xs
xsm
sm
md
lg

“อุเทน” ชม กรธ.ยึดหลัก ส.ว.ไร้สิทธิชงชื่อนายกฯ ค้านเพิ่ม สนช. ฉะอู้งานแบบนักการเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย (แฟ้มภาพ)
หัวหน้าพรรคคนไทย ชม “มีชัย” คณะ กรธ.ยึดหลักการ ส.ว.ไม่มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ ไม่คล้อยตาม สนช.-สปท.ที่ตีความคำถามพ่วงสับสน ไม่งั้นเกิดวิกฤตศรัทธา คสช.-นายกฯ ย้อนเพิ่ม สนช. สมาชิกปัจจุบันทำงานเต็มที่หรือยัง ปูดโดดประชุมไม่ต่างนักการเมือง แถมมีสายเชลียร์เอาใจ มีข้อครหาเอื้อ ขรก.เกษียณและแทนบางคนที่เตรียมไปนั่ง ส.ว. จี้ทำงานไม่ได้-รอลงการเมือง ควรพิจารณาตัวเองไขก๊อก

วันนี้ (26 ส.ค.) นายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มีมตินำคำถามพ่วงที่ผ่านการลงประชามติมาแก้ไขเพิ่มเติมในร่างรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้ แต่ไม่มีสิทธิที่จะเสนอชื่อว่า แม้ตนจะไม่เห็นด้วยต่อการที่ ส.ว.จากการแต่งตั้งจะมาร่วมลงมติเลือกนายกฯ แต่ก็ต้องขอชื่นชมในความกล้าหาญและความมั่นคงในหลักการของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. และกรรมการ กรธ.ที่ไม่คล้อยไปตามกระแสกดดันของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสมาชิกบางส่วนของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่พยายามสร้างความสับสน โดยการตีความอย่างกว้างว่าคำถามพ่วงที่ผ่านประชามติระบุให้ ส.ว.มีสิทธิเสนอชื่อผู้เหมาะสมเป็นนายกฯ ได้ในช่วง 5 ปีแรกหลังการเลือกตั้ง ทั้งที่คำว่าร่วมพิจารณาในคำถามพ่วงนั้น ควรครอบคลุมแค่การร่วมลงมติเท่านั้น หากสภาผู้แทนราษฏรไม่สามารถเลือกนายกฯ ได้ เชื่อว่าถ้า กรธ.ไหวหวั่นไปตามแรงกดดันจะส่งผลเสียจนเกิดวิกฤตศรัทธาที่มีต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยเฉพาะนายกฯ เนื่องจากจะถูกมองว่ามีการตีความเข้าข้าง และเพื่อผลประโยชน์ของ คสช. ทั้งนี้ หากผู้มีอำนาจหรือคนใน คสช.ต้องการร่วมกระบวนการเสนอตัวเป็นนายกฯ หลังเลือกตั้งก็สามารถให้พรรคการเมืองนำชื่อไปใส่ได้ตามกติกาที่ร่างฯ มา

“การที่มีการตีความตามลายลักษณ์อักษรตามเจตนารมณ์ที่กำหนดในคำถามพ่วงอย่างตรงไปตรงมาจะเป็นตัวอย่างที่ดีในการเสนอหรือบังคับใช้กฎหมายอย่างถูกต้องของ กรธ. และจะเป็นบรรทัดฐานในการบังคับใช้กฎหมายปกครองบ้านเมืองในอนาคต ที่ต้องมีความศักดิ์สิทธิ์และเป็นไปตามครรลอง อย่าให้มีการตีความจนทำให้ดูเหมือนมีการเข้าข้าง หรือสองมาตรฐานอีก” นายอุเทนกล่าว

นายอุเทนยังได้กล่าวถึงกรณีที่ คสช.กำลังจะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อเพิ่มจำนวนสมาชิก สนช.จาก 220 คน เป็น 250 คนโดยให้เหตุผลว่าต้องการเพิ่มบุคลากรเพื่อมาช่วยเร่งพิจารณาร่างกฎหมายที่ค้างอยู่เป็นจำนวนมากว่า ต้องถามว่า สนช.ที่มีอยู่ได้ทำหน้าที่อย่างดีและเต็มที่แล้วหรือไม่ หลายคนที่เป็นข้าราชการประจำก็ไม่สามารถทำงานในฐานะ สนช.ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย อีกทั้งยังได้รับข้อมูลมาว่ามี สนช.จำนวนมากไม่ได้เข้าร่วมประชุมทั้งในส่วนของที่ประชุมใหญ่ และโดยเฉพาะการประชุมในกรรมาธิการชุดต่างๆ ซึ่งหลายคนมาลงชื่อแต่ก็ไม่เข้าประชุม พฤติกรรมนี้ก็ไม่ได้แตกต่างจากนักการเมืองที่มีมาในอดีต อีกทั้งยังมี สนช.บางส่วนที่จ้องแต่จะเอาอกเอาใจผู้มีอำนาจ ด้วยการตีความคำถามพ่วงจนเกิดความสับสน โดยพยายามอุปโลกน์อ้างเสียงประชามติของประชาชนโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง เพียงเพื่อต้องการเอาใจผู้มีอำนาจนั่นเอง ดังนั้น การเพิ่มจำนวน สนช.จึงไม่ได้ตอบโจทย์ที่ คสช.ต้องการ แต่ควรที่จะกวดขันการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ใครไม่พร้อมก็ควรลาออกไปเพื่อให้ คสช.พิจารณาคนใหม่มาทำหน้าที่แทน เพราะการเพิ่มจำนวนสมาชิกของ สนช.ก็หมายถึงการที่ประเทศจะต้องสูญเสียงบประมาณในส่วนของค่าตอบแทนต่างๆ เพิ่มขึ้นด้วย อีกทั้งยังจะถูกมองว่าเพิ่มจำนวน สนช.เพื่อรองรับข้าราชการที่กำลังจะเกษียณ รวมทั้ง สนช.บางคนที่เตรียมลาออกไปเป็น ส.ว.แต่งตั้งในอนาคตด้วย

“ดังนั้น สนช. หรือ สปท.คนใดที่คิดว่าทำงานไม่ได้ ควรพิจารณาตัวเอง รวมทั้งพวกที่หวังจะเล่นการเมือง จะลงเลือกตั้ง หรืออยากเป็น ส.ว.แต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่ ก็ควรลาออกก่อนที่รัฐธรรมนูญจะประกาศใช้ เพื่อความสง่างาม และจะเป็นแบบอย่างที่ดีต่อไปในทางการเมือง” นายอุเทนระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น