xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มแม่บ้านหมอกจำแป่ ต้นแบบพัฒนา “สตรี” เพื่อความมั่นคงทางอาหาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


วันนี้สมาชิกกลุ่มแม่บ้าน หมอกจำแป่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน มาที่ศูนย์พัฒนาอาชีพสตรี ซึ่งตั้งอยู่ที่สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลหมอกจำแป่ กันแต่เช้าตรู่

เมื่อมาถึงก็ต่างช่วยกันคนละไม้คนละมือจัดเตรียมอุปกรณ์และส่วนประกอบต่าง ๆ พร้อมเริ่มกวนแป้ง และตั้งกระทะ ใส่น้ำมันรอให้ร้อน สำหรับทำ “ขนมดอกจอก” ขนมไทยโบราณ กรุบกรอบ หอมหวาน รสชาติมัน อร่อย จัดเป็นขนมไทยที่แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของคนไทยเป็นอย่างดี เพราะใช้วัตถุดิบจำนวนไม่กี่อย่างนำมาสร้างสรรค์เป็นขนมที่มีรูปร่างสวยงามและละเอียดอ่อนเช่นนี้ได้

ขนมดอกจอกที่กลุ่มแม่บ้านหมอกจำแป่ผลิตวางจำหน่ายในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยใช้ชื่อผลิตภัณฑ์ว่า “หม่องเป่” ชื่อเรียกแบบสั้น ๆ ที่คนในพื้นที่ และละแวกใกล้เคียงเรียกชื่อหมู่บ้านเล็ก ๆ กลางในเมืองสามหมอก

ปกติสมาชิกกลุ่มแม่บ้านหมอกจำแป่ จะใช้ช่วงเวลาหลังฤดูเก็บเกี่ยวทำอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว ผลพลอยได้ของการเพิ่มรายได้ คือ การเพิ่มขีดความสามารถของกลุ่มแม่บ้าน ให้มีส่วนช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับสมาชิกของครอบครัว สามารถเข้าถึงโภชนการครบห้าหมู่ในทุก ๆ วัน

“ศูนย์แห่งนี้เป็นมากกว่าศูนย์พัฒนาอาชีพ พวกเรากลุ่มแม่บ้านไม่เพียงแต่ได้ฝึกฝนทักษะวิชาชีพ แต่เราได้รู้จักเพื่อนแม่บ้านมากมาย และได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เสียงของกลุ่มแม่บ้านมีความสำคัญ และมีน้ำหนักเมื่อเรารวมตัวกันทำกิจกรรม คนในชุมชนก็จะให้การสนับสนุน ให้ความสำคัญ พวกเราก็ภูมิใจกับสิ่งที่เราได้ทำให้กับชุมชนและครอบครัว” สายพิณ วงษ์อิน หนึ่งในสมาชิกกลุ่มแม่บ้าน กล่าวขณะกำลังนำแผ่นแป้งทองม้วนออกจากแท่นพิมพ์ และใช้ไม้อันเล็กม้วนทองม้วนอย่างชำนาญ

ทองม้วนคืออีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ขนมที่กลุ่มแม่บ้านหมอกจำแป่ทำ เพื่อเตรียมส่งขายให้กับแม่ค้าคนกลางของหมู่บ้านวันนี้

การส่งเสริมให้สตรีมีบทบาทหลากหลาย ถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาการเกษตร และ ชุมชนท้องถิ่น ความเท่าเทียมของสิทธิสภาพทางเพศสามารถเสริมสร้างระดับของโภชนาการ เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และ เพิ่มคุณภาพชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ชนบทห่างไกล ถือเป็นนโยบายที่สอดคล้องกับหนึ่งในเป้าหมายหลักของ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ประเด็นขจัดความหิวโหย บรรลุเป้าเรื่องสร้างความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการที่ดีขึ้น

สู่เป้าหมายความมั่นคงทางอาหาร

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ทำงานโดยความร่วมมือของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อดำเนินโครงการนำร่องฝึกอาชีพให้กับกลุ่มแม่บ้านในหลายจังหวัด รวมทั้งจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยให้หน่วยงานพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด จัดหาครูฝึกอบรมอาชีพให้กับกลุ่มแม่บ้านในชุมชนต่าง ๆ รวมทั้งกลุ่มแม่บ้านหมอกจำแป่

คุณทักษพร เสรีชาติ เจ้าหน้าที่พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดแม่ฮ่องสอน เล่าว่า มีการเปิดคอร์สอบรมระยะสั้นทั้งการทำเทียนหอม ธูปหอม กล้วยตาก มะขามป้อมแช่อิ่ม ใช้เวลาฝึกอบรมประมาณ 1 สัปดาห์ แต่ละชุมชนก็จะส่งตัวแทนเข้าอบรม มีจำนวนไม่น้อยที่เป็นคุณลุงคุณป้าในวัยเกษียณ เพราะยังแข็งแรง และยังอยากทำกิจกรรมที่สามารถสร้างรายได้ให้ตัวเอง และจุนเจือครอบครัว และได้พบปะเพื่อนฝูงมากมาย

