เมืองไทย 360 องศา
จะเรียกว่า มีการโยนหินถามทางหยั่งท่าทีนำหน้าไปก่อนก็ได้ หรือจะเรียกเสนอแบบ “บอกผ่าน” ให้ “ต่อราคา” กันก็ได้ สำหรับความต้องการให้ ส.ว. แต่งตั้ง 250 คน ตามบทเฉพาะกาล 5 ปีแรกร่วมเสนอชื่อนายกฯคนนอก (นอกบัญชีพรรคการเมือง) โดยมีการเปิดเกมผ่านทางสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สายคนกันเองบางคน เช่น พล.อ.นพดล อินทปัญญา ที่ตีความคำถามพ่วงล้ำหน้าให้ ส.ว. แต่งตั้งมีสิทธิ์เสนอชื่อและร่วมโหวตนายกฯคนนอกตั้งแต่ยกแรก
อย่างไรก็ดี กลายเป็นว่า มีแนวโน้มถูกรุมด่ามากขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจเสียการใหญ่ในภายภาคหน้า ทำให้ต้องลดท่าทีลงมาจนเหลือเป็นว่า หาก ส.ส. เลือกนายกรัฐมนตรีจากบัญชีของพรรคการเมืองไม่สำเร็จ ถึงจะมาที่ “ก๊อกสอง” นั่นคือ ให้ ส.ว. แต่งตั้งร่วมเสนอชื่อ และร่วมโหวตจากนายกฯคนนอกได้ อ้างว่าเป็นการ “ผ่าทางตัน” ในอนาคต
ความหมายแบบบ้าน ๆ เข้าใจง่าย ก็คือ ยกแรกเป็นไปตามกรอบให้เป็นหน้าที่ของ ส.ส. ในการเสนอชื่อแล้วให้ ส.ว. ไปร่วมโหวต แต่หากตกลงกันไม่ได้ค่อยมาถึง “ก๊อกสอง” นั่นคือ ให้ ส.ว. ร่วมเสนอชื่อนายกฯ และร่วมโหวตช่วยคลี่คลายหาทางออก และหากพิจารณาตามรูปการณ์แล้ว มีแนวโน้มสูงที่จะมีข้อสรุปออกมาแบบนี้
นั่นคือ ส.ว. แต่งตั้งจะได้ “เสนอชื่อ” ด้วย ไม่ใช่แค่ร่วมโหวตกับ ส.ส. อย่างเดียว โดยมีการอ้างเหตุผลจากข้อความในคำถามพ่วงโดย พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อ้างว่า คำว่า “พิจารณาให้ความเห็นชอบ” ในคำถามพ่วง หมายถึงกระบวนการทั้งหมด ไม่ใช่โหวตลงมติอย่างเดียว โดยอ้างกระบวนการของศาลในการทำหน้าที่พิจารณาคดีไม่ใช่พิพากษาอย่างเดียวต้องมีกระบวนการไต่สวน สืบพยานทั้งหมดก่อนจนเสร็จสิ้น
ซึ่งก็มาบรรจบกับคำพูดของ “พี่ใหญ่” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่กล่าวว่า
“ผลประชามติว่าอย่างไรก็ต้องว่าไปตามนั้น และคิดว่า ส.ว. คงไม่ไปเสนอชื่อนายกฯ ได้ เพราะต้องดำเนินการตามขั้นตอน นอกเสียจากกรณีที่ ส.ส. ไม่สามารถเสนอชื่อนายกฯ ได้ จึงต้องให้ ส.ว. เป็นคนเสนอเพื่อหานายกฯ คนนอก ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นแบบนั้น แต่ตามหลักการโดยทั่วไปต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ ส.ส. และมี ส.ว. เข้าไปร่วมโหวตด้วยเท่านั้นเอง และขอย้ำว่า รายชื่อนายกฯ ก็ต้องเป็นชื่อที่ ส.ส. เสนอมา
“ถามว่า สนช. บางคนอยากให้ ส.ว. สามารถเสนอชื่อนายกฯ ได้เลย พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่ใช่ และเป็นไปไม่ได้ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย เมื่อเสนอมาทุกคนต้องยอมรับ ซึ่งก็ไม่มีการเคลื่อนไหวของ สนช. ที่จะปูทางให้ คสช. เป็นเรื่องเข้าใจผิดมากกว่า รวมทั้งไม่จำเป็นต้องไปสั่งเบรก ไม่มีอะไร ต่างคนต่างมีความคิดเห็น เมื่อสรุปมาก็ต้องว่ากันตามนั้น อย่าเพิ่งไปโวยวาย”
