xs
xsm
sm
md
lg

รถไฟฟ้าสายสีม่วงมาหา(ไม่ถึง)นะเธอ!! ผู้โดยสารเมิน! ตั๋วแพง แถมไม่เชื่อมต่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รฟม.ถึงกับเหงื่อตก หลังการเปิดใช้รถไฟฟ้าสายสีม่วง “บางใหญ่-เตาปูน” ได้เพียง 2 สัปดาห์ พบปัญหาขาดทุนยับวันละกว่า 3 ล้านบาท เพราะคนใช้บริการไม่ถึงเป้า แถมสถานีไม่เชื่อมต่อกัน ทำให้ผู้โดยสารยังต้องต่อรถอีก เล็งเชื่อมต่อให้ทันต้นปี 60

ขนหน้าแข้งร่วง ขาดทุนวันละ 3 ล้านบาท!!

ผ่านไปกว่า 2 สัปดาห์แล้ว กับการเปิดรางให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ซึ่งหวังจะช่วงอำนวยความสะดวกสบายในการเดินทางจากชานเมืองเข้าสู่กรุง แต่กลับต้องสะดุดเมื่อเส้นทางที่เชื่อมต่อจากรถไฟฟ้าใต้ดินบางซื่อ ไปยังรถไฟฟ้าเตาปูนหายไป 1 สถานี แถมค่าโดยสารที่แพงหูฉี่ ทำให้ประชาชนเลือกที่จะไปให้บริการขนส่งประเภทอื่นแทน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ รฟม.สูญเสียรายได้ตกวันหลายล้านบาท



ปัญหาของรถไฟฟ้าสายสีม่วงนี้ ถูกเปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวของ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และอดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ฝ่ายโยธาและจราจร ถึงสถานการณ์อันน่าเป็นห่วงของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ที่หลังจากการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วง เส้นทางบางใหญ่ - เตาปูนไปแล้ว กลับมีผู้มาใช้บริการไม่เป็นไปตามเป้าที่คาดการไว้คือ 7 หมื่นคนต่อวัน แต่มีเพียง 2 หมื่นคนต่อสัน ทำให้ขณะนี้ประสบปัญหาขาดทุนกว่าวันละ 3 ล้านบาท

ดร.สามารถ ชี้แจงถึงค่าใช้จ่ายที่ รฟม.แบกรับไว้ ทั้งการจ้างบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษากว่า 1,327.5 ล้านบาท หรือคิดเป็นวันละประมาณ 3.6 ล้านบาท แต่ทาง รฟม.เก็บค่าโดยสารได้เพียงวันละ 6 หมื่นบาท จึงต้องแบกภาระขาดทุนวันละ 3 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมค่าก่อสร้างที่มีมูลค่าประมาณ 6 หมื่นล้านบาท จึงเห็นได้ชัดว่าการประกอบการเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงจะไม่สามารถมีรายได้จ่ายค่าก่อสร้างได้ เนื่องจากมีรายได้น้อยมาก น้อยเสียจนไม่พอจ่ายแม้เพียงแค่ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้า และซ่อมบำรุงรักษา



นอกจากนี้ ดร.สามารถ ยังได้เสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาให้ทาง รฟม. พิจารณา 5 ประการ ดังนี้ 1. เร่งเปิดให้บริการเชื่อมต่อระหว่างสถานีเตาปูนกับสถานีบางซื่อโดยเร็วที่สุด 2. ปรับลดค่าโดยสารลง 3. ปรับลดค่าจอดรถที่อาคารจอดลง 4. ร่วมมือกับผู้ประกอบการเดินรถโดยสารในพื้นที่ต่างๆ ตลอดเส้นทางรถไฟฟ้าขนผู้โดยสารจากบ้านมาส่งที่สถานี และจากสถานีไปส่งที่ทำงาน และ 5.ควบคุมให้ BEM ซึ่งเป็นผู้รับจ้างเดินรถไฟฟ้าให้รถเข้าออกสถานีตรงเวลา ไม่จอดแช่ ประตูชานชาลา และประตูรถจะต้องเปิดทุกสถานี และจอดรถตรงตามจุดที่กำหนดให้ผู้โดยสารเข้าออก

