xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ เห็นพ้องความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น หนุนขยายการค้า พัฒนาความเชื่อมโยง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ประยุทธ์” ประชุมสุดอาเซียน เห็นพ้องส่งเสริมปฏิบัติวิสัยทัศน์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น และร่วมมือ ศก.ระยะ 10 ปี ชมบทบาทญี่ปุ่นทำให้ ศก.เติบโต หนุนขยายการค้าลงทุนตามแนวชายแดน ใช้ประโยชน์ความตกลงเต็มที่ พัฒนาความเชื่อมโยงภูมิภาค หวังเรียนรู้แบ่งปันในสาขาที่เชี่ยวชาญ เชื่อมั่นนโยบายส่งเสริมสันติภาพ ร่วมต่อต้านก่อการร้าย

วันนี้ (7 ก.ย.) เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 19 ซึ่งในที่ประชุมผู้นำอาเซียน และนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ต่างเห็นพ้องที่จะส่งเสริมการปฏิบัติตามวิสัยทัศน์ว่าด้วยมิตรภาพและความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น และแผนปฏิบัติการ รวมทั้ง แผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น ระยะ 10 ปี

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญ ดังนี้ นายกรัฐมนตรีชื่นชมบทบาทของญี่ปุ่นในการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งทำให้เกิดการเติบโต การลดช่องว่างด้านการพัฒนา การส่งเสริมการจ้างงาน และการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยพร้อมที่จะส่งเสริมให้นักธุรกิจญี่ปุ่นขยายการค้า เพิ่มการลงทุน และแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ในอาเซียนให้มากขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาธุรกิจ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม นวัตกรรม เทคโนโลยีสีเขียวอุตสาหกรรมดิจิตอล อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมการเกษตร ในส่วนของไทยพร้อมที่จะส่งเสริมการลงทุนของญี่ปุ่นในเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนภายใต้แนวคิด “วันพลัสวัน” เพื่อช่วยกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค และห่วงโซ่การผลิตของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านให้เกิดความเชื่อมโยงและไร้พรมแดน

นายกรัฐมนตรีเห็นว่า อาเซียนต้องสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่นอย่างเต็มที่ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้า การลงทุน และการบริการให้ได้มากที่สุด และต้องการให้การเจรจา RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) จะเสร็จสิ้นโดยเร็ว เพื่อช่วยกระตุ้นการค้าขายและการลงทุนให้ขยายตัวมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเห็นว่า RCEP และ TPP ควรเกื้อหนุนซึ่งกันและกันและไม่ควรแข่งขันกัน

นอกจากนี้ ไทยได้สนับสนุนบทบาทของญี่ปุ่นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพสูงในเอเชียซึ่งช่วยพัฒนาความเชื่อมโยงในภูมิภาค และหวังว่าให้ญี่ปุ่นเพิ่มบทบาทในการปฏิบัติตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ. 2025 เพื่อให้ความเชื่อมโยงในภูมิภาคเป็นไปอย่างไร้รอยต่อและเป็นระเบียงทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ซึ่งจะทำให้การคมนาคมขนส่งสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการเข้าถึงตลาดและแหล่งผลิตในพื้นที่ห่างไกลและแนวชายแดน ทำให้ประชาชนที่อยู่ใน ชนบทได้มีโอกาสอยู่ดีกินดีขึ้น

นายกรัฐมนตรีเห็นว่า การก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนยังมีภารกิจที่ต้องทำอีกมาก ไทยจึงหวังว่าอาเซียนและญี่ปุ่นจะร่วมมือกันดำเนินโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการตามข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน ฉบับที่ 3 รวมทั้ง เรียนรู้และแบ่งปันแนวปฏิบัติอันเป็นเลิศในสาขาที่แต่ละฝ่ายมีความเชี่ยวชาญ เช่น วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พลังงานสะอาด การเติบโตสีเขียว การรักษาสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การดูแลผู้สูงอายุ บทบาทสตรีและเด็ก เพื่อให้การพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ไทยเห็นว่าความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชน คือ กุญแจสำคัญของความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างกัน และชื่นชมบทบาทของญี่ปุ่นในการเชื่อมโยงประชาชนเข้าหากันผ่านข้อริเริ่มและโครงการต่างๆ ทั้งด้านการฝึกอบรมและพัฒนาฝีมือแรงงาน การศึกษา การกีฬา ภาษา การท่องเที่ยว และการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรม และไทยพร้อมที่จะร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับญี่ปุ่นในเรื่องเหล่านี้

ด้านการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค ไทยเชื่อมั่นว่านโยบาย “Proactive Contribution to Peace” ของรัฐบาลญี่ปุ่น ที่บนพื้นฐานของหลักกฎหมายและการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างสร้างสรรค์จะช่วยสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งให้แก่โครงสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นแกนกลาง และสร้างความเป็นปึกแผ่นของภูมิภาคในอนาคต

นอกจากนี้ ไทยสนับสนุนการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่นในประเด็นความมั่นคงรูปแบบใหม่ผ่านกลไกต่างๆ โดยเฉพาะการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ ความมั่นคงทางไซเบอร์ การต่อต้านการก่อการร้ายและลัทธินิยมความรุนแรงสุดโต่ง และความมั่นคงทางทะเล


กำลังโหลดความคิดเห็น