xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ เสนอที่ประชุมอาเซม เน้นเชื่อมโยงภูมิภาค ดึงจุดแข็งเพื่อความเจริญที่ยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นายกรัฐมนตรีร่วมกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมเต็มคณะวาระที่ 2 ส่งเสริมหุ้นส่วนอาเซม ยินดีได้ร่วมประชุมอีกครั้ง หวังสานความร่วมมือสู่ทศวรรษที่ 3 จัดตั้งทีมเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค ดึงจุดแข็งเพื่อการเจริญเติมโตที่ยั่งยืน ไม่ควรทิ้งใคร เสนอ 4 ประการรับมือความท้าทายภัยพิบัติ อาหารและพลังงาน, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การศึกษา ท่องเที่ยว ชงใช้ปรัชญาพอเพียงพัฒนา และรื้อฟื้นถกเขตการค้าเสรีเอเชีย-ยุโรป

วันนี้ (15 ก.ค.) ที่โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงอูลานบาตอร์ มองโกเลีย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมเต็มคณะ (Plenary) วาระที่ 2 หัวข้อการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนของอาเซม เพื่อความเชื่อมโยงที่กว้างขวางยิ่งขึ้น (Promoting ASEM Partnership for Greater Connectivity) ในโอกาสการประชุมสุดยอดอาเซม ครั้งที่ 11

โดย พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวยินดีที่ได้มาร่วมการประชุมสุดยอดอาเซมอีกครั้งในโอกาสที่อาเซมครบรอบ 20 ปี เพื่อสานต่อความร่วมมือวางแนวทางอาเซมก้าวสู่ทศวรรษที่ 3 ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา อาเซมได้ช่วยเชื่อมโยงให้เอเชียและยุโรปมีความสัมพันธ์และความเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดกันมากขึ้น

ในทศวรรษที่ 3 นี้ อาเซมควรขับเคลื่อนความเชื่อมโยงให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ทั้งด้านกายภาพ (hard connectivity) และด้านที่จับต้องไม่ได้ (soft connectivity) และได้มีการจัดตั้งคณะทำงานด้านการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคทั้งสอง ร่วมกันดึงจุดแข็งของกันและกันเพื่อทำให้เกิดการเจริญเติบโตที่ครอบคลุมและยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (inclusive and sustainable growth) เอเชียมีจุดแข็ง คือ เศรษฐกิจและตลาดที่มีขนาดใหญ่ มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ขณะที่ยุโรปมีจุดแข็ง คือความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม ความเข้มแข็งของระบบสวัสดิการสังคมและสิทธิมนุษยชน

ความเชื่อมโยงทางกายภาพ (hard connectivity) ที่สำคัญได้แก่ โครงการเชื่อมเครือข่ายการขนส่งและคมนาคมระหว่างประเทศสมาชิกอียู (Trans-European Networks) ของยุโรป One Belt, One Road ของจีน และความเชื่อมโยงกันของอาเซียน ตามแผนแม่บท (Master Plan on ASEAN Connectivity) จะช่วยเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมขนส่งระหว่างกัน แต่จะต้องมีมาตรการรองรับผลกระทบเชิงลบต่างๆ จากการเชื่อมโยง เช่น การค้ามนุษย์ ยาเสพติด และอาชญากรรมข้ามชาติ ที่จะตามมา ตามที่เคยกล่าวไว้ในการประชุมสุดยอดอาเซมครั้งที่ 10 ที่มิลาน

สำหรับความเชื่อมโยงที่จับต้องไม่ได้ (soft connectivity) ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมโยงด้านดิจิตอล ความเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบ ความเชื่อมโยงด้านความมั่นคงผ่านการปรึกษาหารือ ความเชื่อมโยงทางการท่องเที่ยว และความเชื่อมโยงประชาชนสู่ประชาชน กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอาเซม เช่น รัฐสภา ภาคธุรกิจ เยาวชน และภาคประชาสังคม เป็นความเชื่อมโยงที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเพราะจะทำให้ประชาชนได้มีโอกาสใกล้ชิดและทำความเข้าใจกันมากขึ้น

นายกรัฐมนตรีจึงได้เสนอแนวคิดความเชื่อมโยงอาเซม 4 ประการ ดังต่อไปนี้ ประการแรก การเชื่อมโยงเพื่อร่วมกันรับมือกับความท้าทายต่างๆ และภัยพิบัติ ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน ซึ่งสามารถทำได้โดยการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดเทคโนโลยี การส่งเสริมความร่วมมือทางวิจัย เช่น เอเชีย โดยเฉพาะอาเซียน เป็นแหล่งผลิตอาหารและพืชพลังงานที่สำคัญ ในขณะที่ยุโรปมีองค์ความรู้ นวัตกรรมที่สนับสนุนการเพิ่มผลผลิตและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประการที่ 2 การเชื่อมโยงประชาชนสู่ประชาชน ด้วยการไปมาหาสู่กัน การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การศึกษา และการท่องเที่ยว จะทำให้สองภูมิภาคใกล้ชิดและเข้าอกเข้าใจกันยิ่งขึ้น รวมไปถึงแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในเรื่องต่างๆ ที่ช่วยส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ อาทิ การเข้าถึงระบบการคุ้มครองทางสังคม (social protection) ซึ่งไทยพยายามส่งเสริมเรื่องนี้ และมีความร่วมมือกับหลายประเทศในยุโรปและเอเชีย

ประการที่ 3 การเชื่อมโยงเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยสอดคล้องกับวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืน 2030 ของสหประชาชาติ ที่เน้นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ควบคู่กับการพัฒนา โดยคำนึงถึงศักยภาพและความพร้อมของแต่ละประเทศ โดยไม่ทิ้งประเทศใดไว้ข้างหลัง ซึ่งไทยในฐานะประธานกลุ่ม 77 วาระปี ค.ศ. 2016 ได้นำเสนอหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้เป็นทางเลือกหนึ่งในการพัฒนา เพื่อให้เอเชียและยุโรปร่วมมือกันบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และปฏิญญาอูลานบาตอร์เกิดผลเป็นรูปธรรม

และประการที่ 4 การเชื่อมโยงเพื่อความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ การรื้อฟื้นการจัดประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสและรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของอาเซม เพื่อหารือความเป็นไปได้ของเขตการค้าเสรีเอเชียและยุโรป จะทำให้เอเชียและยุโรปมีความเชื่อมโยงและปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น นำไปสู่การค้า การลงทุน และความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น