“หากรฟม.เร่งแก้ไขตามข้อเสนอแนะดังกล่าว ผมมั่นใจว่ารถไฟฟ้าสายสีม่วงจะมีผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้นแน่ครับ” อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวทิ้งท้าย

หลังจากที่โพสต์ดังกล่าวเผยแพร่ออกไป มีผู้คนบนโลกโซเชียลฯ ที่ได้ลองใช้บริการรถไฟฟ้าเส้นทางนี้แล้ว เข้ามาแสดงความคิดเห็นในทำนองเดียวกัน ถึงเรื่องความไม่สะดวกสบายในการใช้บริการ เพราะต้องลงจากอีกสถานีหนึ่งต่อรถไปยังสถานีหนึ่ง ทำให้เสียเวลา อีกทั้งราคาค่าโดยสารที่แพง เมื่อเทียบกับการเดินทางประเภทอื่นอย่างรถเมล์หรือรถตู้ ผู้คนจึงเลือกที่จะใช้บริการรถโดยสารสาธารณะประเภทหลังมากกว่า และบรรทัดต่อจากนี้คือความคิดเห็นบนโลกโซเชียลฯ ที่มีต่อเหตุการณ์นี้



“รอให้เชื่อมกันก่อนค่อยใช้ ยิ่งเชื่อมกันช้าคนก็จะน้อยลง อาจประสบปัญหาขาดทุนได้นะคะ ระหว่างรอให้เชื่อมนี่กรุณาช่วยดูแลทางเท้าด้านล่างสถานีให้ผู้คนเดินอย่างปลอดภัยก็จะดี บางคนไม่ทันรถขนส่งระหว่างสถานีต้องเดินเลียบไปเองนี่ลำบากมากจนทำให้ไม่อยากใช้บริการได้นะคะ แถมรถก็ติดไม่ได้ช่วยให้การเดินทางเร็วขึ้นหรือสะดวกมากขึ้นเลย อีกทั้งค่าโดยสารที่สูงกว่าการเดินทางปกติด้วย”
“ดึงเอารถปรับอากาศสายที่วิ่งรับคนแถวย่านนั้นไป เช่นสาย 50,66,70 ทำให้คนที่เขาใช้รถสายพวกนี้ รอรถกันนานมาก เพราะธรรมดาก็นานอยู่แล้ว ยิ่งช่วงเย็น-ค่ำ รอสาย 70 จากสถานีเป็นเวลาชั่วโมงกว่าๆ กว่ารถจะมา”

“ถ้าไปแล้วมันลำบากขึ้น ราคาแพงขึ้น เดินทางต่อลำบากขึ้น ใครจะใช้”
“แพงมาก พระนั่งเกล้า-บางใหญ่ 30 ผมนี่ลองนั่งครั้งเดียวพอ ไปรถตู้ดีกว่าเผลอๆ ไวกว่าอีก 15 บาทเอง”
“ค่ารถ ไป กลับ ค่าจอดรถส่วนตัว แพงเกินไป เทียบกับขับรถไปเองแล้วประหยัดกว่า แถมไม่เชื่อมต่อกับโครงข่ายในเมือง แค่นี้คิดไม่ได้” ฯลฯ

อย่างไรก็ตามทางขณะนี้ทาง รฟม. ได้มีการพิจารณาเตรียมปรับลดค่าโดยสารลงแล้ว รวมไปถึงการเร่งให้การเชื่อมต่อของ 2 สถานีนี้เสร็จให้ทันภายในต้นปี 60 ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่ามาตรการนี้จะทำให้ประชาชนหันกลับมาให้บริการมากขึ้นหรือไม่

ขอแก้ตัวอีกรอบ ปี 60 จะเชื่อมสถานีให้!!

