ประธาน กรธ.ลงนามหนังสือมอบฉันทะพร้อมมอบให้ตัวแทนยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญถึงมือศาลรัฐธรรมนูญแล้ว หลังถูกตีกลับ 2 รอบ พร้อมเริ่มหารือกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เพื่อให้เป็นไปตามโรดแมป คาดศาลพิจารณาวินิจฉัย 7 กันยาฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญตีกลับเอกสารร่างรัฐธรรมนูญที่ปรับแก้ไขบทเฉพาะกาลแล้ว ด้วยเหตุผลไม่เป็นไปตามระเบียบการยื่นคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญ โดยในช่วงเช้าวันนี้ (1 ก.ย.) นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้ลงนามในหนังสือมอบฉันทะให้ ผบ.กลุ่มงานประธานรัฐสภา นำส่งร่างรัฐธรรมนูญต่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเป็นครั้งที่ 3 เรียบร้อยแล้ว
นายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ.กล่าวยืนยันว่า ปัญหาในเรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของการปรับแก้ไขแต่อย่างใด เป็นเรื่องของขั้นตอนทางธุรการ และเอกสารหลักฐานประกอบการยื่นตีความไม่ตรงกันเท่านั้น อย่างไรก็ตาม สำหรับกาประชุม กรธ.ในวันนี้จะได้มีการหารือเกี่ยวกับการเตรียมยกร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) จำนวน 10 ฉบับ โดยทาง กรธ.จะพยายามทำกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งก่อน จำนวน 4 ฉบับ เพื่อให้เป็นไปตามโรดแมปของ คสช.
ต่อมาเวลา 11.45 น.วันเดียวกัน หลังจากเกิดปัญหาเรื่องความสมบูรณ์ของเอกสาร จากการที่ กรธ.ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงให้กับศาลรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์กำหนดไว้ในข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาและทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 จนถูกศาลรัฐธรรมนูญตีกลับถึงสองครั้ง เนื่องจากครั้งแรก กรธ.ไม่ได้ลงลายมือชื่อในฐานะผู้ยื่นคำร้อง และไม่มีการทำใบมอบฉันทะให้กัแก่เจ้าหน้าที่รัฐสภาที่เดินทางไปยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แม้ว่าต่อมาจะมีการส่งเอกสารกลับไปใหม่โดยให้ กรธ.ลงลายมือชื่อแล้ว แต่กลับไม่มีใบมอบฉันทะให้เจ้าหน้าที่รัฐสภาทำหน้าที่แทน ทำให้ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญจนศาลรัฐธรรมนูญ ต้องพักการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเอาไว้ชั่วคราว และออกคำสั่งให้ กรธ.ส่งใบมอบฉันทะให้เจ้าหน้าที่รัฐสภามาดำเนินการแทนภายในวันที่ 5 ก. ย. ล่าสุด กรธ.ได้ส่งเจ้าหน้าที่รัฐสภานำใบมอบฉันทะไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้วเมื่อเวลา 11.45 น.ในวันนี้ (1 ก.ย.)
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อ กรธ.ได้ปฏิบัติถูกต้องตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญแล้ว คาดว่าศาลจะมีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าสอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติหรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 37/1 ในการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวันพุธที่ 7 ก.ย.นี้ โดยจะพิจารณาว่าจะเรื่องไว้ไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ หากรับจะต้องไต่สวนเพิ่มเติมหรือไม่ ขึ้นอยู่กับมติของตุลาการทั้ง 9 คน
ส่วนที่มีกระแสข่าวว่านายมีชัย ฤชุพันธุ์ ไม่พอใจที่ศาลรัฐธรรมนูญให้ กรธ.แก้เรื่องการยื่นคำร้องต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลนั้นแหล่งข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญชี้แจงว่า การปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญที่มีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 45 วรรค 2 บัญญัติให้การพิจารณาและการทำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 โดยในข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญข้อที่ 17 ได้กำหนดประเภทคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยไว้ 20 ข้อ การยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจัดอยู่ในข้อที่ 20 คือเป็นคดีที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยกรณีที่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
ดังนั้น การยื่นคำร้องจึงต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลในข้อ 18 ที่กำหนดการทำและยื่นหรือส่งคำร้องเอาไว้ใน (5) ว่าจะต้องลงลายมือชื่อผู้ร้อง แต่ในกรณีที่เป็นการทำหรือยื่นหรือส่งคำร้องแทนผู้อื่นต้องแนบใบมอบฉันทะให้ทำการดังกล่าวมาด้วยซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้น ยืนยันไม่ใช่ความขัดแย้งทางอำนาจระหว่างกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ต้องพิจารณา และทำคำวินิจฉัยภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เมื่อพบว่าการยื่นคำร้องไม่เป็นไปตามข้อกำหนดฯ ศาลหรือตุลาการประจำคดีมีอำนาจออกคำสั่งให้ปฏิบัติให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนด เมื่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญปฏิบัติถูกต้องครบถ้วนแล้วก็ไม่มีปัญหา ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะได้นำเรื่องดังกล่าวมาพิจารณาในวันพุธที่ 7 ก.ย.ต่อไป