xs
xsm
sm
md
lg

รถไฟฟ้าสายสีม่วง ภาพอนาคตรถไฟฟ้าสารพัดสี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม หรือรถไฟฟ้า สายสีม่วง จากเตาปูน – บางใหญ่ เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการได้ 1 เดือนแล้ว ปรากฎว่า ขาดทุน เฉลี่ยวันละ 3 ล้านบาท เพราะมีผุ้โดยสารน้อยกว่าที่ คาดการณ์คือ วันละประมาณ 20,000 คนเท่านั้น ในขณะที่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ประเมินว่า จะมีผู้โดยสารวันละ 73,000 คน

ตัวเลขจริง น้อยกว่าตัวเลขคาดการณ์เกือบ 4 เท่าตัว

แต่รถไฟฟ้าสีม่วงเพิ่งวิ่งได้เพียงเดือนเดียว คงต้องรอออีกพักใหญ่ๆ กว่าจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้น สมัยที่รถไฟฟ้าบีทีเอสเดินรถใหม่ๆ ก็มีผู้โดยสารน้อยกว่าที่คาดการณ์มาก เมื่อเวลาผ่านไป ประชาชนเริ่มคุ้นกับการเดินทางรูปแบบใหม่ และมีการขยาย –เชื่อมต่อเส้นทาง จำนวนผู้โดยสารก็เพิ่มมากขึ้นจนมีกำไร

ตัวเลขขาดทุนวันละ 3 ล้านบาท เป็นเพียงภาวะชั่วคราว ซึ่งคงจะลดลงไปกว่านี้ จะลดลงมากหรือน้อย หรือจะมีกำไร ขึ้นอยู่กับฝีมือของ รฟม.

ผลการศึกษาของ รฟม. เอง พบว่า รถไฟฟ้าสายสีม่วงนี้ จะขาดทุนในช่วง 11 ปี แรก หลังจากนั้นจึงจะเริ่มมีกำไร

รถไฟฟ้าสายสีม่วง เป็นโครงการที่ รฟม. ลงทุนก่อสร้าง และบริหารจัดการการเดินรถเอง ต่างจากรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นรถใต้ดินวิ่งจาก บางซื่อ ถึง หัวลำโพง ที่ รฟม. ให้สัปทานกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ บีอีเอ็ม เป็นผู้ลงทุน ก่อสร้าง และเดินรถ โดยแบ่งรายได้ให้ รฟม.

ในทางปฏิบัติ รฟม จ้าง บีอีเอ็ม เป็นผู้เดินรถและซ่อมบำรุง โดยจ่ายค่าจ้างให้ในปีแรกที่เปิดให้บริการ 1,327 ล้านบาทหรือวันละ 3.6 ล้านบาท แต่ ปัจจุบัน รฟม. เก็บค่าโดยสารได้เฉลี่ยวันละ 6 แสนบาทนั้น จึงเป็นที่มาของก่ารขาดทุนวันละ 3 ล้านบาท

รถไฟฟ้าสายสีม่วง เป็นรถชานมือง ต่างจาก รถไฟบีทีเอส ที่วิ่งอยู่ใจกลางเมือง ผ่านย่านธุรกิจ ศูนย์การค้า สำนักงาน มีผุ้โดยสารหนาแน่นเกือบทั้งวัน โอกาสที่รถไฟสายสีม่วงจะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจนหลุดพ้นจากการขาดทุนในระยะยาวจึงเป็นไปได้ยาก

ปัญหาเฉพาะหน้าคือ ไม่มีจุดเชื่อมต่อกับ รถไฟใต้ดินสายสีน้ำเงิน คนที่จะเดินทางต่อไปในเมือง ต้องนั่งรถเมล์ รถไฟ ที่สถานเตาปูน อันเป็นสถานีสุดท้ายของสายสีม่วง เพื่อไปขึ้นรถใต้ดินที่สถานีบางซื่อ ที่อยู่ห่างออกไป 1 กิโลเมตร เป็นความไม่สะดวกอย่างยิ่งสำหรับผู้โดยสารที่จะต้องขึ้น ลงรถ และฝ่าการจราจรบนท้องถนน จึงเลือกที่จะใช้วิธีเดินทางแบบเดิมที่เคยใช้อยู่

กว่าจุดเชื่อมต่อระหว่างสถานีเตาปูน กับบางซื่อจะเสร็จ ก็กินเวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน

รฟม แก้ปัญหาผู้โดยสารน้อย ด้วยการลดค่าโดยสาร จาก 42 บาทต่อเที่ยวเหลือ 29 บาทต่อเที่ยว เฉพาะผู้ใช้บัตรเติม่เงิน และลดค่าจอดรถที่อาคารจอดแล้วจร จนกว่าจะเชื่อมต่อสถานีเตาปูนกับบางซื่อ ได้ โดยหวังว่า จะช่วยเพิ่มยอดผู้โดยสารได้อีก 30 % ซึ่งจะทำได้จริงหรือไม่ยังไม่รู้ เพราะเรื่องค่าโดยสาร เป็นหนึง่ในหลายๆปัจจัยที่ทำให้ผู้โดยสารน้อย

ปัญหาของรถไฟสายสีม่วงที่มีผู้โดยสารน้อยกว่าที่คาดการณ์มาก ถึงแม้ว่า จะเป็นช่วงเพิ่งเปิดให้บริการ น่าจะทำให้รัฐบาล และ รฟม. ซึ่งกำลังเร่งรัด การเปิดประมูลรถไฟสีต่างๆ เช่น สีชมพู จากแคราย ไปมีนบุรี สีเหลือง จากรัชดา ไปลาดพร้าว ฯลฯ หันมาทบทวนดูว่า จริงๆแล้ว กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล มีความต้องการรถไฟฟ้า มากขนาดนั้นเลยหรือ

ปริมาณผู้โดยสารที่อ้างกัน ก็มาจากการคาดการณ์ เป็นจำนวนผู้โดยสารบนแผ่นกระดาษ เพื่อทำให้มีเหตุผลที่จะสร้าง โครงการ แต่เมื่อสร้างเสร็จ เปิดใข้งาน ตัวเลขผู้โดยสารจริง ต่างจากตัวเลขคาดการณ์อย่างลิบลับ

โครงการแอร์พอร์ตลิงค์ เป็นตัวอย่างที่ดีของความแตกต่างระหว่างการคาดการร์กับความเป็นจริง โครงการรถไฟสายสีม่วง เป็นตัวอย่างที่กำลังตามมา

ถ้าสายสีม่วง มีศักยภาพที่จะทำกำไรได้ บีอีเอ็มคงไม่ปล่อยให้ รฟม. ทำเองหรอก

จริงอยู่ที่ รถไฟฟ้า เป็นบริการสาธารณะ ไม่ควรให้ความสำคัญกับเรื่องกำไร ขาดทุน เป็นหลัก แต่การลงทุนสร้างรถไฟฟ้าสารพัดสี โดยไม่ได้พิจารณาอย่างรอบคอบว่า มีความจำเป็นไหม ที่จะต้องมีรถไฟฟ้ามากขนาดนั้น คือความสูญเปล่า และเป็นภาระของชาติในระยะยาว ที่จะต้องหาเงินจำนวนมากมาอุดหนุนการเดินรถของรถไฟฟ้าสารพัดสีเหล่านี้

คนที่ได้ประโยชน์เต็มๆ เห็นจะมีแต่กลุ่มรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ และบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ที่ไปซื้อที่ดินดักรอรถไฟฟ้าไว้แล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น