เมื่อฝึกอบรมเสร็จ ต่างคนก็ต่างก็กลับไปทดลองทำผลิตภัณฑ์ที่ได้เรียนรู้โดยใช้พื้นที่ชุมชนตัวเอง แม้ว่าหลายกลุ่มจะผลิตของดีมีคุณภาพออกมาจำหน่าย ก็ใช่ว่าของทุกอย่างจะขายได้หากการตลาดไม่ดีพอบางกลุ่มก็ล้มเลิก ความตั้งใจกันไป กลับไปโฟกัสแต่เรื่องทำสวนทำไร่เหมือนเดิม แต่ไม่ใช่กลุ่มแม่บ้านหมอกจำแป่

สมาชิกกลุ่มแม่บ้านใช้อาคารหลังบริเวณองค์การบริหารส่วนตำบลหมอกจำแป่ ที่ได้รับงบก่อสร้างสนับสนุนจากเอฟเอโอ ให้เป็นอาคารส่งเสริมอาชีพขนาดย่อม เพื่อผลิตของกินของใช้หลายอย่างก่อนหน้านี้ แต่ที่ขายได้เป็นเรื่องเป็นราวคือขนมดอกจอกและขนมทองม้วนนี่เอง

เบื้องหลังความสำเร็จ ไม่เพียงแค่ความอดทนต่ออุปสรรคเท่านั้น กลุ่มแม่บ้านขอคำแนะนำจากศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำมาสู่ไอเดียสร้างแบรนด์ “หม่องเป่” ชื่อเรียกเวอร์ชันย่อที่ชาวบ้าน และคนในพื้นที่ใกล้เคียงนิยมเรียก หมายถึง ดอกลีลาวดี แบรนด์หม่องเป่ เริ่มนำมาใช้กับผลิตภัณฑ์ ขนมทองม้วน และ ขนมดอกจอก เมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา

กระบวนการนำสร้างแบรนด์และนำเสนอแบรนด์สู่ตลาดก็มีความสำคัญ กลุ่มแม่บ้านหมอกจำแป่ใช้วิธีนำผลิตภัณฑ์หม่องเป่ ไปออกบูธตามงานออกร้านต่าง ๆ ที่ทางจังหวัด เทศบาล อบจ. อบต. เป็นผู้จัด ทำให้ผลิตภัณฑ์ขนมภายใต้แบรนด์หม่องเป่ เป็นที่รู้จัก ด้วยวิธีนี้เอง ทำให้กลุ่มแม่บ้านได้พบกับลูกค้าที่ยินดีรับซื้อขนมของกลุ่มแม่บ้านไปขายในตัวจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นประจำ ในราคาขายส่งที่ห่อละ 10 บาท ครั้งละ 100 ห่อ

เพ็ญศรี หน่อคำบุศย์ หัวหน้ากลุ่มแม่บ้านกำลังนำขนมทองม้วน และดอกจอก ที่ทำเสร็จใหม่ ๆ ใส่ถุงพลาสติกถุงใหญ่ไปส่งที่บ้านของแม่ค้าขายส่งในหมูบ้านวันนี้สมาชิก 5 คน จะได้ส่วนแบ่งจากการทำขนมคนละ 200 บาท

คุณป้าเพ็ญศรี คุณครูในวัยเกษียณ เล่าว่า จะนำเงินที่ขายขนมได้ในวันนี้ไปซื้อหมู ผักกวางตุ้ง และข้าวของสดอื่น ๆ ที่ร้านขายของชำ เพื่อนำไปทำเมนูผัดผักกวางตุ้งใส่หมูสับอาหารเย็นของวันนี้ และเป็นของโปรดของคุณตาผู้เป็นสามี

“สำหรับพวกเรา เงินที่ได้จากขายขนมถือว่าเพียงพอที่จะนำไปซื้ออาหารสดเครื่องปรุงให้ครบประโยชน์ห้าหมู่ตามที่ร่างกายคนเราต้องการในหนึ่งวัน

สิ่งสำคัญคือ เราสามารถเป็นผู้มอบความมั่นคงทางอาหารให้กับสมาชิกของครอบครัว และยังได้ทำกิจกรรมทีเป็นประโยชน์ต่อชุมชนให้เป็นที่รู้จักกับคนทั่วไป สิ่งเหล่านี้ทำให้คนวัยเกษียณอย่างป้าภาคภูมิใจในบทบาทของกลุ่มแม่บ้านและจำทำสิ่งดี ๆ เหล่านี้ต่อไป” คุณป้าเพ็ญศรี กล่าวปิดท้าย

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น