สปป.ลาว - นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน - สาธารณรัฐเกาหลี ส่งเสริมให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมอาเซียน - เกาหลีใต้ ก่อนเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม ย้ำ ไทยพัฒนาความเชื่อมโยง ยกระดับการเกษตร เสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร และการเงิน
วันนี้ (7 ก.ย.) ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เวลา 13.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน - สาธารณรัฐเกาหลีใต้ ครั้งที่ 18 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ในที่ประชุม มีการส่งเสริมให้มีการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการอาเซียน - สาธารณรัฐเกาหลี ฉบับใหม่ (2559 - 2563) โดยผู้นำอาเซียน และประธานาธิบดี ปัก กึน-ฮเย แห่งสาธารณรัฐเกาหลี ได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความร่วมมือให้บรรลุเป้าหมายเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน และเห็นพ้องให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอาเซียน - สาธารณรัฐเกาหลี
โดยภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญในส่วนของไทย ได้แก่ ด้านความสัมพันธ์อาเซียน - สาธารณรัฐเกาหลี ไทยยินดีที่ความสัมพันธ์ระหว่างกันแน่นแฟ้น และมีความร่วมมือที่ครอบคลุมรอบด้าน นายกรัฐมนตรี เห็นว่า อาเซียน และสาธารณรัฐเกาหลี ต้องช่วยกันปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการอาเซียน - สาธารณรัฐเกาหลี เพื่อให้ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างสองฝ่ายทวีความใกล้ชิด เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนและสันติภาพเสถียรภาพ ตลอดจนความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาค โดยไทยสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนใช้ประโยชน์จากความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน - สาธารณรัฐเกาหลี อย่างเต็มที่
สำหรับความร่วมมือในกรอบ RCEP นายกรัฐมนตรีขอให้ผู้นำร่วมกันแสดงเจตจำนงทางการเมือง เพื่อช่วยกันเร่งรัดการเจรจา RCEP ให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อกระตุ้นให้การค้าขาย และการลงทุนระหว่างกันขยายตัวมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจในสาขาต่าง ๆ ให้กับภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก
ด้านเศรษฐกิจการค้า ไทยเห็นว่า ประชาคมอาเซียนกำลังมุ่งไปสู่การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว ซึ่งมีทรัพยากรธรรมชาติอันหลากหลาย และตลาดที่มีผู้บริโภคขนาดใหญ่และมีกำลังซื้อเพิ่มสูงขึ้น ไทยจึงอยากเชิญชวนนักธุรกิจเกาหลีให้เข้ามาแสวงหาโอกาสในอาเซียน โดยเฉพาะการลงทุนของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งมีศักยภาพ และสามารถช่วยสนับสนุนกระบวนการผลิตในระดับภูมิภาคและของโลก นอกจากนี้ การเข้ามาลงทุนในพื้นที่เศรษฐกิจชายแดนภายใต้แนวคิด “ไทยแลนด์พลัสวัน” “วันพลัสวัน” และ “อาเซียนพลัสวัน” เป็นโอกาสหนึ่งของการลงทุนใหม่ ๆ ในภูมิภาค โดยสภาธุรกิจอาเซียน - สาธารณรัฐเกาหลี และ ศูนย์อาเซียน - เกาหลี สามารถแสดงบทบาทเพื่อช่วยผลักดันในเรื่องนี้
ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ไทย และประเทศสมาชิกอาเซียน มีแนวคิดที่จะใช้นวัตกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศ อุตสาหกรรมดิจิตอล และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ จึงอยากให้สาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งมีความก้าวหน้าที่โดดเด่นในด้านนี้ในระดับโลก แบ่งปันประสบการณ์อันมีค่าผ่านการส่งเสริมความร่วมมือ ด้านการศึกษา การวิจัย และการฝึกอบรมทักษะฝีมือแรงงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนของสาธารณรัฐเกาหลี และการเพิ่มการจ้างงานในอาเซียน