“ส่วนที่ พล.อ.นพดล อินทปัญญา สนช. ออกมาระบุว่า ส.ว. ก็สามารถเสนอชื่อได้นั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า พล.อ.นพดล น่าจะหมายถึงขั้นตอนที่เดินต่อไปไม่ได้แล้ว ถ้าไปไม่ได้แล้วคงต้องเป็นไปแบบนั้น ไม่ใช่อยู่ดี ๆ แล้ว ส.ว. จะไปเสนอชื่อได้ แม้ว่า พล.อ.นพดล จะเป็นเพื่อนกับผมก็ตาม แต่ใช่ว่าจะคิดเหมือนกัน เพราะมีกันคนละหัว ไม่ไปยุ่งกับ พล.อ.นพดล และเรื่องนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน”
ดังนั้น หากพิจารณาจากคำพูดของทั้งสองคน คือ ทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่เชื่อว่าจะมีส่วนสำคัญในการคัดเลือกและแต่งตั้ง ส.ว. จำนวน 250 คน ในอนาคตกับ วิชิต วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่เป็นประธานสภาผู้กำหนดคำถามพ่วงให้ลงมติมันก็ชัดแจ้งแล้วว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในบทเฉพาะกาลของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญน่าจะแบบนี้ โดยสามารถฟันธงไว้ล่วงหน้าได้เลยว่าคำแถลงของคณะกรรมการร่างฯในวันที่ 24 สิงหาคม ไม่น่าจะผิดไปจากคำพูดดังกล่าว
อย่างไรก็ดี เพื่อทบทวนความจำลองมาพิจารณาคำถามพ่วงกันอีกครั้ง
“ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”
อ่านกี่รอบก็มีแต่คำว่า"ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาเห็นชอบ ซึ่งย่อมมีความหมายต่างกับ “ร่วมเสนอชื่อ” แน่นอน
และที่สงสัยก็คือ ทำไมไม่ถามให้ชัดเจนตั้งแต่แรกว่าให้ ส.ว. ร่วมเสนอชื่อนายกฯตั้งแต่แรก ทำไมต้องมาพูดทีหลัง แบบนี้มันเหมือนกับการ “ถูกต้ม” อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาตามความเป็นจริงแล้ว มันก็จะออกมาเป็น “ก๊อกสอง” เหมือนกับตอนแรก “บอกผ่าน” ไปก่อน เมื่อมีเสียงค้านโวยวายก็ “ลดราคา” ลงมา เพราะถึงอย่างไรมันก็ “ได้กำไร” อยู่แลัว อย่างมากก็แค่ขาดทุนกำไรนิดหน่อย เพราะต้องไม่ลืมว่า โอกาสที่ ส.ส. จะเสนอชื่อนายกฯจากบัญชีพรรคการเมือง เพื่อให้ได้เสียงในสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 159 คือ ต้องได้เสียงโหวตมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ซึ่งนี่คือเนื้อหาในรัฐธรรมนูญหลัก ซึ่งก็ต้องเชื่อมโยงกับบทเฉพาะกาลใน 5 ปีแรก
ในความเป็นจริงมันก็แทบเป็นไปไม่ได้เลยว่า จะได้ นายกฯจากบัญชีพรรคการเมือง ทั้งจากเรื่องระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ ที่คาดว่า จะไม่มีพรรคใดได้เสียงชนะเด็ดขาด คงได้ ส.ส. มาแบบเกลี่ยกันไป อีกทั้งยังมี ส.ว. อีก 250 คน ค้ำคออยู่ ดังนั้น หวยมันก็ต้องมาถึง “ดาบสอง” ตามที่มีการกรุยทางกันแล้วว่าให้ ส.ว. ร่วมเสนอชื่อ และร่วมโหวตนายกฯคนนอกจนได้ แล้วอย่างนี้จะไม่ “แฮปปี้” ได้อย่างไร เพราะที่ผ่านมา เป็นการบอกผ่านให้ “ต่อราคา” อย่างมากก็แค่ขาดทุนกำไรเท่านั้น !!