นายกรัฐมนตรี แถลงการส่งเสริมสามเสาหลักของอาเซม เสนอหลักการ 3 เอ็ม เน้นไว้เนื้อเชื่อใจ เคารพซึ่งกันและกัน และผลประโยชน์ร่วม เป็นแนวทางดำเนินงานเอเชีย - ยุโรป ไม่ควรขยายความขัดแย้ง ชี้ 2 ความท้าทาย ปัญหาการย้ายถิ่นไม่ปกติ และการค้ามนุษย์ ระบุ ต้องใช้เวลา และความอดทนแก้ไข ไม่ผลักภาระให้ใครแก้โดยลำพัง
วันนี้ (16 ก.ค.) ที่ กรุงอูลานบาตอร์ มองโกเลีย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงสำหรับการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ (Retreat) หัวข้อ “การส่งเสริมสามเสาหลักของอาเซม” (Enhancing the Three Pillars of ASEM) ในการประชุมสุดยอดอาเซม ครั้งที่ 11 เสนอหลักการ 3 M เน้น “ความไว้เนื้อเชื่อใจร่วมกัน ความเคารพซึ่งกันและกัน และผลประโยชน์ร่วมกัน” เป็นแนวทางการดำเนินงานระหว่างเอเชีย - ยุโรป
พลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โลกปัจจุบันเป็นโลกที่ไร้พรมแดน เทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมที่รวดเร็ว ทำให้เอเชียและยุโรปใกล้ชิดกันมากขึ้น ขณะเดียวกัน ปัญหาต่าง ๆ มีแนวโน้มที่จะส่งผลในมิติข้ามชาติมากยิ่งขึ้น ประเทศต่าง ๆ จึงเผชิญกับทั้งโอกาส และความท้าทายในเวลาเดียวกัน ดังนั้น เราจึงต่างต้องร่วมมือกัน เพราะโลกทุกวันนี้มิใช่ “หนึ่งประเทศ หนึ่งจุดหมาย” อีกต่อไป แต่เป็น “หนึ่งโลก หนึ่งจุดหมาย”
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยได้ติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ ในยุโรปอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการลงประชามติของสหราชอาณาจักร เกี่ยวกับการเป็นสมาชิกอียู เชื่อว่า สหราชอาณาจักรและอียูจะสามารถปรับตัวเพื่อให้ผ่านความท้าทายนี้ไปได้ และยังคงมีบทบาทที่สร้างสรรค์ต่อไปในประชาคมโลก โดยจะยังคงเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดกันในกรอบความร่วมมือต่าง ๆ รวมทั้งอาเซมต่อไป ซึ่งทั้งสองภูมิภาคจะเรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่แท้จริง เพื่อนำไปปรับใช้ในการพัฒนาความร่วมมือในภูมิภาคและระหว่างภูมิภาค ที่สร้างความเชื่อมั่น และตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนมากยิ่งขึ้น
สำหรับเอเชียนั้น ความขัดแย้งจากพื้นที่บางส่วนยังคงเป็นความท้าทาย ต่อความมั่นคงทางการเมืองเศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งเราไม่ควรขยายความขัดแย้ง แต่ควรหาหนทางอย่างสร้างสรรค์ ในการนำพื้นที่แห่งความขัดแย้งสู่พื้นที่แห่งความร่วมมือประเทศต่าง ๆ ทั้งในและนอกภูมิภาค จึงพึงร่วมมือกันโดยยึดหลัก 3M คือ ความไว้เนื้อเชื่อใจร่วมกัน ความเคารพซึ่งกันและกัน และผลประโยชน์ร่วมกัน โดยทุกประเทศจะต้องเคารพกฎกติการะหว่างประเทศ เพื่อเป็นบรรทัดฐานในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างกัน
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงความท้าทายที่สำคัญอีก 2 ประการ ที่ทั้งเอเชียและยุโรปกำลังเผชิญอยู่ และมีความเชื่อมโยงในทั้งมิติความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม ได้แก่ ความท้าทายประการแรก คือ ปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ ซึ่งเป็นปัญหาที่ทั้งสองภูมิภาคต่างเผชิญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ ทำให้เกิดวิกฤตด้านผู้ลี้ภัยครั้งใหญ่ที่สุด หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง จนกลายเป็นวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่ยืดเยื้อ ประเทศไทยเองก็ประสบกับปัญหานี้ แม้ว่าจะอยู่ในบริบทที่ต่างจากของยุโรป ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ไทยได้มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ โดยได้จัดการประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดียสองครั้ง ซึ่งต่างยินดีที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างครบวงจร ส่งผลให้ตัวเลขการโยกย้ายถิ่นฐานในมหาสมุทรอินเดียลดลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งไทยพร้อมที่จะแบ่งปันประสบการณ์การแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้กับยุโรป
ความท้าทายประการที่สอง คือ ปัญหาการค้ามนุษย์ มีความเชื่อมโยงกับปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐาน และความเหลื่อมล้ำของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาค เป็นความท้าทายที่กระทบเอเชียและยุโรป รัฐบาลไทยได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ และมุ่งมั่นที่จะขจัดปัญหานี้ให้หมดไปจากประเทศไทย โดยกำหนดเป็นนโยบาย มาตรการและกฎหมาย เพื่อคุ้มครองและป้องกันกลุ่มเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ทั้งแรงงานต่างด้าว เด็ก หรือ สตรี ที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะการประมงที่ผิดกฎหมายของไทย รัฐบาลมีการบังคับใช้กฎหมายที่มีบทลงโทษรุนแรงอย่างเข้มงวด เพื่อป้องปราบการกระทำผิด ซึ่งไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในอาเซม เพื่อให้การขจัดปัญหาการค้ามนุษย์เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค
นายกรัฐมนตรี ได้เล่าถึงประสบการณ์ของไทยในการแก้ไขปัญหา ว่า ปัญหาทั้งสองดังกล่าว เป็นประเด็นที่ซับซ้อน ที่ต้องอาศัยเวลา และความอดทนในการแก้ไข การแก้ไขปัญหาต้องเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของประเทศ ทั้ง ต้นทาง - กลางทาง - ปลายทาง โดยไม่ผลักภาระให้ประเทศใดประเทศหนึ่งต้องแก้ไขปัญหาเพียงลำพัง แนวทางการแก้ปัญหาที่เหมาะสม ควรแก้ไขที่ต้นเหตุ โดยช่วยพัฒนาการศึกษา คุณภาพชีวิต เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ขจัดความอยุติธรรม บนพื้นฐานด้านมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน รวมทั้งต้องคำนึงถึงระดับความพร้อมของแต่ละประเทศในการแก้ไขปัญหาด้วย โดยสนับสนุนได้ด้วยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นรูปธรรม