สำหรับเป้าหมายสำคัญของอาเซียน คือ การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม กระจายความเจริญจากเมืองสู่ชนบทและพื้นที่ชายแดน และส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนและสังคมอยู่เย็นเป็นสุข ดังนั้น ไทยจึงหวังที่จะเรียนรู้ประสบการณ์ของสาธารณรัฐเกาหลี ทั้งนี้ ในเรื่องการบริหารจัดการป่าไม้ การจัดการทรัพยากรน้ำ การเติบโตสีเขียว พลังงานสะอาด และไทยพร้อมจะสนับสนุนบทบาทของสาธารณรัฐเกาหลีในการปฏิบัติตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ. 2025 เพื่อบรรลุการพัฒนาความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อ และการสร้างระเบียงเศรษฐกิจในภูมิภาคและอนุภูมิภาคอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ไทยเห็นว่าการปกป้องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ และเสนอให้ร่วมมือกันขยายพื้นที่ป่าไม้ ด้วยการรณรงค์การปลูกป่าเพิ่มเติม เพื่อสร้างความสมดุลให้กับธรรมชาติ และรักษาแหล่งน้ำ และป่าโกงกางเพื่อลดการกัดเซาะของชายฝั่ง
ด้านวัฒนธรรม นายกรัฐมนตรีได้ร่วมสนับสนุนการกำหนดให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมอาเซียน - สาธารณรัฐเกาหลี และยินดีที่มีการก่อสร้างหอวัฒนธรรมอาเซียน ที่เมืองปูซาน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมระหว่างสองฝ่าย และเห็นว่า วัฒนธรรม การท่องเที่ยว และกีฬา เป็นช่องทางที่มีความสำคัญต่อการเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างเยาวชน และประชาชน ซึ่งก่อให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกันอันเป็นรากฐานสำคัญของการมีความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ใกล้ชิดในระดับรัฐบาล และประเทศในอนาคต
ด้านสันติภาพและความมั่นคง ไทยชื่นชมข้อริเริ่มและการผลักดันของประธานาธิบดี ปัก กึน-ฮเย ในเรื่องความร่วมมือและสันติภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีเป้าหมายสอดคล้องกับของอาเซียน นอกจากนี้ ไทยเห็นความสำคัญของความร่วมมือไตรภาคีที่มีต่อการส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคเอเชียตะวันออกโดยรวม
ต่อมาเวลา 14.45 น. นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 19 พร้อมด้วยผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน และ นางสาวปัก กึน-ฮเย ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี
โดยภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญในส่วนของประเทศไทย ได้แก่ ในกรอบอาเซียนบวกสาม นายกรัฐมนตรียินดีที่ความร่วมมือกรอบอาเซียนบวกสาม จะครบรอบ 20 ปี ในปีหน้านี้ ซึ่งสะท้อนถึงความยั่งยืนของการเป็นหุ้นส่วนเพื่อสร้างสรรค์สันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค ภายใต้เป้าหมายร่วมกันที่จะมุ่งไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกภายในปี ค.ศ. 2020
นอกจากนี้ ไทยยินดีต่อความก้าวหน้าในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการตามข้อเสนอแนะของกลุ่มวิสัยทัศน์เอเชียตะวันออก รุ่นที่ 2 ซึ่งไทยให้ความสำคัญ และรับเป็นประเทศผู้ประสานงานใน 3 หัวข้อหลัก ได้แก่ ความเชื่อมโยงในภูมิภาค การส่งเสริมธรรมาภิบาล และนโยบายประชากร และจะผลักดันให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมต่อไป
โดยนายกรัฐมนตรีได้เสนอในที่ประชุมให้มีการเร่งส่งเสริมความร่วมมือในกรอบอาเซียนบวกสาม ดังนี้ ประการแรก เร่งเดินหน้าและพัฒนาความร่วมมือด้านความเชื่อมโยงระหว่างกัน เพราะการเชื่อมโยงและโครงสร้างขั้นพื้นฐานเป็นกุญแจสู่ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงที่ยั่งยืน และการไปมาหาสู่ของประชาชนที่สะดวกและรวดเร็ว ไทยสนับสนุนการดำเนินการตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน 2025 หรือ “เอ็มแพ็ค 2025” เพื่อให้ภูมิภาคเกิดการเชื่อมโยงที่ไร้รอยต่อและสร้างระเบียงทางเศรษฐกิจที่แท้จริง