ค่าโดยสารที่แพงถือได้ว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชาชนไม่นิยมใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงนี้ แต่อีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาชนไม่เลือกใช้บริการก็คือ ความไม่สะดวกสบายในการในการสัญจร เนื่องจากสถานีบางซื่อไม่ได้เชื่อมต่อกับสถานีเตาปูน เป็นระยะทางกว่า 1 กิโลเมตร ผู้โดยสารจึงจำเป็นต้องใช้บริการขนส่งรูปแบบอื่นเพื่อไปยังสถานีเตาปูนให้วุ่นวายอีก ด้วยเหตุนี้จึงทำให้หลายคนตั้งข้อสังเกตกันว่า เพราะเหตุใดจึงไม่มีการเชื่อมต่อให้แล้วเสร็จก่อนถึงค่อยมีการเปิดให้ใช้บริการ

ปัญหา 1 สถานีที่หายไปนี้ เกิดจาก รฟม. ไม่สามารถเจรจาหาข้อตกลงร่วมกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ในการว่าจ้างให้บริหารการเดินรถและซ่อมบำรุงในรูปแบบ PPP-Gross Cost หรือจ้างบริหารเดินรถ จนกลายเป็นปัญหายืดเยื้อ เมื่อถึงวันเปิดให้บริการจริงแล้ว ปัญหานี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข จนทำให้มีประชาชนมาใช้บริการน้อยและไม่เป็นไปตามคาด



แต่ความหวังที่จะได้ใช้บริการได้อย่างเต็มรูปแบบขึ้นเริ่มมี เพราะขณะนี้งานโยธาในส่วนของรางวิ่งรถไฟฟ้า งานวางราง รางรถไฟและรางจ่ายไฟฟ้า ของทางสถานีเตาปูนก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงระบบควบคุมการเดินรถเท่านั้น ซึ่งงานส่วนที่เหลือจะอยู่ในผู้รับสัมปทานการเดินรถคือ BEM กำลังเร่งดำเนินการอยู่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2560

การแก้ปัญหาเบื้องต้นของการไม่เชื่อมต่อนี้ เบื้องต้นทาง รฟม.จึงใช้การร่วมมือกับ องค์การขนสงมวลชน(ขสมก.) ในการจัดรถเมล์ Shuttle Bus เป็นบริการเสริม ระหว่างสถานีเตาปูน-สถานีบางซื่อ มีจุดให้บริการรับส่งที่สถานีเตาปูน บริเวณทางออกที่ 1, 4 และสถานีบางซื่อ บริเวณทางออกที่ 2 เส้นทางเดินรถจากสถานีเตาปูน ไปสถานีบางซื่อ จัดเดินรถทางเดียว จะใช้เวลาประมาณ 7 นาที ส่วนขากลับจะต้องเดินรถอ้อมไปเข้าถนนเทอดดำริ ใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที



อีกทางคือการใช้รถไฟฟรี ที่ให้บริการระหว่างสถานีบางซ่อน-สถานีบางซื่อ-สถานีบางซ่อน โดยใช้ตู้โดยสารแบบปรับอากาศ จำนวน 3 ตู้ รองรับผู้โดยสาร จำนวน 100 คนต่อตู้ ในวันจันทร์-วันศุกร์ ช่วงเช้าเวลา 06.30-09.30 น. และช่วงเย็นเวลา 16.30-20.30 น. ความถี่ในการให้บริการ 15 นาทีต่อขบวน มีจุดให้บริการที่สถานีบางซ่อน บริเวณทางออกที่ 5 และสถานีบางซื่อ บริเวณทางออกที่ 2 โดยในช่วงเร่งด่วนจะปรับขบวนรถไฟให้ตัดกระแสการจราจรน้อยที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณดังกล่าว


ขอบคุณข้อมูล : เฟซบุ๊ก “ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์”
ขอบคุณภาพประกอบ : ภาพยนตร์ “รถไฟฟ้ามาหานะเธอ”




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น