ้างถึงความอยุติธรรม เช่น ใช้คำพูดสวยหรูแบบปลุกระดมตามมาอีกว่า “ถ้าพวกผมยังไม่ได้รับความเป็นธรรม แล้วประชาชนทั่วไปจะอยู่อย่างไร”
ก็สมแล้วที่เป็นนักพูด นักปลุกระดม แม้ขนาดเสี่ยงคุกก็ยังจะสร้างอารมณ์ร่วมลากชาวบ้านให้มาช่วยเหลืออีก ซึ่งฟังเผินๆ อาจจะคล้อยตามก็ได้ เช่น กล่าวทำนองว่าจ้องเล่นงานเฉพาะฝ่ายพวกเขา ขณะที่อีกฝ่าย (ในที่นี้หมายถึง กปปส.) กลับเก็บเงียบไม่ดำเนินคดี ความหมายเหมือนกับว่ารังแกอยู่ฝ่ายเดียว ใครฟังแบบนี้โดยเฉพาะพวกมวลชนที่สนับสนุนก็คงขบเขี้ยวเคี้ยวฟันกรอดๆ กันเลย แต่เดี๋ยวก่อนหากพิจารณากันตามความเป็นจริง ทุกอย่างมันไม่เป็นแบบนั้น เอาเรื่องแรกก่อนที่กล่าวว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจ้องเล่นงานแต่พวกแกนนำ นปช.นั้น คำถามก็คือใช่หรือเปล่า ที่ผ่านมามีใครบ้างใน กปปส.ที่ออกมาวิจารณ์รัฐบาล วิจารณ์คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อย่างมากที่เห็นก็มี สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ออกมาไลฟ์เฟซบุ๊กสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็มีการวินิจฉัยแล้วว่าทำได้ แค่นั้นและจบแล้ว
ขณะที่อีกด้านก็เห็นมีแต่คนพวกนี้เท่านั้นที่ยังไม่หยุด จนกระทั่งถูก กสทช. สั่งปิดสถานีโทรทัศน์พีซทีวีอยู่ในเวลานี้ แต่ก็ยังใช้ช่องทางโซเชียลฯ อื่นๆ กล่าวหาฝ่ายตรงข้ามอย่างต่อเนื่อง สรุปก็คือ ในตอนนี้ฝ่ายที่ยังเคลื่อนไหวไม่หยุด ก็คือคนพวกนี้แหละ หากคิดว่าตัวเองเป็นนักต่อสู้แท้จริงตามที่เอ่ยอ้างอยู่ตลอด ก็ต้องพร้อมที่เชิดหน้าต่อสู้ โดยเฉพาะหากบอกว่านี่คือฝ่ายประชาธิปไตยที่ยืนหยัดสู้กับเผด็จการ ก็ต้องอย่าโวยวายปากดี เรียกหาชาวบ้านให้มาเป็นกำแพงเป็นเครื่องมือหนุนหลัง เพราะในเมื่อมีอุดมการณ์เข้มข้นจริงก็ต้องยึดมั่นในแนวทางดังกล่าวให้ได้
ขณะเดียวกัน การอ้างว่าทีคดีก่อการร้าย กบฏของแกนนำ กปปส.ผ่านมา 3 ปีแล้ว ทำไมไม่คืบหน้า ฟังเผินๆ มันก็อาจน่าสงสัย แต่ก็ต้องถามกลับเหมือนกันว่าแล้วทำไมทีคดีของพวกแกนนำ นปช.ตั้งแต่ปี 53 นั้น ได้ตัดสินไปบ้างแล้วหรือยัง ก็ยัง เพราะอย่างที่เข้าใจกัน คือ คดีแบบนี้มีจำเลยจำนวนมาก ย่อมต้องมีการไต่สวนพยานจำนวนมาก อีกทั้งยังมีพยานหลักฐานฝ่ายโจทก์อีก มันต้องใช้เวลานี่ว่ากันแค่ศาลชั้นต้นเท่านั้น ยังมีอุทธรณ์ และฎีกา ทุกอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอนยุติธรรม เพราะไม่ว่าจะยื้อกันอย่างไรมันก็ต้องเดินหน้าวันยังค่ำ
ที่ผ่านมาเห็นแต่การตัดสินในคดีเผาศาลากลาง คดีใช้อาวุธสงครามไปบ้างแล้ว แต่ส่วนใหญ่ก็ยังไม่ตัดสิน ซึ่งนั่นก็รวมถึงคดีความผิดจากการชุมนุมเผาเมืองเมื่อปี 53 ที่ทั้ง 5 คนดังกล่าวข้างต้นร่วมเป็นจำเลยด้วย ดังนั้น อย่าว่าแต่คดีของ กปปส. หรือย้อนไปสมัยของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่จนถึงบัดนี้คดียังไม่ถึงที่สุดเลย
ดังนั้น คำพูดของ จตุพร พรหมพันธุ์ ที่โวยวายว่าตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือถูกเลือกปฏิบัติแบบสองมาตรฐานนั้น หากพูดแบบเอามันก็พูดไปเถอะ หรือจะพูดแบบหวังผลเพื่อปลุกระดมหาชาวบ้านมาช่วยกดดันอัยการสูงสุด หรือกดดันศาลก็ทำไป แต่นาทีนี้เท่าที่สำรวจตามสถานการณ์ที่เป็นจริงแล้วก็ต้องบอกว่า “เหนื่อยเปล่า”
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากความรู้สึกที่แท้จริงของคนพวกนี้ โดยเฉพาะเมื่อวัดจากความรู้สึกของคนที่พูดมากฟูมฟายมากที่สุดอย่าง จตุพร พรหมพันธุ์ มันก็เหมือนกับการสะท้อนความรู้สึกกลัว หรือ “ขี้ขลาด” ออกมาแบบที่ระงับอารมณ์ไม่อยู่ เพราะรู้ว่า “อาจจะโดนแน่” และยิ่งศาลนัดไต่สวนในวันที่ 18 มกราคม ปีหน้า มันก็ยิ่งต้องทนลุ้นระทึกว่าจะออกหัวออกก้อย อีกตั้งนานอย่างน้อยสองสามเดือน และหากยังไม่หยุดปาก มันก็เหมือนกับ “แต้มสะสม” ถูกนำไปเป็นหลักฐานเพิ่มเติมในศาลอีกก็จะยุ่งกันใหญ่
เอาเป็นว่าเวลาที่นี้เหลือสำหรับ “นักประชาธิปไตย” พวกนี้เรียกว่าลุ้นระทึกแบบขนหัวลุกก็คงไม่ผิดนัก!