อาเซียนบวกสาม ต้องเร่งสร้างโอกาสใหม่ ๆ ทางเศรษฐกิจให้แก่ประชาชนในภูมิภาค โดยสนับสนุนการเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน การเข้าถึงแหล่งทุนในการพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐานคุณภาพสูง รวมทั้งสนับสนุนการค้าและการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน เพื่อเชื่อมต่อธุรกิจท้องถิ่นและธุรกิจขนาดกลางเล็กและย่อม (เอ็มเอ็สเอ็มอี) ให้เข้าสู่ระบบห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาคและของโลก
ประการที่สอง ส่งเสริมความร่วมมือด้านเกษตรกรรมและนวัตกรรมทางการเกษตร การเกษตรเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาค รวมทั้ง เป็นฐานรากที่สำคัญของความมั่นคงทางอาหารและพลังงานทางเลือก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ความผันผวนของราคาสินค้าเกษตร รวมทั้งการลดจำนวนลงของเกษตรกรรุ่นใหม่ จึงต้องหาทางเพิ่มศักยภาพด้านการผลิต ในภาคเกษตรกรรม
นายกรัฐมนตรีจึงเห็นว่า ควรมีการขยายความร่วมมือเรื่องความมั่นคงด้านอาหารและการรับมือกับผลกระทบจากภัยพิบัติร้ายแรง ไทยซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักเลขานุการคลังสำรองข้าวฉุกเฉินอาเซียนบวกสาม หรือ “แอฟเตอร์” ได้สนับสนุนการดำเนินการของ “แอฟเตอร์” เช่น การให้สถานะทางนิติบุคคล เอกสิทธิ์ และการอำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ชาวต่างชาติ และจะสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพของ “แอฟเตอร์” เพื่อให้เกิดความพร้อมในการส่งผ่านความช่วยเหลือตามคำร้องอย่างทันท่วงที
ประการที่สาม รักษาเสถียรภาพทางการเงินและการคาดการณ์ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ความร่วมมือด้านการเงินการคลังในกรอบอาเซียนบวกสาม ถือเป็นจุดเด่น เราต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับกลไกหลัก ได้แก่ “มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่พหุภาคี” (CMIM) โดยเน้นการเตรียมความพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินได้ทันท่วงที และ “สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียนบวกสาม” (อัมโร) ในการติดตามสถานการณ์เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินในภูมิภาคให้มีความมั่นคง รวมทั้ง “มาตรการตลาดพันธบัตรเอเชีย” เพื่อช่วยพัฒนาตลาดตราสารหนี้ของภูมิภาคให้แข็งแกร่ง และส่งเสริมการใช้เงินสกุลหลักของภูมิภาคในการทำธุรกรรมทางการเงินและการลงทุน
ประการที่สี่ ความร่วมมือเพื่อรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ ไทยขอบคุณประเทศสมาชิกอาเซียนบวกสามที่ได้สนับสนุนข้อริเริ่มของไทยในการออกแถลงการณ์ผู้นำอาเซียนบวกสามเรื่อง “การสูงวัยอย่างมีศักยภาพ” (ASEAN Plus Three Statement on Active Ageing) ซึ่งเป็นการต่อยอดจากปฏิญญากัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยเรื่องผู้สูงอายุที่ผู้นำอาเซียนให้การรับรองเมื่อปี 2558 เราต้องยืนหยัดในเจตนารมณ์ร่วมกันเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุในภูมิภาค ส่งเสริมขีดความสามารถของอาเซียนในการรับมือกับประเด็นสังคมผู้สูงอายุ โดยใช้แนวทางแบบองค์รวม และเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนกับทุกภาคส่วนในการจัดการกับประเด็นผู้สูงอายุ
นอกจากนี้ ไทยยังส่งเสริมความร่วมมือด้านวิชาการในกรอบอาเซียนบวกสาม และเป็นประธานการประชุมเครือข่ายคลังสมองเอเชียตะวันออกในปีนี้ โดยได้ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้หัวข้อ “การบริหารจัดการ ความเสี่ยง” และได้จัดทำข้อเสนอแนะหมายเลข 13 (NEAT Memorandum No.13) เพื่อให้ภาครัฐได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
ในตอนท้าย ไทยย้ำว่า ความสัมพันธ์ที่ดีในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการธำรงสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคโดยรวม และไทยยินดีที่ความร่วมมือไตรภาคีมีพัฒนาการไปในเชิงบวก และสนับสนุนญี่ปุ่นในการเป็นประธานการประชุมสุดยอดไตรภาคีในปีนี้ นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวเชิญชวน ผู้นำในกรอบอาเซียนบวกสามเข้าร่วมการประชุมสุดยอด Asia Cooperation Dialogue (ACD) ระหว่างวันที่ 9 - 10 ตุลาคม 2559 ที่กรุงเทพฯ ด้วย