xs
xsm
sm
md
lg

กรธ.เผยศาล รธน.รับร่างฯ แก้ไขแล้ว ยก ม.37/1 สวน ยันไม่ต้องมีใบมอบฉันทะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เผยศาลรัฐธรรมนูญรับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขแล้ว ก่อนแจกเอกสารสื่อ แจงเจ้าหน้าที่ปฏิเสธหนังสือหนแรกเหตุส่งเลยเวลาราชการไป 15 นาที ส่วนรอบ 2 ไม่ได้เซ็นเอกสารกำกับทุกหน้า ยัน กรธ.ยึดหลักตามรัฐธรรมนูญ ม.37/1 ติดต่อราชการด้วยกันไม่ต้องมีใบมอบฉันทะ แถมสมัยก่อนเคยทำได้ ซัดตีความ ม.45 ไม่ครบถ้วน



วันนี้ (1 ก.ย.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 16.00 น. นายนรชิต สิงหเสนี และนายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงถึงคำชี้แจงของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กรณีการส่งร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขตามผลการออกเสียงประชามติให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา โดยนายนรชิตกล่าวว่า หลังจากที่ กรธ.ได้ทำตามขั้นตอนตามที่ศาลรัฐธรรมนูญร้องขอมาก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร ล่าสุดได้รับทราบมาว่าทางเจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ลงทะเบียนรับหนังสือเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ กรธ.ได้แจกเอกสารซึ่งเป็นคำชี้แจงของ กรธ.ในกรณีที่สื่อมวลชนระบุว่า กรธ.บกพร่องในเรื่องการลายมือชื่อ ตามข้อบังคับของศาลรัฐธรรมนูญ อันอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่การทำงานของ กรธ.ได้ โดย กรธ.ได้ชี้แจงและขอทำความเข้าใจต่อสาธารณชนจำนวน 6 ข้อ มีรายละเอียดที่สำคัญ เช่น ประเด็นชี้แจงเรื่องการส่งเอกสารล่าช้าในวันที่ 29 ส.ค.ซึ่งเลยเวลาราชการไป 15 นาที ทำให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญปฏิเสธที่จะรับหนังสือโดยให้เหตุผลว่าเลยเวลาราชการไปแล้ว เนื่องจาก กรธ.ได้ส่งร่างรัฐธรรมนูญและคำชี้แจงไปด้วย แต่เห็นว่าเพื่อเป็นประโยชน์ต่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้ไม่ต้องไปจัดทำสำเนาใหม่ กรธ.จึงได้จัดทำเอกสารไปให้รวม 20 ชุด ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร การจราจรติดขัด ประกอบกับมารับทราบภายหลังว่าไม่ได้มีการลงนามกำกับในเอกสารทุกหน้า จึงให้ทาง กรธ.มารับเอกสารทั้งหมดในวันที่ 30 ส.ค. 59

จากนั้นในวันที่ 31 ส.ค. 59 ทาง กรธ.ก็ส่งเอกสารกลับไปใหม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ช่วงเย็นวันเดียวกันศาลรัฐธรรมนูญได้มี “หนังสือแจ้งคู่กรณี” ว่าจะต้องมีใบมอบฉันทะไปให้ โดยในวันที่ 1 ก.ย. 59 นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ได้มอบใบฉันทะพร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนที่มีลายชื่อกำกับไว้ให้กับนายนาถะ ดวงวิชัย ผู้ช่วยเลขานุการ กรธ.เป็นผู้มีอำนาจยื่นแทน ทั้งนี้ กรธ.ได้ดำเนินการถูกต้องตามแนวทางปฎิบัติทุกประการ และเพื่อเป็นการรักษาความศักดิ์สิทธิ์แห่งองค์กรศาลรัฐธรรมนูญ กรธ.ก็ได้ดำเนินการไปตามวัตถุประสงค์ของศาลรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ กรธ.ยังชี้แจงว่า แนวทางที่ กรธ.ดำเนินการไปใน 2 ครั้งแรก ยึดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2558 ในมาตรา 37/1 ซึ่งไม่ต้องทำเป็นคำร้องเพราะไม่ใช่การใช้อำนาจตามตุลาการปกติ เพราะเป็นเรื่องระหว่างการติดต่อหน่วยราชการด้วยกันเท่านั้นและเรื่องในทำนองเดียวกันนี้ก็เคยเกิดขึ้น ในวันที่ 24 ม.ค. 2551 จากกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เคยส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตามมาตรา 141 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่ใช้บังคับในขณะนั้น และอีกกรณีในวันที่ 16 ต.ค. 2552 ประธานรัฐสภา ก็เคยส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. ... ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ซึ่งทั้ง 2 กรณีก็เป็นขั้นตอนเดียวกันกับที่ กรธ.ได้ทำอยู่ และไม่เคยต้องมอบฉันทะให้บุคคลใดนำเอกสารไปส่ง ซึ่งแนวทางนี้ถือเป็นแนวทางที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ปฎิบัติมาเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ กรธ.ยังมองว่าศาลรัฐธรรมนูญตีความ มาตรา 45 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ไม่ครบถ้วนและไปหยิบใช้ข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 ข้อ 17 ซึ่งเป็นการอ้างถึงมาตรา 45 ที่ไม่จบ เพราะตอนท้ายของ มาตรา 45 สามารถกระทำได้ เพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้ง ต่อวรรคหนึ่งหรือรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ทั้งฉบับ ดังนั้น การที่ กรธ.ตีความการยื่นเอกสารให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 37/1 ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่สามารถนำเอาข้อกำหนดดังกล่าวมาบังคับใช้ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น