ที่ประชุม ครม.สรุปผลเยียวยาเหยื่อระเบิด 7 จังหวัดภาคใต้ ระบุนายกฯ ต้องการจ่ายเงินครบในครั้งเดียว พร้อมเห็นชอบการกำหนดมาตรฐานวินัยข้าราชการกับผู้ที่พ้นข้าราชการ เอาผิดย้อนหลังแม้เกษียณแล้ว ลั่นตามล้างเช็ดไม่ว่าจะอยู่หรือไป ให้ประชาชนมั่นใจ อีกด้านปรับปรุงหลักเกณฑ์จ่ายค่าตอบแทนสาธารณสุข ให้สาขาอื่นได้รับค่าตอบแทน 6 ระดับพื้นที่ด้วย
วันนี้ (23 ส.ค.) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้สรุปถึงการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบอุบัติเหตุจากเหตุการณ์ระเบิดและเหตุลอบวางเพลิงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 7 จังหวัดที่ผ่านมา โดยได้ข้อสรุปว่า มีชาวต่างชาติบาดเจ็บ 11 คน เป็นชาวเยอรมัน ฮอลแลนด์ ออสเตรีย และอิตาลี ซึ่งกลับภูมิลำเนาไปแล้ว 10 คน เหลืออีก 1 คนยังรักษาตัวอยู่ โดยทุกคนได้รับค่ารักษาจากรัฐบาลทุกบาท ในส่วนคนไทยมีผู้เสียชีวิต 4 คน โดยเบื้องต้นได้รับเงินช่วยเหลือรายละ 1,185,000 บาท เป็นเงินจากหน่วยงานต่างๆ ที่มีมาตรการช่วยเหลือเรื่องนี้ อีกทั้งยังมีผู้บาดเจ็บจำนวน 26 คน ซึ่งรัฐบาลได้ดูแลตามหลักเกณฑ์ โดยเป็นเกณฑ์เดียวกับการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุจากเหตุการณ์ระเบิดที่ราชประสงค์เมื่อปี 2558
พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีนโยบายที่จะให้จ่ายเงินช่วยเหลือครบในครั้งเดียว จะไม่แยกจ่ายเหมือนที่ผ่านมา โดยจะมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้มอบเงินให้ โดยจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นเดือน ส.ค. โดยงบประมาณที่ใช้ดำเนินการนี้ไม่ได้เป็นการของบใหม่ หากแต่ใช้งบที่เหลือจากเงินที่ช่วยเหลือประชาชนจากเหตุระเบิดราชประสงค์ โดยครั้งนั้นเราของบกลางไว้ 50 ล้านบาทที่ยังเหลืองบอยู่ ซึ่งการนำเข้าที่ประชุม ครม.ครั้งนี้เป็นการขออนุญาตใช้งบดังกล่าว
พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบการกำหนดมาตรฐานวินัยข้าราชการกับผู้ที่พ้นข้าราชการ ซึ่งหมายถึงการเอาผิดในสมัยที่ยังรับราชการอยู่ แต่พ้นราชการ ลาออก หรือเกษียณอายุราชการ แล้วไม่สามารถเอาผิดได้ โดยกฎหมายที่เกี่ยวข้องในประเด็นนี้ คือ พ.ร.บ.การป้องกันปราบปรามการทุจริต พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และกฎหมายตามที่ข้าราชการสังกัดอยู่ แต่ว่ากฎหมายเหล่านี้มีความลักลั่นกันเอง
ดังนั้น จึงกำหนดให้ใช้มาตรฐานเดียวกัน 2 หลักเกณฑ์ คือ 1. ถ้ามีการดำเนินการกระทำผิดสมัยรับราชการ แล้วคณะกรรมการป้องกันปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ชี้มูลความผิดทางวินัย และลงโทษตามที่ชี้มูล โดยจะไม่นำกฎหมายที่ข้าราชการผู้นั้นสังกัดอยู่มาบังคับใช้
2. เป็นเรื่องที่หน่วยงานต้นสังกัดตรวจพบว่า ข้าราชการในสังกัดทำความผิดในสมัยที่ยังรับราชการ จึงได้กำหนดวิธีการปฏิบัติ ดังนี้ ประการแรกให้ สอบสวนภายใน 1 ปีนับตั้งแต่พ้นราชการ นอกจากนี้ การสั่งลงโทษต้องสั่งลงโทษภายใน 3 ปีนับตั้งแต่พ้นราชการ โดยมีข้อยกเว้นว่าหากมีการไปร้องศาลปกครองแล้วพบว่ามีความผิดกรณีอื่นๆ เกิดขึ้น แม้ว่าจะถูกลงโทษครบ 3 ปีก็สามารถลงโทษได้อีกภายใน 3 ปีนับตั้งแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด
“ถือเป็นนโยบายที่รัฐบาลชุดนี้ตั้งใจที่จะให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ว่าจะอยู่ หรือพ้นจากราชการไปแล้วก็ตาม คุณต้องเป็นข้าราชการที่ดี ทำเพื่อชาติ และประชาชน ถ้าประพฤติมิชอบ เราจะตามล้างตามเช็ดท่านไม่ว่าจะอยู่หรือพ้นราชการไปแล้ว” พล.ต.สรรเสริญกล่าว
พล.ต.สรรเสริญยังกล่าวว่า ครม.มีมติปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ใช้ตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งเดิมจะมีเฉพาะแพทย์และทันตแพทย์เท่านั้นที่ได้ค่าตอบแทนตามพื้นที่ความทุรกันดาร 6 ระดับพื้นที่ แต่สาขาอื่นแบ่งพื้นที่เพียง 2 หรือ 4 ระดับ ดังนั้นจึงปรับให้สาขาอื่นๆ ทั้งเภสัช เทคนิคการแพทย์ ได้รับค่าตอบแทน 6 ระดับพื้นที่ด้วย นอกจากนี้ยังปรับค่าตอบแทนช่วงทำงานทุกสาขาในกลุ่มงานด้านสาธารณสุขได้รับ 3 ช่วงอายุเหมือนกันหมด ซึ่งแต่เดิมจะมีเฉพาะแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลวิชาชีพที่ได้รับเงินค่าตอบแทน 3 ช่วงอายุ ยิ่งอยู่นานยิ่งได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น
พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า ส่วนกลุ่มที่ใกล้เคียง เช่น กลุ่มส่งเสริมสุขภาพ กลุ่มควบคุมป้องกันโรค กลุ่มฟื้นฟูสมรรถภาพ กลุ่มคุ้มครองผู้บริโภคจะได้รับด้วยเช่นกัน อีกทั้งยังได้ปรับปรุงอัตราเบี้ยเลี้ยงขึ้น เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ผู้ปฏิบัติการด้านสาธารณสุขของกระทรวง สธ.มีกำลังใจทำงานต่อ โดย ครม.ได้มีหลักเกณฑ์ให้ไปปรับปรุงเพิ่มเติมให้ครอบคลุมเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขของกระทรวงอื่นๆ ด้วยเพื่อจะได้ไม่เกิดความเหลื่อมล้ำ