xs
xsm
sm
md
lg

ตายน้ำตื้น! กรธ.ลืมลงรายชื่อในคำร้อง เป็นเหตุถูกศาล รธน.ตีกลับ ยันไม่แก้เนื้อหา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
โฆษก กรธ.แจงขอดึงร่างรัฐธรรมนูญกลับมาพิจารณาจากศาลรัฐธรรมนูญแค่เรื่องธุรการ เหตุไม่ลงรายชื่อในคำร้อง จึงนำมาเซ็นรับรองให้ถูกต้อง ไม่ได้แก้เนื้อหา เป็นปัญหาทางเทคนิค

วันนี้ (30 ส.ค.) เวลา 15.15 น. นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีที่ กรธ.ทำหนังสือด่วนถึงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอร่างรัฐธรรมนูญกลับมาพิจารณาอีกครั้งว่า กรธ.ขอร่างรัฐธรรมนูญกลับมาพิจารณาในเรื่องธุรการเพียงเท่านั้น เนื่องจากเมื่อวันที่ 29 ส.ค. กรธ.ได้ส่งร่างรัฐธรรมนูญไป แต่เป็นช่วงเวลาเย็นมากแล้วจึงทำให้การเซ็นรับรองเอกสารบางฉบับยังไม่ถูกต้อง ดังนั้น กรธ.จึงต้องขอร่างรัฐธรรมนูญกลับเพื่อเซ็นรับรอง และจะดำเนินการในขั้นตอนให้ถูกต้องตามระบบราชการ ยืนยันว่า กรธ.ไม่ได้ขอร่างกลับมาเพื่อแก้ไขเนื้อหาใดๆ โดยในวันที่ 31 ส.ค.นี้ กรธ.จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาความถูกต้องของร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้งก่อนจะส่งกลับไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาต่อไป

ขณะที่มีรายงานข่าวแจ้งว่า สาเหตุที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ส่งเจ้าหน้าที่ไปรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงคืนจากศาลรัฐธรรมนูญเป็นเพราะเอกสารที่ยื่นไปก่อนหน้านี้ไม่ได้ดำเนินการในรูปแบบของคำร้อง ซึ่งไม่เป็นไปตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 ที่ระบุเกี่ยวกับวิธีพิจารณาคดีทางเจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญจึงประสานเป็นการภายในไปยังผู้ที่รับผิดชอบให้ไปปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ศาลกำหนด ถือว่าเป็นปัญหาทางเทคนิคที่ต้องส่งคำร้องในรูปแบบที่ถูกต้องศาลรัฐธรรมนูญจึงจะรับไว้พิจารณาได้

สำหรับข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 หมวด 3 เรื่องการยื่น การถอน และการจำหน่ายคำร้องกำหนดไว้ว่า คดีที่จะขอให้พิจารณาวินิจฉัยกรณีที่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้ยื่นคำร้องโดยทำเป็นหนังสือ ใช้ถ้อยคำสุภาพ และอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้ คือ 1. ชื่อและที่อยู่ของผู้ถูกร้อง 2. ระบุมาตราของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเหตุในคำร้อง 3. ระบุเรื่องอันเป็นเหตุให้ต้องใช้สิทธิ พร้อมทั้งข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้อง 4. คำขอที่ระบุความประสงค์จะให้ศาลดำเนินการอย่างใด พร้อมทั้งเหตุผลสนับสนุนโดยชัดแจ้ง และ 5. ลงลายมือชื่อผู้ร้อง แต่กรณีที่เป็นการทำและยื่นหรือส่งคำร้องแทนผู้อื่นต้องแนบใบมอบฉันทะให้ทำการดังกล่าวมาด้วย แต่ในเอกสารที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้นมิได้มีการลงลายมือชื่อผู้ร้องซึ่งหมายถึงคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมดไว้ อีกทั้งไม่ได้มีการแนบใบมอบฉันทกรณีให้ผู้อื่นกระทำการแทน จึงถือเป็นคำร้องที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ศาลกำหนด ทำให้มีการประสานเป็นการภายในให้ทางคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญนำกลับไปดำเนินการให้ถูกต้อง


กำลังโหลดความคิดเห็น