xs
xsm
sm
md
lg

ความต้องการลงทุนทองคำของผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2016

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ตามรายงานล่าสุดของสภาทองคำโลก หรือ World Gold Council ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องยืนยันว่าการดำเนินนโยบายการเงินโดยใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบในญี่ปุ่น ถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่หนุนความต้องการบริโภคทองคำของชาวญี่ปุ่น โดยรายงานดังกล่าวระบุว่า การลงทุนในทองคำแท่ง และเหรียญทองในญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นค่อนข้างมาก โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้การลงทุนในทองคำแท่ง และเหรียญทองในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 9.3 ตัน ซึ่งถือเป็นครึ่งปีแรกที่แข็งแกร่งที่สุดสำหรับการลงทุนของญี่ปุ่นนับตั้งแต่ปี 2005 ขณะที่ความต้องการลงทุนทองคำในช่วงไตรมาส 2 อยู่ที่ระดับ 5.8 ตัน และถือเป็นครั้งแรกที่ปริมาณการลงทุนในทองคำสุทธิในญี่ปุ่นเป็นบวกถึง 4 ไตรมาสติดต่อกัน นับตั้งแต่ตั้งแต่ปี 2006

Tanaka ดีลเลอร์ทองคำแท่งที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น รายงานยอดการซื้อขายที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นผลพวงส่วนหนึ่งจากผลการลงประชามติ Brexit และไม่ใช่แค่นักลงทุนบุคคลเท่านั้นที่มุ่งเข้าสู่ทองคำ แต่จำนวนของกองทุนบำเหน็จบำนาญ (Pension fund) ที่ลงทุนในทองคำก็เพิ่มสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2016 และฐานนักลงทุนทองคำยังขยายไปถึงนักลงทุนสถาบันที่ไม่ใช่กองทุนบำเหน็จบำนาญอีกด้วย

เรียกได้ว่าปัจจัยที่กระตุ้นความน่าสนใจของทองคำในหมู่ชาวญี่ปุ่น คงจะหนีไม่พ้นการที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือบีโอเจ เคยสร้างความตกตะลึงแก่บรรดานักลงทุนโดยประกาศนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบในวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา ประกอบกับความไม่แน่นอนจาก Brexit และความกังวลเกี่ยวกับตลาดการเงินทั่วโลก รวมถึงความไม่เชื่อมั่นในการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล นายชินโซะ อาเบะ (Abenomics) อันเนื่องมาจากการตัดสินใจเลื่อนแผนการขึ้นอัตราภาษีสินค้า (VAT) จาก 8% เป็น 10% ที่จากเดิมมีกำหนดจะขึ้นภาษีในช่วงสิ้นเดือน เม.ย.ปีหน้าออกไปเป็นปี 2562 เพื่อพยุงการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศ ถือเป็นสัญญาณสะท้อนเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่ไม่สามารถฟื้นตัวได้ตามเป้า เหล่านี้ก็ส่งผลให้นักลงทุนชาวญี่ปุ่นหันไปสนใจการลงทุนทองคำเพื่อปกป้องความมั่งคั่ง และป้องกันความเสี่ยงเช่นกัน

ด้านการแข็งค่าของสกุลเงินเยนอย่างต่อเนื่องในปีนี้ ที่ส่งผลทำให้ราคาทองคำในญี่ปุ่นราคาไม่แพงนัก (ราคาทองคำในรูปแบบสกุลเงินเยนปรับตัวขึ้นเพียง 6% ในขณะที่ราคาทองคำในรูปแบบของสกุลเงินดอลลาร์ปรับตัวขึ้นถึง 25%) และทำให้ราคาทองคำในประเทศญี่ปุ่นไม่ได้มีความผันผวนรุนแรงเท่าในตลาดอื่นๆ และนั่นส่งผลให้ผู้ที่ถือครองทองคำในรูปแบบสกุลเงินเยนไม่ได้มีแรงจูงใจที่รุนแรงนักในการขายทำกำไร ขณะที่การเกิดแผ่นดินไหวในญี่ปุ่นในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ยังเป็นอีกปัจจัยที่กระตุ้นให้นักลงทุนถือครองทองคำเพิ่มอีกด้วย

อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่ต้องติดตามต่อไปในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2016 เห็นจะหนีไม่พ้นการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือบีโอเจ เพราะไม่ว่าในการประชุมเดือนหน้าบีโอเจจะตัดสินใจอย่างไรก็น่าจะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของราคาทองคำได้เช่นกัน โดยหากบีโอเจไม่กระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มก็อาจส่งผลให้สกุลเงินเยนยิ่งแข็งค่า ดอลลาร์อ่อนค่า หนุนราคาทองคำ ในทางกลับกัน หากบีโอเจกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม เบื้องต้นต้องจับตาว่ามาตรการที่บีโอเจจะประกาศเพิ่มเป็นอย่างไร เพราะหากมาตรการที่ประกาศเพิ่มไม่ได้แข็งกร้าวมากพอที่จะให้ตลาดเชื่อมั่นว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง อาจส่งผลให้สกุลเงินเยนแข็งค่า ดอลลาร์อ่อนค่า และส่งผลบวกต่อราคาทองคำ แต่หากมาตรการที่ประกาศเพิ่มให้ตลาดเชื่อมั่นว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง อาจทำให้สกุลเงินเยนกลับมาอ่อนค่า ดอลลาร์แข็ง และกดดันราคาทองคำได้ ในท้ายที่สุดแล้วหากบีโอเจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้ติดลบมากขึ้น หรือใช้นโยบายที่รุนแรงอย่าง Helicopter Money ก็อาจจะเป็นอีกปัจจัยที่หนุนราคาทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยได้เช่นกัน ดังนั้น แนะนำนักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือบีโอเจในวันที่ 19-20 กันยายนนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น